หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV8 copy


รายงานการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 1

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ รายงานการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 1 [เป็นการดำเนินการตามระเบียบ กค. ว่าด้วยการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ข้อ 5 (3) ที่กำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด (คปก.) ประเมินผลโครงการและจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบทุกหกเดือน] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 

          1. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ว่าจ้าง บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัดและมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังเป็นที่ปรึกษาภายใต้โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดฯ โดยมีโครงการทั้งสิ้น 2,474 โครงการ ประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ (1) เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และ (3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ การประเมินผลจะสุ่มตัวอย่างโครงการ/แผนงาน จำนวน 250 โครงการ

          2. สบน. และกลุ่มงานที่ปรึกษาฯ ได้จัดทำรายงานผลฯ ซึ่ง คปก.ได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 โดยพิจารณาคัดเลือกโครงการที่มีขนาดใหญ่ มีวงเงินกู้สูงหรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญที่แล้วเสร็จ จำนวน 10 โครงการ มีกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ รวม 184,410.22 ล้านบาท ผลการเบิกจ่ายรวม 183,491.30 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.50 ของกรอบวงเงิน โดยทั้ง 10 โครงการ มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 42,322.44 ล้านบาท และมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่คาดว่ารัฐจะได้กลับคืนสูงสุดภายใน 3 ปี จำนวน 8,168.23 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลการประเมินระดับแผนงาน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

                  2.1 แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาด ของโควิด-19

                          2.1.1 การประเมินผลโครงการ จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 20,001,150 โดส (วัคซีนไฟเซอร์) กรอบวงเงินรวม 8,616.08 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่าย 8,616.08 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100 ของกรอบวงเงิน มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก และผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย (1) ความสอดคล้องและความเชื่อมโยง (2) ประสิทธิภาพ (3) ประสิทธิผล (4) ผลกระทบ และ (5) ความยั่งยืน อยู่ในระดับดีมาก

                          2.1.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับบริการประชากรในประเทศไทยฯ สามารถป้องกันการเสียชีวิตของประชาชน ป้องกันอาการป่วยรุนแรง ประหยัดค่ารักษาพยาบาล และสนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนของไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นในอนาคต

                          2.1.3 ปัญหาและอุปสรรค กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีความล่าช้า โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้การได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 ช้ากว่าที่ควรจะเป็น

                          2.1.4 ข้อเสนอแนะ ควรมีการกระจายความเสี่ยงทางด้านวัคซีนโควิด-19 โดยการจัดหาวัคซีนที่มีความหลากหลาย มีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงช่องทางการได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 ตามความเหมาะสม

                  2.2 แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 

                          2.2.1 การประเมินผลโครงการ จำนวน 6 โครงการ กรอบวงเงินรวม115,494.95 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายรวม 114,576.03 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.20 ของกรอบวงเงิน โดยมีผลการดำเนินงานและผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้านอยู่ในระดับดีมาก

                          2.2.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โครงการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน และภาคธุรกิจของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 4 ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 42,292.35 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่คาดว่ารัฐจะได้กลับคืนสูงสุดภายใน 3 ปี จำนวน 8,162.42 ล้านบาทและส่งผลกระทบทางสังคม เช่น ลดความเครียดของประชาชนและชะลอการเกิดหนี้เสีย

                          2.2.3 ปัญหาและอุปสรรค เช่น (1) ปัญหาการโอนเงินไม่สำเร็จและโอนเงินล่าช้าเนื่องจากข้อจำกัดของธนาคารกรุงไทยซึ่งทำรายการโอนเงินได้ไม่เกินวันละ2 ล้านราย (2) ปัญหาการทุจริตและบุคลากรไม่เพียงพอ (3) กรอบวงเงินกู้โครงการไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานและ (4) มีข้อร้องเรียนจากผู้ประกันตน ซึ่งจากการตรวจสอบรายชื่อเบื้องต้นพบว่าเป็นผู้ไม่ได้รับสิทธิตามเงื้อนไขของโครงการ

                          2.2.4 ข้อเสนอแนะ เช่น (1) หน่วยงานรับผิดชอบโครงการควรมีการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชีธนาคารเพื่อลดปัญหาการโอนเงินไม่สำเร็จและการโอนซ้ำ และร่วมมือกับธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน เพื่อเพิ่มช่องทางในการโอนเงินให้เร็วขึ้น (2) ควรจัดสรรงบประมาณสำหรับจ้างบุคลากรเพิ่มเติมชั่วคราวเพื่อช่วยในการตรวจสอบ และตอบข้อซักถามและข้อร้องเรียนต่างๆ (3) ควรมีการวางแผนการหารายได้และบริหารจัดการด้านการเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมจากกรอบวงเงินกู้โดยไม่ผลักภาระให้กับประชาชน และ (4) ควรวิเคราะห์ประเด็นที่มีข้อร้องเรียนจากผู้ประกันตนเพื่อนำไปปรับปรุงการสื่อสารและทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมาย

                  2.3 แผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

                          2.3.1 การประเมินผลโครงการ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค และโครงการการเพิ่มวงเงินสนับสนุนโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 กรอบวงเงินรวม 60,299.19 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่าย 60,299.19 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100 ของกรอบวงเงิน โดยมีผลการดำเนินงานและผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้านอยู่ในระดับดีมาก

                          2.3.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 30.09 ล้านบาท และมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี ที่คาดว่ารัฐจะได้กลับคืนสูงสุดภายใน 3 ปี จำนวน 5.81 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางสังคมที่สำคัญ เช่น ลดการเลิกจ้างงาน เพิ่มทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมการเป็นสังคมไร้เงินสด

                          2.3.3 ปัญหาและอุปสรรค เช่น (1) นายจ้างบางส่วนไม่สามารถนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคมเพื่อเข้าร่วมโครงการเนื่องจากไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีและบางรายไม่ส่งข้อมูลตามเงื่อนไข (2) หน่วยงานขาดความเข้าใจกฎและระเบียบในการใช้เงินจากแหล่งเงินกู้ และ (3) บุคลากรและทรัพยากรของมหาวิทยาลัยขาดความพร้อมในการบริหารแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้

                          2.3.4 ข้อเสนอแนะ เช่น (1) ควรมีแผนสำรองให้กับนายจ้างที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบ e-Service ได้ เช่น การลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือโดยตรง และการหาแนวทางให้นายจ้างสามารถเข้าถึงระบบและปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้ในอนาคต (2) ควรมีการศึกษากฎ ระเบียบ และอำนาจในการอนุมัติหรือก่อหนี้ผูกพันของมหาวิทยาลัย มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะทำให้โครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์และมีการเตรียมแผนสำรองเพื่อให้สามารถบริหารจัดการโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ และ (3) ควรวางแผนการส่งมอบแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปพัฒนาต่อ หรือจัดหาทุนวิจัยในการจัดทำโครงการเพิ่มเติมเพื่อผลักดันให้โครงการบรรลุซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรจำนวนมาก

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 พฤษภาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A5299

Click Donate Support Web  

MTL 720x100

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!