การเข้าประชุม Sustainable Finance for Tiger Landscapes Conference ณ ประเทศภูฏาน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอดังนี้
1.เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม Paro Pledge for Tigers: A Billion-dollar Commitment to Biodiversity Conservation (ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ) ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับไปเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทย [ที่ปรึกษากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์)] หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ให้การรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ
(จะมีการจะรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ระหว่างการประชุม Sustainable Finance for Tiger Landscapes Conference ในวันที่ 23 เมษายน 2567)
สาระสำคัญ
1. ประเทศภูฏานได้เชิญประเทศไทยเข้าร่วมประชุม Sustainable Finance for Tiger Landscapes Conference ระหว่างวันที่ 22 - 23 เมษายน 2567 ณ ประเทศภูฏาน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินและการระดมทุนสำหรับการอนุรักษ์เสือโคร่งและถิ่นที่อยู่อาศัย โดยจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 13 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง เช่น ประเทศอินเดีย เนปาล อินโดนีเซีย จีน และไทย รวมถึงหุ้นส่วนทวิภาคีและพหุภาคี และนักลงทุนรายใหญ่
2. ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าว มีจำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ Paro Pledge for Tigers: A Billion-Dollar Commitment to Biodiversity Convention (คำปฏิญาณ PARO สำหรับเสือโคร่ง: ความมุ่งมั่นในการใช้เงิน 1 พันล้านดอลลาร์ ในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการตระหนักถึงจำนวนประชากรของเสือโคร่งในหลายพื้นที่ที่มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากภัยคุกคามจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย การล่าและการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ที่ประชุมจึงร่วมกันสนับสนุนการกระตุ้นการระดมทุนเพิ่มเติมจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง ภายในปี ค.ศ. 2034 (พ.ศ. 2577) โดยจะส่งเสริมให้มีการดำเนินการ ดังนี้
2.1 การระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติม ตลอดจนวิทยาการที่เป็นปัจจุบัน และความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค
2.2 การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกลไกทางการเงินใหม่ ๆ ในการสนับสนุนการดำเนินงานตาม Global Tiger Recovery Program 2.0 [แผนฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของโลก ปี ค.ศ. 2023 - 2034 (พ.ศ. 2566 - 2577)] และแผนอื่น ๆ
2.3 การเชิญชวนให้ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เสือโคร่ง
2.4 การเชื่อมโยงการอนุรักษ์เสือโคร่งกับเป้าหมายระดับโลก (เช่น กรอบงานคุนหมิง- มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก) ในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2.5 การติดตามการดำเนินโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ในการอนุรักษ์เสือโคร่ง และการประเมินผลกระทบที่ได้รับ
ทั้งนี้ การร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าวไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จึงไม่มีผลกระทบหรือมาตรการลงโทษใด ๆ หากประเทศไทยไม่ดำเนินการตาม
3. ที่ผ่านมา ทส. ได้มีการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ได้แก่ (1) การสร้างระบบติดตามประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่อาศัยของเสือโคร่ง (2) การเสริมสร้างศักยภาพและมาตรฐานการลาดตระเวนให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยสำคัญของเสือโคร่ง และ (3) การจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (ปี 2566 - 2577) (ทส. แจ้งว่า มีความสอดคล้องกับ Global Tiger Recovery Program 2.0 ตามข้อ 2.2)
4. ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ เช่น (1) มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาวิจัยและการอนุรักษ์เสือโคร่งร่วมกับนักอนุรักษ์ระดับโลก (2) ได้รับการยอมรับในการเป็นผู้นำกลุ่มประเทศเอเชียที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่นที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (3) เป็นการเปิดโอกาสในการหาการสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในระดับนานาชาติเพื่อสนับสนุนงบประมาณและการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร และ (4) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์เสือโคร่ง เหยื่อและการป้องกันพื้นที่ จากการหาโอกาสด้านการเงินและแหล่งเงินทุนจากองค์กรภาคี ตลอดจนมีการร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนทางการเงินในอนาคตของประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 เมษายน 2567
4694