ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Defence Ministers' Meeting Retreat: ADMM Retreat) (การประชุม ADMM Retreat) ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุม ADMM Retreat ซึ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว เมื่อวันที่ 4-6 มีนาคม 2567 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “ทิศทางของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Ministers' Meeting: ADMM) ภายหลัง ค.ศ. 2025 เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงทั้งในปัจจุบันและอนาคต” โดยเฉพาะบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน การแข่งขันของมหาอำนาจและภัยคุกคามด้านความมั่นคงส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของภูมิภาคโดยตรง จึงจำเป็นต้องกำหนดทิศทาง ADMM ในอนาคตให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นในภูมิภาค รวมทั้งได้หารือประเด็นการขยายจำนวนสมาชิกของ ADMM-Plus ในการส่งเสริมขีดความสามารถของอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของร่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเน้นย้ำการคำนึงถึงประโยชน์ของอาเซียนที่จะได้รับจากการขยายสมาชิก การส่งเสริมบทบาทของ ADMM การกำหนดกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ตลอดจนผลกระทบและผลผูกพันระยะยาวในการธำรงไว้ซึ่งความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) และความเป็นเอกภาพของอาเซียน (ASEAN Unity) ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นพ้องว่าประเด็นดังกล่าวจำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแบบองค์รวมในทุกมิติ จึงเห็นชอบให้คณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียนศึกษาและหารือในรายละเอียด ก่อนนำเสนอตามกระบวนการของ ADMM ต่อไป
1.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียนให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนว่าด้วยผลสำเร็จของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ภายใต้การดำเนินงานตามแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคง ค.ศ. 2025 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 โดยเอกสารมีสาระสำคัญไม่แตกต่างจากฉบับที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ADMM Retreat ที่สะท้อนผลความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของ ADMM ในฐานะองค์กรเฉพาะสาขาด้านการป้องกันประเทศในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งภาคีนอกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
2. การหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซีย โดยเห็นพ้องให้ดำรงความร่วมมือทางการทหาร เช่น การแลกเปลี่ยนการเยือน การฝึกร่วม และการแลกเปลี่ยนที่นั่งศึกษา ให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นตลอดจนการใช้กลไกการหารือทวิภาคีในการแก้ไขปัญหาชายแดนร่วมกัน สำหรับประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) ไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 56 ใน พ.ศ. 2567 (กห. คาดว่าจะจัดการประชุมเดือนกรกฎาคม 2567) นอกจากนี้ ประเทศมาเลเซียขอบคุณที่ได้เข้าร่วมการฝึกร่วม/ผสมคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold) และขอเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมงานแสดงนิทรรศการการป้องกันประเทศ ระหว่างวันที่ 6 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ณ ประเทศมาเลเซีย รวมทั้งเสนอให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างกัน เพื่อยกระดับความร่วมมือให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
3. การหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ สปป.ลาว โดยทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงของภูมิภาคที่ส่งผลกระทบและจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น ปัญหาหมอกควัน ยาเสพติด และอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งเน้นย้ำความสำคัญของกลไกการหารือในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุม GBC ไทย – ลาว ซึ่งครอบคลุมการแก้ไขปัญหาชายแดนในทุกมิติ นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้แสดงความยินดีและพร้อมให้การสนับสนุน สปป.ลาว และสหพันธรัฐรัสเซีย ในฐานะประธานร่วมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในกรอบ ADMM-Plus วงรอบ พ.ศ. 2567-2570 ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567
7286