หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV5 copy copy


 

สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 28 กุมภาพันธ์ 2566)

          คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564-28 กุมภาพันธ์ 2566) ตามที่คณะกรรมการติดตาม การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 

 

 

 

          1. นโยบายหลัก 7 ด้าน ประกอบด้วย

 

นโยบายหลัก

 

มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ

1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

 

จัดนิทรรศการและจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตกรรมชุมชน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 จังหวัดพัทลุง เพื่อจัดแสดงมรดกผ้าของมลายูผ้ายกตานีและผ้าไทยอัตลักษณ์ 14 จังหวัดภาคใต้ ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการและพระราชทานผ้าลายพระราชทานผ้าลายดอกรักราชกัญญาเพื่อให้สมาชิกกลุ่มทอผ้าและช่างทอผ้านำไปออกแบบผลิตภัณฑ์สู่การสร้างงานและสร้างรายได้

2) การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม

 

2.1) โครงการวัฒนธรรมสัญจรสำหรับคณะทูตานุทูต จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมให้เป็นที่ประจักษ์แก่คณะทูตานุทูต และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการแหล่งมรดกโลกและแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีเอกอัครราชทูตและคู่สมรสจาก 28 ประเทศ เข้าร่วมโครงการ

2.2) ยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ประจำปีงบประมาณ .. 2566 เพื่อตอบสนองนโยบายมุ่งผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย 5F* จำนวน 16 เทศกาล เช่น ประเพณีกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และเทศกาลมรดกโลกบ้านเชียง

2.3) จัดงานวันศิลปินแห่งชาติ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 และเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติให้เป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2528 ถึงปัจจุบัน มีศิลปินได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ รวม 343 คน

2.4) พิธีเปิดโครงการกิจกรรมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดองค์ความรู้ประวัติศาสตร์กำแพงเมือง - คูเมือง เมืองน่าน จังหวัดน่าน เพื่อเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่กำแพงเมือง - คูเมือง และพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้คงสภาพที่ดี เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนที่สามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดน่าน

2.5) จัดกิจกรรมผู้ว่าพาเข้าวัด ปฏิบัติบูชา ตามรอยพระสัมมาฯ สู่นคร บวรสุข เพื่อมุ่งส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้เข้าวัดสดับรับฟังคำสอนทางพระพุทธศาสนา ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และเป็นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว

3) การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก

 

สนับสนุนทีมปฏิบัติการ Thailand for Turkiye ร่วมปฏิบัติการช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่สาธารณรัฐตุรกี โดยสนับสนุนทีมปฏิบัติการ Thailand for Turkiye ประกอบด้วย ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (Meduim USAR Thailand) ทีมแพทย์ทหาร จำนวน 42 คน และสุนัขกู้ภัย จำนวน 2 ตัว พร้อมอุปกรณ์ค้นหาและกู้ภัยเพื่อเข้าร่วมสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวที่สาธารณรัฐตุรกี

4) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย

 

4.1) พัฒนาภาคเกษตร เช่น (1) ประกาศให้ปี 2566 เป็นปีทุเรียนไทยคุณภาพสั่งตรวจเข้มทุเรียนส่งออกทุกชิปเมนท์ โดยให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพที่ได้มาตรฐานเท่านั้น ทั้งนี้ มีการส่งออกทุเรียนแล้ว จำนวน 16 ชิปเมนท์ ปริมาณ 27,327.95 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,823.77 ล้านบาท และ (2) ลดเผาตอซังหันมาทำนาเปียกสลับแห้งลดฝุ่น PM2.5 พ่วงเสริมรายได้ขายคาร์บอนเครดิต โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวลดการเผาตอซังข้าวและเปลี่ยนเป็นการไถกลบตอซังข้าวแทน ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวยังสามารถสร้างรายได้ทางเลือกด้วยการขายคาร์บอนเครดิต โดยได้เริ่มนำร่องในแปลงจังหวัดสุพรรณบุรีสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไปแล้วกว่า 8,000 บาทต่อปี

4.2) พัฒนาภาคการท่องเที่ยว เช่น (1) พัฒนาเกาะหมากให้เป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่มีแผนจัดการขยะการท่องเที่ยวของประเทศไทย ในปี 2565 “เกาะหมากได้ผ่านการคัดเลือกติด 1 ใน 3 แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลพิเศษระดับโลก “Story Award” ในประเภทระบบการจัดการและการฟื้นฟูจากแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลกที่ได้รับการประกาศให้เป็น Green Destinations Top 100 Stories และ (2) ประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งจะทำให้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามียุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างชัดเจน และเกิดการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน

4.3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและมุ่งสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ เช่น (1) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Digital Senior Officials' Meeting: ADGSOM) โดยที่ประชุมฯได้หารือกันในหลายประเด็น เช่น ผลักดันความปลอดภัยทางสื่อออนไลน์ การจัดการปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ โดยประเทศไทยได้นำเสนอให้มีการจัดตั้งกลไกระดับภูมิภาคด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงของภัยคุกคามผ่านสื่อออนไลน์ และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประชาชน และ (2) จัดทำบัญชีบริการดิจิทัลช่วยยกระดับสินค้า/บริการดิจิทัลของไทยสู่สากล ปัจจุบันมีสินค้าและบริการดิจิทัลที่พร้อมขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลแล้วมากกว่า 300 รายการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทั่วไปที่มีการซื้อหรือจ้างทำหรือใช้บริการสินค้าหรือบริการในบัญชีบริการดิจิทัลจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สามารถนำค่าใช้บริการ Software เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไปลดหย่อนภาษีสูงสุดร้อยละ 200

4.4) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม เช่น (1) สนับสนุนทุนวิจัยแก่ รศ.ดร พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนา สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89” เป็นสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์แรกของไทย มีคุณภาพและให้คุณค่าทางโภชนาการสูง รวมทั้งเป็นการเพิ่มพืชเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรไทยเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ และ (2) พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อร่วมพัฒนาวิจัยพืชเป็นยาในโครงการ น่านแซนด์บอกซ์ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1) บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือในการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืช 2) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการร่วมพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืช และ 3) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมในการผลิตยาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืชยา

5) การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้

และพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย

 

5.1) เปิดตัวกิจกรรมอาสาสมัครผู้สูงอายุกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.)”

ภายใต้โครงการการจัดและส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ภายใต้แนวคิดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณค่าเพื่อสร้างความสุขให้กับกลุ่มผู้สูงอายุโดยจะเปิดรับสมัคร อส.ศธ. ผ่านระบบออนไลน์ กำหนดเป้าหมายผู้สมัครกว่า 30,000 คน

5.2) ขยายผลโครงการมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a Better Life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่าไปสู่ภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2566 จังหวัดกาพสินธุ์ มีครูที่ได้รับการเจรจาการแก้ไขหนี้สิน จำนวน 673 ราย ได้ข้อตกลงการเจรจาภาระหนี้สำเร็จ รวมเป็นเงิน 784.66 ล้านบาท ครั้งที่ 2 จังหวัดอุดรธานี ครั้งที่ 3 จังหวัดสระแก้ว ครั้งที่ 4 จังหวัดพิษณุโลก และครั้งที่ 5 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

6) การพัฒนาระบบสาธารณสุข

และหลักประกันทางสังคม

 

6.1) แพลตฟอร์มแอปพลิเคชันหมอพร้อมได้รับรางวัล BEST BRAND PERFORMANCE BY LINE ภายใต้งาน Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 โดยได้รับรางวัลสาขา HIGHEST VEW ON LINE VOOM (แบรนด์ที่มียอดการเข้าชมสูงที่สุดบน LINE VOOM)

6.2) มหกรรมผู้สูงอายุไทย ดวงตาสดใส ไร้ต้อกระจก โรงพยาบาลสมุทรปราการ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุในจังหวัดสมุทรปราการที่เป็นโรคต้อกระจกชนิดบอดและชนิดสายตาเลือนรางที่จำเป็นต้องผ่าตัดได้รับการผ่าตัดที่รวดเร็ว มองเห็นได้ชัดขึ้น โดยวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2566 ผ่าตัดต้อกระจก จำนวน 500 รายต่อวัน และนัดตรวจติดตามหลังผ่าตัดต่อไป

7) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ

และการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

7.1) โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ประจำปีงบประมาณ .. 2566 ดำเนินการแล้วเสร็จตามเป้าหมาย จำนวน 18 แห่ง ประกอบด้วย กิจกรรมเจาะพัฒนาบ่อน้ำบาดาล จำนวน 54 บ่อ และก่อสร้างระบบกระจายน้ำบาดาล 18 ระบบ พื้นที่เกษตรกรรมได้รับประโยชน์ 5,400 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ จำนวน 180 ครัวเรือน

7.2) โครงการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อความมั่นคงระดับชุมชน รูปแบบที่ประจำปีงบประมาณ .. 2565 ดำเนินกิจกรรมแล้วเสร็จตามเป้าหมายจำนวน 59 แห่ง 118 บ่อ 59 ระบบ มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 11,800 ครัวเรือน

7.3) ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาทรัพยากรทางทะเล พร้อมเร่งรัดการดำเนินงานด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างเป็นระบบ เร่งดำเนินการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูน ระยะที่ 2 โดยมีการออกกฎกระทรวงประกาศให้แหล่งอาศัยของพะยูนในอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่คุ้มครองและจัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์พะยูน สามารถร่วมออกลาดตระเวน และร่วมฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเล

7.4) โครงการบำรุงรักษาระบบเตือนภัยน้ำท่วม-ดินถล่ม (Early Warning) ปีงบประมาณ .. 2566 ดำเนินการบำรุงรักษาระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System: EWS) ด้านน้ำให้มีความพร้อมในการใช้งาน 1,220 สถานี คิดเป็นร้อยละ 68 ของจำนวนสถานีทั้งหมด 1,796 สถานี

 

          2. นโยบายเร่งด่วน 7 เรื่อง ประกอบด้วย 

 

นโยบายเร่งด่วน

 

มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ

1) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน

 

1.1) แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน เช่น (1) ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีแล้ว 11,998 ราย (2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้รับใบอนุญาตและเปิดดำเนินการแล้ว 1,099 ราย มีสินเชื่ออนุมัติสะสมตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559-มกราคม 2566 จำนวน 2,788,300 บัญชี จำนวน 28,955.41 ล้านบาท และ (3) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดมีเรื่องรับเข้าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559-ธันวาคม 2565 จำนวน 11,689 เรื่อง ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 7,086 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 60.62 ของเรื่องรับเข้า

1.2) โครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้เงินกู้เพื่อการเกษตรได้รับการลดภาระดอกเบี้ย จำนวน 680 แห่ง 182,896 ราย

1.3) โครงการบริหารจัดการที่ดินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาสจัดที่ดินให้เกษตรกรได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 9,288 ราย

1.4) โครงการบริหารจัดการทรัพยากรประมง มีการดำเนินงาน เช่น (1) จัดระเบียบการทำประมง โดยกำหนดมาตรการและการอนุญาตให้เป็นไปตามพระราชกำหนดการประมง .. 2558 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 32 ฉบับ และ (2) ฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำประจำถิ่นและสัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ ให้คงความหลากหลาย 10 ชนิด จำนวน 148,468 ตัว

1.5) โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) มีผลการดำเนินงาน ได้แก่ (1) ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นการผลิตสินค้าการเกษตรชนิดใหม่ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ภูมิสังคม และตลาด เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้แก่เกษตรกร (เป้าหมาย 67,500 ไร่) ดำเนินการแล้ว 18,957 ไร่ (2) อบรมการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพแก่เกษตรกร (เป้าหมาย 1,000 ราย) ดำเนินการแล้ว 817 ราย และ (3) ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (เป้าหมาย 150 แปลง) ดำเนินการแล้ว 82 แปลง

2) การปรับปรุงระบบสวัสดิการ

และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

2.1) โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) SMART สู่การขับเคลื่อนศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลจังหวัด พิษณุโลก ด้วยการพัฒนาทักษะในการปฏิบัติงานเทคนิคการจัดการรายกรณี (Case Management) การใช้สมุดพกครอบครัว และการใช้ Web Application “อพม. SMART” ให้ อพม. จังหวัดพิษณุโลก และเจ้าหน้าที่ รวม 130 คน

2.2) พัฒนา 12 จังหวัดต้นแบบครอบครัวมั่นคง สังคมสุขภาพดีได้แก่ จังหวัดพะเยา พิษณุโลก พิจิตร อ่างทอง เพชรบุรี ระยอง กาฬสินธุ์ สกลนคร บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ สุราษฎร์ธานี และตรัง เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาสุขภาวะ ระดับบุคคลและครอบครัวทุกกลุ่มวัย โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) ร่วมบูรณาการหน่วยงานระดับส่วนกลางผ่านกลไกคณะกรรมการ นำไปสู่หน่วยงานระดับภูมิภาค

2.3) จัดกิจกรรมมหัศจรรย์วิถีชีวิตชนเผ่า Amazing tribal way of life” เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์ของราษฎรบนพื้นที่สูง 8 ชนเผ่าในจังหวัดเชียงราย เช่น การแต่งกาย ผลิตภัณฑ์สินค้า แหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อรักษาอัตลักษณ์ ศิลปะวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นการสร้าง Soft Power และส่งเสริมให้ราษฎรบนพื้นที่สูงสามารถสร้างอาชีพและรายได้จากอัตลักษณ์และทุนทางสังคม

3) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน

 

3.1) ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 12) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 จำนวน 3 สาขา 17 อาชีพ เช่น (1) ช่างระบบถ่ายกำลัง 495 บาท/วัน (2) ช่างระบบปั๊มและวาลัว 515 บาท/วัน (3) ช่างเครื่องกลควบคุมเครื่องจักรรถขุด 570 บาท/วัน และ (4) นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมไทยสัปปายะ (โภชนบำบัด) 500-600 บาท/วัน

3.2) จัดมหกรรมอาชีพและนัดพบแรงงานใหญ่ได้คนตรงงาน ได้งานตรงใจ@ระยองเมื่อวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2566 วิทยาลัยเทคนิคระยอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงบริการของรัฐ เปิดโลกทัศน์ด้านอาชีพที่หลากหลาย และเพิ่มโอกาสการจ้างงาน

4) การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต

 

4.1) ส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor: EEC” (จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 78 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 88,632 ล้านบาท

4.2) จัดกิจกรรมชักจูงนักลงทุน จากทั้งในและต่างประเทศให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC โดยมีอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหอการค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 10 ประเทศ เช่น (1) อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ได้แก่ ราชอาณาจักรสเปน (2) อุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น (3) อุตสาหกรรมด้านดิจิทัล ได้แก่ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และ (4) อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย

5) การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21

 

5.1) ยกระดับอุตสาหกรรมเกมไทยสู่สากล โดยดำเนินโครงการส่งเสริมการพัฒนาทักษะกำลังคนรุ่นใหม่ต่อยอดการสร้างอาชีพในอนาคตและยกระดับ อุตสาหกรรมเกมไทยสู่สากล ภายใต้แนวคิด “Digital Infinity ดิจิทัลไม่มีที่สิ้นสุดมีเป้าหมายพัฒนาทักษะและผลิตบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมเกมกว่า 50,000 ราย และเปิดโอกาสให้นักพัฒนาเกมไทยได้แสดงศักยภาพ พัฒนาฝีมือ และผลิตเกมได้อย่างมีคุณภาพ มีเป้าหมายยกระดับนักพัฒนาเกมกว่า 500 ราย

5.2) จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ วันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ (Thailand Safer Internet Day) ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อให้ความรู้สร้างความตระหนักถึงความสำคัญทางด้านความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีในชุมชนออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย (Thailand Safe Internet Coalition) เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และสังคมไทย

6) การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่

ชายแดนภาคใต้

 

6.1) โครงการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น (1) ถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่แก่เกษตรกร จำนวน 1,700 ราย และ (2) พัฒนาและจัดทำแปลงขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชให้กับเกษตรกรต้นแบบ จำนวน 239 ราย เพื่อพัฒนาและขยายผลเทคโนโลยีการผลิตพืช 14 ชนิด

6.2) การปราบปรามยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1-28 กุมภาพันธ์ 2566 จับกุมคดียาเสพติด จำนวน 19,358 คดี ผู้ต้องหา จำนวน 19,423 คน และยึดของกลาง ได้แก่ ยาบ้า 84,865,743 เม็ด ไอซ์ 1,416.43 กิโลกรัม เฮโรอีน 12.02 กิโลกรัม เคตามีน 631.40 กิโลกรัม ยาอี 11,092 เม็ด และฝิ่น 5.61 กรัม

7) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน

 

7.1) เพิ่มช่องทางการจ่ายเงินกองทุนเงินทดแทน ผ่านบริการพร้อมเพย์” กรณีจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิได้ทุกธนาคาร เริ่มให้บริการในวันที่ 1 มีนาคม 2566 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิ

สามารถเข้าถึงบริการรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีความโปร่งใส ลดความผิดพลาด และลดการใช้กระดาษ

7.2) อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) แก่บุคลากรทักษะสูง/ผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นที่จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ผ่านวีซ่าประเภทพิเศษ SMART Visa ทั้งนี้ ห้วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 มีผู้ขอรับรองคุณสมบัติทั้งสิ้น 128 คำขอ และมีผู้ผ่านการรับรองคุณสมบัติทั้งสิ้น 87 คำขอ

__________________

*ได้แก่ 1. อาหาร (Food) 2. ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ (Film) 3. การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4. ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ 5. เทศกาลประเพณีไทย (Festival)

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤษภาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A5998

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

MTL 720x100

TU 720 x 109

sme 720x100

ธกส 720x100

SPALAI 720x100

PF 720x100

TOA 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!