หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV8 copy


สรุปผลการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาเเห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) ครั้งที่ 52

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เสนอ สรุปผลการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(สภาซีเมค)1 ครั้งที่ 52 ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2566 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมฯ ตามคำเชิญของรองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฟิสิปปินส์ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. การประชุมวาระเฉพาะและการประชุมเต็มคณะ ที่ประชุมมีมติให้ศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ2 และสำนักงานเลขาธิการซีมีโอดำเนินงานตามขอบข่ายวาระการศึกษาของซีมีโอด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาระดับปฐมวัย อาชีวศึกษา การพัฒนาและฝึกอบรมครู การส่งเสริมวิจัยระดับอุดมศึกษา การเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา การพัฒนาหลักสูตรในศตวรรษที่ 21 การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสุขอนามัย การปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งเลือกตั้งให้รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ เป็นประธานการประชุม สภาซีเมค ครั้งที่ 52 และประธานสภาซีเมค โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของเนการาบรูไนดรุสซาลาม เป็นรองประธานการประชุมฯ และรองประธานสภาซีเมค ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยาฯ) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวย้ำความสำคัญของการบูรณาการ “ศาสตร์และศิลป์ แห่งชีวิต” (Arts of Life) ไว้ในการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา (STEM Education)3 สู่การจัดการเรียนรู้แบบศาสตร์และศิลป์ที่ผสมผสานในลักษณะที่เรียกว่า “STEAM”4 เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นด้านวัฒนธรรมคุณค่า และอัตลักษณ์ ทั้งนี้ ที่ประชุมกำหนดให้มีการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 53 ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 ณ บรูไน

          2. การประชุมเชิงยุทธศาสตร์ระดับรัฐมนตรีศึกษาของซีมีโอ ครั้งที่ 6 (6th SEAMEO Strategic Dialogue of Education Ministers: SDEM) หัวข้อ “Prioritising Foundational Learning and Lifelong Learning: Investing in Literacy, Numeracy, and STEM Education in the Digital Era” ที่ประชุม SDEM ได้เห็นพ้องและแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมประเด็นด้านนโยบายของภูมิภาค แนวปฏิบัติด้าน การเรียนรู้พื้นฐานการรู้หนังสือและการคำนวณ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล การให้ความสำคัญลำดับต้นแก่ผู้เรียนกลุ่มเปราะบางด้วยการพัฒนาวิธีการแบบเรียนร่วม การเสริมสร้างขีดความสามารถของครูและบุคลากรทางการศึกษา การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาในยุคดิจิทัล และการเสริมสร้างแนวคิดริเริ่มในการติดตามและประเมินผล

          อนึ่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยได้มีโอกาสหารือกับรัฐมนตรีว่า การกระทรวงศึกษาธิการของสาธารณรัฐสิงคโปร์เกี่ยวกับการจัดโครงการแลกเปลี่ยนหรือหลักสูตรฝึกอบรม ซึ่งสิงคโปร์ยินดีสนับสนุนให้แก่ ศธ. ไทย โดยอาจแลกเปลี่ยนระหว่างนักเรียน/นักศึกษา ประมาณ 1 ภาคการศึกษา หรืออาจให้ครูและผู้บริหารเดินทางมาเข้ารับการอบรมร่วมกับสิงคโปร์ ในส่วนของไทยเน้นผลักดันการสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจในความเป็นชาติให้มีการเรียนการสอน หรือบูรณาการเข้ากับการเรียนรู้ในสถานศึกษาให้มากยิ่งขึ้น และการพัฒนาด้านสะเต็มศึกษา (STEM) โดยเพิ่มตัว “A” (Arts of Life) ให้เป็น “STEAM” ซึ่งรวมถึงภูมิหลัง วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และการใช้ชีวิต

____________________________

1 การประชุมสภาซีเมคกำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยการประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าประชุม 11 ประเทศ ประเทศสมาชิกสมทบซีมีโอ 1 ประเทศ (ราชอาณาจักรสเปน) หน่วยงานสมาชิกสมทบซีมีโอ 2 แห่ง (มหาวิทยาลัย Tsukuba และบริติช เคาน์ซิล) ศูนย์/เครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ 26 แห่ง ตลอดจนภาคีเครือข่ายซีมีโอ และสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ รวม 170 คน โดยการประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายการศึกษาภายใต้กรอบความร่วมมือซีมีโอ รับทราบความก้าวหน้า ผลสำเร็จ และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน กิจกรรม/โครงการขององค์การซีมีโอและศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอในปีที่ผ่านมา พิจารณาอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายของสำนักงานเลขธิการซีมีโอ พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิกซีมีโอ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านการศึกษาทั้งในและนอกภูมิภาค

2 องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization: SEAMEO) เป็นองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาคซึ่งเกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อตั้งเมื่อปี 2508 มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือของประเทศสมาชิกรวมทั้งผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านต่างๆ ดังนี้ (1) คุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา (2) สุขอนามัยและสาธารณสุข (3) วัฒนธรรมและประเพณี (4) ข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ (5) ภาษา (6) การลดปัญหาความยากจน และ (7) การเกษตรและทรัพยากรทางธรรมชาติ 

3 การเรียนรู้แบบบูรณาการระหว่าง 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)

4 เป็นการเพิ่มสาขาวิชาศิลปะ (Arts) เข้ามาผสมผสานการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาตนเอง เพื่อให้เกิดทักษะในการแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในการดำเนินชีวิต

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤษภาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A5992

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

MTL 720x100

TU 720 x 109

sme 720x100

ธกส 720x100

SPALAI 720x100

PF 720x100

TOA 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!