หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV8


รายงานประจำครึ่งปี (กรกฎาคม-ธันวาคม 2565) ของธนาคารแห่งประเทศไทย

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานประจำครึ่งปี (กรกฎาคม-ธันวาคม 2565) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ ธปท. พ.ศ. 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 61 ซึ่งบัญญัติให้ทุกหกเดือน ให้ ธปท.จัดทำรายงานสภาพเศรษฐกิจนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน นโยบายระบบการชำระเงิน แนวทางการดำเนินงาน และประเมินผล เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. ภาวะเศรษฐกิจ

                  1.1 เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นในทุกหมวดหมู่สินค้า และการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ดีขึ้น ส่วนการส่งออกบริการปรับตัวดีขึ้นหลังจากผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวทั้งจากการอุปโภค บริโภค และการลงทุนของภาครัฐ

                  1.2 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐและดัชนีค่าเงินบาทเฉลี่ยอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งหลังของปีตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และดัชนีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปี ตามการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ชะลอลงและมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นศูนย์ (Zero-COVID) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

                  1.3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 6.54 เพิ่มขึ้นจากในช่วงครึ่งแรกของปีอยู่ที่ร้อยละ 5.61 ตามราคาอาหารสด อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานทยอยคลี่คลายตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปีผู้ประกอบการทยอยส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น เช่น อาหารสำเร็จรูป และค่าโดยสารสาธารณะ ทั้งนี้ จะต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่อาจส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้น

                  1.4 เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากในช่วงครึ่งแรกของปีที่ขาดดุล 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขาดดุลลดลงจากรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นและรายจ่ายค่าระวางสินค้าที่ลดลงขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงตามการส่งออกสินค้าที่ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

          2. การดำเนินงานของ ธปท. สรุปได้ ดังนี้

                  2.1 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายการเงิน ประกอบด้วย

                          2.1.1 เป้าหมายนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลางและสำหรับปี 2566 ต่อเนื่องจากปี 2565

                          2.1.2 การดำเนินนโยบายการเงิน

                                  (1) นโยบายอัตราดอกเบี้ย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 กนง.ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 3 ครั้ง โดย ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.25 ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับสูงขึ้นแต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของสินเชื่อและการระดมทุนของภาคเอกชนโดยรวม ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม

                                  (2) นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวนตามนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา โดยปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงแรกจากการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นต้นมา ตามการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะชะลอการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งผลจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ของจีนในเดือนธันวาคม 2565 และการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศของจีนในเดือนมกราคม 2566 ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศให้ยืดหยุ่นและคล่องตัวขึ้น เช่น การขยายขอบเขตการทำธุรกรรมและการสนับสนุนให้มีผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันและส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านเงินตราต่างประเทศของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย

                                  (3) การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. เห็นความสำคัญของมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สำหรับกลุ่มเปราะบางเนื่องจากฐานะการเงินของภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังเปราะบางและอ่อนไหว รวมถึงภาระหนี้ที่สูงขึ้น กนง. จึงเห็นควรปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาวของลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

                  2.2 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายสถาบันการเงิน สรุปได้ ดังนี้ 

                          2.2.1 ด้านนโยบายกำกับสถาบันการเงินและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม เช่น (1) การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาล และกลไกการควบคุมภายในของสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงินใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) หลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลเพื่อจัดหมวดหมู่และสร้างความยืดหยุ่นให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และ 2) หลักเกณฑ์ด้านกลไกการควบคุมภายในเพื่อยกระดับแนวปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน (2) การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรมใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1) การขยายขอบเขตการบังคับใช้ให้ครอบคลุมผู้ให้บริการภายใต้การกำกับของ ธปท. และ 2) การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยขยายขอบเขตหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมลูกหนี้รายใหญ่และบังคับใช้กับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเพิ่มเติม และ (3) การประเมินธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ โดยจะทบทวนกรอบการประเมินธนาคารพาณิชย์ให้สอดรับกับภูมิทัศน์ใหม่ของภาคการเงินไทยและครอบคลุมถึงความเสี่ยงใหม่ๆ เช่น ความเชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

                          2.2.2 ด้านการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้แก่ (1) แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยจะจัดทำเอกสารทิศทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจร ประกอบด้วย การบรรเทาภาระหนี้เดิมและการดูแลการปล่อยหนี้ให้มีคุณภาพ (2) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะจัดทำเอกสารทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ซึ่งจะมีการวางรากฐานที่สำคัญ เช่น การจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน การเร่งส่งเสริมให้สถาบันการเงินผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานอย่างมีมาตรฐาน และการยกระดับความรู้และความชำนาญของบุคลากรภาคการเงิน และ (3) กรอบหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา โดยจะมีผู้ให้บริการประเภทใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี บริการดิจิทัล และข้อมูลที่หลากหลาย มาพัฒนาบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยและ SMEs

                  2.3 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายระบบชำระเงินเพื่อให้ระบบชำระเงินของไทยมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัย และยกระดับการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมีการดำเนินงาน เช่น (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันและเชื่อมโยงกันได้ โดยจัดทำโครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business เพื่อส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลและการชำระเงินด้วยดิจิทัลอย่างครบวงจร รวมทั้งคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566 (2) การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการแข่งขันของผู้ให้บริการการชำระเงินและการใช้เทคโนโลยีใหม่พัฒนานวัตกรรมการชำระเงินในประเทศและระหว่างประเทศ โดยผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมการให้บริการ QR Code แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งได้มีการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code เรียบร้อยแล้วกับราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมเวียดนาม มาเลเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ (3) การขยายและส่งเสริมการชำระเงินด้วยดิจิทัลให้ครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยส่งเสริมให้ระบบขนส่งสาธารณะรองรับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิต รวมทั้งจะมีการเพิ่มช่องทางการชำระค่าโดยสารผ่านทางดิจิทัลต่อไป (4) การให้ความรู้เกี่ยวกับการชำระเงินด้วยดิจิทัลอย่างปลอดภัย โดยมีการลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องการใช้งานธนบัตรอย่างถูกต้องปลอดภัยและและนำการใช้งานการชำระเงินด้วยดิจิทัลให้กับกลุ่มแม่ค้า และ (5) การปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคหรือมีขั้นตอนมากเกินจำเป็น และการวางกรอบกำกับดูแลให้เหมาะสมกับนวัตกรรมทางการเงินและการพัฒนาเครื่องมือการกำกับดูแล โดยได้พัฒนาเครื่องมือในการกำกับตรวจสอบบนฐานความเสี่ยงและการกำกับตรวจสอบแบบต่อเนื่อง มีเครื่องมือที่นำมาใช้แล้ว ได้แก่ e-Payment Dashboard ที่สะท้อนความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและความเสี่ยงด้านกฎระเบียบของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และเครื่องมือเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านการกำกับดูแลกิจการตามหลักการสอบทานและถ่วงดุล

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 พฤษภาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A5298

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

MTL 720x100

TU 720 x 109

sme 720x100

ธกส 720x100

SPALAI 720x100

PF 720x100

TOA 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!