หมวดหมู่: ไอที-เทคโนฯ

51015 RITA


ศุภชัย เจียรวนนท์ และ พงศธร ทวีสิน คว้า ‘รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ’ ประจำปี 2565 รางวัลเกียรติคุณสูงสุดสำหรับบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษามูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ พระราชทาน “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ครั้งที่ 3 (ประจำปี 2565) ให้แก่ 2 ผู้บริหารจากภาคเอกชน ได้แก่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายพงศธร ทวีสิน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. บุคคลผู้สร้างคุณูปการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการธุรกิจ ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมและประเทศชาติ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรม สมควรได้รับการยกย่อง เชิดชูเกียรติ ให้เป็นแบบอย่างของการมุ่งมั่นสร้างและวางรากฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย รวมถึงนำไปประยุกต์ใช้และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง รางวัลพระราชทาน ประกอบด้วย เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ โล่พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล 2,000,000 บาท โดยทั้ง 2 ท่านได้แสดงเจตนารมณ์ไม่รับเงินรางวัล เพื่อให้มูลนิธิฯ นำไปบริหารและสร้างประโยชน์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศชาติต่อไป

          ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ กล่าวว่า “มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อมูลนิธิฯ และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิฯ และพระราชทานชื่อรางวัลว่า “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” นับเป็นมงคลอย่างยิ่ง

          ด้วยมูลนิธิเล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงได้จัดรางวัลนี้ขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการเดินหน้ามุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของคนไทย เพื่อคนไทย ซึ่งยังไม่เคยมีองค์กรใดในประเทศไทยจัดมาก่อน มูลนิธิเปิดตัวรางวัลเมื่อปี พ.ศ.2563 โดยมูลนิธิได้เชิญชวนหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มูลนิธิ สมาคม สถาบันการศึกษา เสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลมายังมูลนิธิฯ คณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่าน โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย เป็นประธาน และคณะกรรมการมูลนิธิฯ 11 ท่าน ได้พิจารณากลั่นกรองอย่างเข้มข้น ในปี พ.ศ.2563 ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ได้รับรางวัลพระราชทานเป็นท่านแรก และในปี พ.ศ.2564 ดร.รอยล จิตรดอน เป็นท่านที่สอง สำหรับปี พ.ศ.2565 คณะกรรมการมีมติให้มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัล 2 ท่าน ได้แก่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายพงศธร ทวีสิน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นบุคคลที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรม ในการเป็นผู้ริเริ่ม คิดค้น พัฒนา ผลักดัน สร้างนวัตกรรม ประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศ และวางรากฐานที่เป็นประโยชน์ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี ก่อให้เกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เป็นแบบอย่างทั้งทางจริยธรรมและการทำงานอย่างทุ่มเท สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติตามเจตนารมณ์ของการให้รางวัลนี้ 

          นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจใช้ศักยภาพของเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มธุรกิจในเครือฯ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นพลังขับเคลื่อน สร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์แก่สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ เครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินธุรกิจมากว่า 100 ปี ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมอาหาร โทรคมนาคม ยึดหลักของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม รวมถึงผู้ด้อยโอกาส เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ผลงานโดดเด่น เช่น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย โดยริเริ่ม “โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนจนนำไปสู่การจดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเนกซ์อีดี” นอกจากนี้ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ทรู สมาร์ต เมอร์ชันต์” (True Smart Merchant) เพื่อนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการรายย่อย ช่วยจัดการข้อมูลทั้งการทำโปรโมชั่น ช่วยกระตุ้นยอดขาย การสรุปประมวลข้อมูลยอดขายรายวัน สำหรับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน พัฒนาเทคโนโลยีบริหารและจัดการฟาร์ม “CPF AI FarmLab Powered by Sertis” เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอมาวิเคราะห์ ประมวลผล เพื่อจดจำ และศึกษาข้อมูลจำนวนมากมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ พลิกโฉมสู่การเป็น Smart Farm เพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสียหายให้แก่ฟาร์ม ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและกระจายรายได้สู่เกษตรกรท้องถิ่นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เป็นต้น

          นายพงศธร ทวีสิน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ให้มีความยั่งยืนควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน มีการขยายผลก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และประเทศในวงกว้าง รวมถึงผู้ด้อยโอกาส ผลงานโดดเด่น ได้แก่ การสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศในโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และริเริ่มให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ปตท.สผ. การพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร โดยจัดตั้งบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ (AI & Robotics) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้พัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์และผลิตอุปกรณ์ที่ทันสมัยซึ่งมีความขาดแคลนและมีความต้องการเร่งด่วน รวมถึงสนับสนุนเงินทุนวิจัยพัฒนาวัคซีนของสถาบันวิจัยในประเทศไทย การพัฒนาและผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ และกล่องทำหัตถการแรงดันลบ ส่งมอบไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ การพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค “เอ็กซ์เตอร์ไลเซอร์” ส่งมอบให้แก่หน่วยงานสังกัดกรมควบคุมโรค การพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิและควบคุมห่วงโซ่ความเย็น ส่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามอุณหภูมิการจัดเก็บวัคซีนแบบ Real Time ช่วยให้การบริหารจัดการเก็บรักษาวัคซีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงพิกัดสถานที่จัดเก็บวัคซีนได้ และผลงานที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร เช่น การพัฒนาบริการจับคู่ธุรกิจฉีดพ่นแปลงเกษตร (Service Matching) ระหว่างเกษตรกรที่มีความต้องการใช้การฉีดพ่นปุ๋ยกับนักบินโดรนเกษตร การพัฒนาบริการวิเคราะห์ข้อมูลประเมินผลผลิต (Smart Credit) โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เทคโนโลยีที่ช่วยบริหารจัดการพื้นที่และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเกษตรกร ด้วย “Varuna Platform” และแอปพลิเคชัน “VARUN” ที่ช่วยวาดแปลง และฟังก์ชั่นติดตามสุขภาพพืช ทำนายผลผลิต การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการพื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่สีเขียวอัจฉริยะ (Smart Forestry) เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศผสมผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง เพื่อวิเคราะห์และจัดสรรพื้นที่สีเขียว คำนวณและติดตามตัวเลขการดูดซับคาร์บอนจากพื้นที่เป้าหมาย เป็นต้น

          หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าดูได้ที่ Website มูลนิธิ Ratanarajasuda Information Technology Award Foundation www.rita.or.th 

 

 

A51015

Click Donate Support Web  

MTL 720x100

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!