หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV 28


รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้ 

          สาระสำคัญ 

          1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 

การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่า 22,376.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (730,123 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 4.7 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวเพียงร้อยละ 0.05 เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า และแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบต่อความต้องการสินค้า โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงหดตัว รวมทั้ง สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์) และทองคำ มีการปรับลดลงจากปัจจัยราคาเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกสูงยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) และเครื่องปรับอากาศ แม้ว่าการส่งออกไปตลาดหลัก (ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น) ยังคงหดตัว แต่การส่งออกไปตลาดเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในปี 2566 เติบโตดี โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง และอินเดีย อีกทั้ง การส่งออกไปยังฮ่องกงที่เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย กลับมาขยายตัวในรอบ 10 เดือน ทั้งนี้ การส่งออกไทย 2 เดือนแรก หดตัวร้อยละ 4.6 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 1.4 

          มูลค่าการค้ารวม

          มูลค่าการค้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 45,865.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.8 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 22,376.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.7 การนำเข้า มีมูลค่า 23,489.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.1 ดุลการค้า ขาดดุล 1,113.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 91,014.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.6 โดยการส่งออก มีมูลค่า 42,625.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.6 การนำเข้า มีมูลค่า 48,388.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.3 ดุลการค้า ขาดดุล 5,763.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

          มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 1,506,548 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.4 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 730,123 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.3 การนำเข้า มีมูลค่า 776,425 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.5 ดุลการค้า ขาดดุล 46,301 ล้านบาท ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 3,078,105 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยการส่งออก มีมูลค่า 1,430,250 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.2 การนำเข้า มีมูลค่า 1,647,855 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 ดุลการค้า ขาดดุล 217,605 ล้านบาท

          การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

          มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 21.4 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา มาเลเซีย และลาว) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 5.2 (ขยายตัวในตลาดจีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย เนเธอร์แลนด์ และลาว) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 7.7 (ขยายตัวในตลาดอิรัก อินโดนีเซีย เซเนกัล โมซัมบิก และแอฟริกาใต้) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 95.0 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ ฮ่องกง และอินโดนีเซีย) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 171.4 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เมียนมา เคนยา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 61.6 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา หดตัวร้อยละ 34.0 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และตุรกี) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 9.1 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และอียิปต์) อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัวร้อยละ 23.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และอิตาลี) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 23.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย กัมพูชา และเนเธอร์แลนด์) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.6

          การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

          มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 6.2 แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.6 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเวียดนาม) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 81.7 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบฯ ขยายตัวร้อยละ 22.2 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง แอฟริกาใต้ อาร์เจนติน่า จีน และฟิลิปปินส์) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 15.7 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 60.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย แคนาดา และตุรกี) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 39.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี) เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัวร้อยละ53.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 20.6 (หดตัวในตลาดจีน อินเดีย มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 22.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 12.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 5.8

          ตลาดส่งออกสำคัญ

          การส่งออกไปยังตลาดสำคัญในภาพรวมยังหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปหลายตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น และ CLMV หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ขณะที่ตลาดตะวันออกกลางยังขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงฮ่องกงที่กลับมาขยายตัว ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 5.9 หดตัวใน สหรัฐฯ ร้อยละ 9.5 จีน ร้อยละ 7.9 ญี่ปุ่น ร้อยละ 2.5 CLMV ร้อยละ 4.9 และอาเซียน (5) ร้อยละ 6.4 ขณะที่ สหภาพยุโรป (27) ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 0.1 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยหดตัวในตลาดฮ่องกง ร้อยละ 28.6 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 23.8 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 11.2 แต่หดตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 9.4 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 9.2 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 4.7 รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 26.0 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 3.5 (3) ตลาดอื่นๆ หดตัวร้อยละ 67.1 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 80.7

          2. มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป

          การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) การผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าทำตลาดข้าวผ่านงานแสดงสินค้านานาชาติ ตั้งเป้าการส่งออกปี 2566 ที่ 7.5 ล้านตัน ด้วยปัจจัยหนุนจากอินเดียและเวียดนามมีนโยบายเก็บสต๊อกข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการบริโภคข้าวในอินโดนีเซีย บังกลาเทศ และตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้น (2) การเดินหน้าสร้างความร่วมมือระดับท้องถิ่น ด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Mini FTA) ระหว่างไทยและเซินเจิ้น ตั้งเป้าการค้าระหว่างกันอีก 43,000 ล้านบาท ในปี 2566 - 2567 เซินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของจีน รองจากเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง และมีขนาดเศรษฐกิจเกือบเท่าไทย และ (3) การเร่งเปิดเจรจา FTA คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการเปิดการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนของไทยร่วมประชุมกับฝ่ายยูเออี เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน และเปิดโครงการไทยซุค (Thai Souq) ที่เป็นแหล่งรวมและกระจายสินค้าและบริการของไทยในเมืองดูไบ ทั้งนี้ ยูเออีเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและเป็นประตูเข้าสู่การค้าของกลุ่มประเทศอาหรับต่อไป

          แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ประเทศคู่ค้าหลักยังคงเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีคาดว่า ช่วงหลังของปีการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตามแนวโน้มราคาพลังงานและปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกที่ทยอยคลี่คลาย นอกจากนี้ แรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน และการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 พฤษภาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A5302

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

MTL 720x100

TU 720 x 109

sme 720x100

ธกส 720x100

SPALAI 720x100

PF 720x100

TOA 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!