หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV9


รายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ประจำปี 2565

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ประจำปี 2565 ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทคคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสนอ

          สาระสำคัญของเรื่อง

          กสทช. ได้รายงานผลการปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี 2565 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

          1. ผลการปฏิบัติงานที่สำคัญของ กสทช. ประจำปี 2565 เช่น

                    1.1 ด้านการบริหารคลื่นความถี่ เช่น (1) กำหนดนโยบายด้านการบริหารคลื่นความถี่ เช่น การศึกษาแนวทางและความเหมาะสมในการกำหนดกรอบระยะเวลาอนุญาตในการใช้คลื่นความถี่ 450-470 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications: IMT) และการศึกษาความเป็นไปได้ และแนวทางการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 3300-3400 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับ IMT (2) ปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่และการติดตามการดำเนินการตามแผนความถี่วิทยุ เช่น การเตรียมการยุติการใช้คลื่นความถี่ย่าน L-band (1427-1518 เมกะเฮิรตซ์) เพื่อเตรียมการรองรับ IMT และปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ย่าน 50-54 เมกะเฮิรตซ์ (3) ประสานงานเกี่ยวกับการบริหารคลื่นความถี่ตามบริเวณชายแดน การจดทะเบียนคลื่นความถี่ระหว่างประเทศ และประสานแจ้งการใช้งานคลื่นความถี่ในประเทศไทยต่อสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) และประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการประสานความร่วมมือในการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่บริเวณชายแดน (4) วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการรบกวนใช้งานภายในประเทศ และ (5) จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคลื่นความถี่แห่งชาติ

                    1.2 ด้านการบริหารกิจการดาวเทียม เช่น การอนุญาตใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม โดยผลการประมูลในลักษณะจัดชุด (Package) ราคารวม 806.50 ล้านบาท ให้แก่บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ เช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติฯ ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม AsiaSat 5 เป็นการชั่วคราวเพื่อรับสัญญาณแพร่ภาพและเสียงการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล GERMAN CUP (DFB Pokal) 2021/2022 และถ่ายทอดสดการแข่งขัน Volleyball Nations League 2022 และกรมการทหารสื่อสาร กองบัญชาการกองทัพไทย ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม ABS-2B เป็นการชั่วคราว เพื่อสนับสนุนภารกิจเกี่ยวกับความมั่นคงทางทหาร

                    1.3 ด้านการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เช่น (1) การอนุญาตการทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม ประเภทธุรกิจสาธารณะและชุมชน จำนวน 4,102 สถานี (2) การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในะบบ ดิจิทัลโดยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย [ช่องรายการสถานีโทรทัศน์ (Active Learning Television: ALTV ช่องหมายเลข 4)] เป็นผู้รับใบอนุญาต รวมทั้งการลดหย่อนและยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี และ (3) การส่งเสริมสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการนำร่องบ้านฉาง 5G สมาร์ทซิตี้ (5G Smart City) เพื่อบริการประชาชนด้านสาธารณสุขทางไกลและการประสานช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและการจัดระเบียบสายสื่อสารและนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และพื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปี 2565 รวมระยะทาง 34.82 กิโลเมตร

                    1.4 ด้านการสื่อสารระหว่างประเทศ เช่น ดำเนินการในฐานะสมาชิกสภาบริหาร (International Telecommunication: TU Council) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ โดยได้เข้าร่วมประชุม ITU Council 2022 ระหว่างวันที่ 21-31 มีนาคม 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และการประสานความร่วมมือในระดับทวิภาคี เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมืออันดีในการกำกับดูแลกิจการสื่อสารของประเทศต่อไป

                    1.5 ด้านการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล เช่น (1) มาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้รับใบอนุญาต และสนับสนุนการป้องกันและรักษาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19 (2) การส่งเสริมการลงทุนทางด้านดิจิทัลในประเทศ ซึ่งระหว่างปี 2561-2563 มีมูลค่ารวมกว่า 2,300 ล้านบาท และ (3) การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข โดยมีการจัดประชุมภายใต้หัวข้อ “ก้าวต่อไปของการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1: Health security” เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและการปฏิรูประบบบริการแบบปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการปฐมภูมิด้วยระบบ Telemedicine

                    1.6 ด้านยุทธศาสตร์และบริหารองค์กร เช่น (1) การบริหารงานของสำนักงาน กสทช. ในการรักษามาตรฐานการดำเนินงานและมุ่งพัฒนาองค์กรตามนโยบายคุณธรรมและความโปร่งใส เพื่อยกระดับหน่วยงานด้านคุณธรรมและความโปร่งใสอย่างยั่งยืน โดยมีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐประจำปี 2565 จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติด้วยคะแนน 99.58 (ระดับ AA) เป็นปีที่สาม และการยกระดับการพัฒนาสำนักงาน กสทช. สู่การเป็นต้นแบบของสำนักงานดิจิทัล โดยในปี 2565 สำนักงาน กสทช. ได้รับรางวัลรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐระดับกรมที่ให้บริการเป็นหลัก อันดับที่ 1 จาก 1,935 หน่วยงาน (2) การติดตามและตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เช่น การตรวจสอบมาตรฐานการแพร่คลื่นความถี่ จำนวน 5,323 ครั้ง พบว่า สถานีที่มีการแพร่คลื่นความถี่ตรงตามมาตรฐาน จำนวน 5,184 ครั้ง และไม่ตรงตามมาตรฐาน จำนวน 139 ครั้ง และการตรวจค้นและจับกุมตามกฎหมาย จำนวน 24 คดี (กิจการวิทยุคมนาคม 12 คดี กิจการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต 10 คดี และกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ 2 คดี) (3) ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการของศูนย์ Call Center 1200 เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารและรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2565 สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องรองเรียนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แล้วเสร็จ 51 เรื่อง จากทั้งหมด 72 เรื่อง (คิดเป็นร้อยละ 70.83) และเรื่องร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคม แล้วเสร็จ 3,122 เรื่อง จากทั้งหมด 3,431 เรื่อง (คิดเป็นร้อยละ 90.99) และ (4) การบริหารงานกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เช่น การจัดสรรเงินกองทุน การดูแลรักษาเงินกองทุน และการติดตามและประเมินผลกองทุน

          2. รายงานสภาพตลาดและการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

                    2.1 กิจการกระจายเสียง มีมูลค่าการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็มคลื่นหลักในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 34 สถานี ซึ่งในปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 3,457.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 196.51 ล้านบาท

                    2.2 กิจการโทรทัศน์ ในปี 2564 มีมูลค่าตลาดกิจการโทรทัศน์ในกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่หรือบริหารช่องรายการโทรทัศน์ผ่านระบบเคเบิล ดาวเทียม และไอพีทีวี รวมประมาณ 1,750.86 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาแนวโน้วของรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 3.55 พบว่า อาจเป็นผลจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงในการรับชมและการเติบโตของผู้ให้บริการ Video Streaming อย่างรวดเร็วในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สินค้าและบริการลดรายจ่ายค่าโฆษณาผ่านช่องทางโทรทัศน์ลง

                    2.3 กิจการโทรคมนาคม มีผู้ลงทะเบียนใช้บริการโทรศัพท์ประจำที่ (Fixed Line Subscribers) ของไทย 4.43 ล้านเลขหมาย ลดลงร้อยละ 4.32 เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีผู้ลงทะเบียนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Subscribers) 129 ล้านเลขหมาย โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.75 เมื่อเทียบกับปี 2564 ส่วนบริการอินเทอร์เน็ตมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ (Fixed Broadband) ประมาณ 13.09 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 5.36 และมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเคลื่อนที่จำนวน 86.70 ล้านเลขหมาย โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 8.17

          3. ผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณ สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตามแผนการดำเนินงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จำนวน 6,620.20 ล้านบาท มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน กสทช. ตามแผนงาน (งานประจำ) และโครงการประจำปี 2565 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 6,024.83 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 91.01 ของงบประมาณที่ได้รับ แบ่งออกเป็นงบประมาณรายจ่ายสำหรับภารกิจของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. (งานประจำ) จำนวน 3,847.95 ล้านบาท รายจ่ายโครงการ จำนวน 1,087.65 ล้านบาท รายจ่ายสำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน จำนวน 79.24 ล้านบาท และเงินจัดสรรเข้ากองทุนตามกฎหมาย จำนวน 1,010 ล้านบาท โดยปี 2565 สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้สูงกว่าปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 90 

          4. งบการเงิน และรายงานการตรวจสอบภายใน

                    4.1 งบการเงิน (สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565)

หน่วย : ล้านบาท

รายการ

ปี 2565

ปี 2564

เพิ่มขึ้น/(ลดลง)

1. งบแสดงฐานะการเงิน

สินทรัพย์

สินทรัพย์หมุนเวียน

53,288.00

69,216.34

(15,928.34)

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

167,241.34

198,178.43

(30,937.09)

รวมสินทรัพย์

220,529.34

267,394.77

(46,865.43)

หนี้สิน

หนี้สินหมุนเวียน

32,799.53

48,450.88

(15.651.35)

หนี้สินไม่หมุนเวียน

164,887.67

195,750.79

(30,863.12)

รวมหนี้สิน

197,687.20

244,201.67

(46,514.47)

2. งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน

รวมรายได้

11,086.56

78,558.65

(67,472.09)

รวมค่าใช้จ่าย

10,722.97

78,640.47

(67,917.50)

ต้นทุนทางการเงิน

9.42

14.01

4.59

รายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ

354.17

(95.84)

450.01

 

หมายเหตุ : 1. งบการเงินนี้ยังไม่ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

                  2. เนื่องจากมีการปรับเป็นทศนิยมสองหลัก ดังนั้น ย่อมส่งผลต่อการคำนวณผลรวมบางรายการในตาราง

 

 

                    4.2 รายงานการตรวจสอบภายใน คณะกรรมการตรวจสอบภายในเห็นว่า การดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. สำหรับปี 2565 โดยรวมมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ และการใช้จ่ายงบประมาณมีความคุ้มค่า ตลอดจนมีการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในอย่างเพียงพอ โดยไม่พบข้อสังเกตที่มีนัยสำคัญ นอกจากนี้ กระบวนการจัดทำรายงานทางการเงินได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีอันเป็นที่รับรองทั่วไปมีความเหมาะสม รวมถึงมีการเปิดเผยข้อมูลในรายงานทางการเงินอย่างเพียงพอและมีความน่าเชื่อถือ 

          5. แผนการดำเนินงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 กสทช. และสำนักงาน กสทช. มีแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2566 เช่น (1) การอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่แบบหลอมรวมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (2) การยกระดับกิจการวิทยุกระจายเสียงของประเทศไทยไปสู่มาตรฐานสากล เพื่อสร้างสรรค์สังคม และเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (3) การจัดให้มีบริการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการสำหรับผู้พิการ ผู้มีความต้องการที่หลากหลาย และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และ (4) การเร่งรัดจัดระเบียบสายสื่อสารและนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ในกลุ่มพื้นที่เร่งด่วนโดยได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 6,271.250 ล้านบาท [งบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน กสทช. 5,261.25 ล้านบาท และเงินจัดสรรเข้า กทปส. และกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 1,010 ล้านบาท]

          6. ปัญหา อุปสรรคในการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่มีความสำคัญต่อประชาชน และแนวทางแก้ไข เช่น (1) การให้บริการโทรทัศน์ชุมชน บนโครงข่ายภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลมีต้นทุนในการจัดตั้ง และบริหารจัดการสถานีที่สูง และจำเป็นต้องใช้ทักษะความรู้ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานในหลายด้าน สำนักงาน กสทช. จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางอนุญาตและกำหนดลักษณะการให้บริการโทรทัศน์ชุมชน เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการโทรทัศน์ชุมชนภายใต้บริบทของกฎหมาย ความต้องการ พฤติกรรมการรับชม ด้านเทคโนโลยี และปัจจัยอื่นๆ และ (2) การขยายโครงข่ายสื่อสารที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามการใช้งานของประชาชนในทุกพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ตั้งแต่ปี 2561 ทำให้จำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. มีการสะสมหนาแน่น ซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนได้ สำนักงาน กสทช. จึงได้สนับสนุนการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารและนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยใช้งบประมาณบางส่วนจาก กทปส. ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 700 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการในปี 2565-2566 ในพื้นที่จัดระเบียบสายกลุ่มเร่งด่วน 16 เขต ของกรุงเทพมหานคร

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤษภาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A5994

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

MTL 720x100

TU 720 x 109

sme 720x100

ธกส 720x100

SPALAI 720x100

PF 720x100

TOA 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!