หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

TRIS7 1


ทริสเรทติ้ง เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป’ เป็น ‘A-‘ จาก ‘BBB+’ และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต เป็น ‘Stable’ จาก ‘Negative’

ทริสเรทติ้ง เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHFG) เป็นระดับ ‘A-‘ จากเดิมที่ระดับ ‘BBB+’ และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ จาก ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’

ทั้งนี้ การที่บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการภายใต้ LHFG Group จึงทำให้อันดับเครดิตของบริษัทอยู่ที่ระดับ ‘a’ ซึ่งต่ำกว่าอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ (Group Credit Profile – GCP) อยู่ 1 ขั้นอันเนื่องมาจากการด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้างของบริษัท

ในขณะที่การประเมินอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจของ LHFG Group นั้นอ้างอิงจากอันดับเครดิตรวมของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LHBANK, อันดับเครดิต ‘A/Stable’) ตลอดจน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (LH Fund) และ บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LHS, อันดับเครดิต “BBB/Stable”)

โดยอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจได้รับการปรับเพิ่มขึ้น 3 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของกลุ่มธุรกิจ (Group Stand-alone Credit Profile – Group SACP) ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการประเมินสถานะของ LHFG ที่ทริสเรทติ้งมองว่าเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC Bank) (ได้รับอันดับเครดิต ‘A/Stable’ จาก S&P Global Ratings)

ซึ่งเป็นไปตาม ‘เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ’ ของทริสเรทติ้ง ในการนี้ สถานะของ LHFG ในกลุ่มสะท้อนถึงการอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของ CTBC Bank โดยผ่านการจัดทำงบการเงินรวมของบริษัท ตลอดจนการบูรณาการในด้านการปฏิบัติงานที่เพิ่มขึ้นและการที่ทั้ง LHFG และบริษัทย่อยหลักที่ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์คือ LHBANK ได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจาก CTBC Bank

ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรของ LHBANK อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจอันเนื่องมาจากสถานะในการเป็น’บริษัทหลัก’ (Core Entity) ของ LHFG Group

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังลดอันดับเครดิตเฉพาะของกลุ่มธุรกิจของ LHFG เป็นระดับ ‘bbb’ จากเดิมที่ระดับ ‘a-‘ ซึ่งสะท้อนถึงสถานะเงินทุนรวมและกำไรที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญของบริษัท รวมไปถึงขนาดของธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กของบริษัทย่อยทั้งหมดของบริษัทอีกด้วย

 

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ CTBC Bank

ทริสเรทติ้ง พิจารณาว่า LHFG เป็น ‘บริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์’ (Strategically Important Subsidiary) ของ CTBC Bank โดย CTBC Bank นั้นเป็นบริษัทย่อยหลักที่ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของ CTBC Financial Holding Co., Ltd.

โดย CTBC Bank เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ LHFG ที่สัดส่วน 46.6% ในการนี้ CTBC Bank มีอำนาจในการควบคุมบริษัทผ่านการจัดทำงบการเงินรวมและการกำกับดูแลกลยุทธ์และการดำเนินงานผ่านทางคณะกรรมการบริษัท โดยคณะกรรมการบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจาก CTBC Bank นั้นมีจำนวนที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการที่ไม่เป็นอิสระของ LHFG นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงที่สำคัญ ๆ ของ LHFG ยังได้รับการแต่งตั้งจาก CTBC Bank อีกด้วย

ปัจจุบัน LHFG เป็นการลงทุนในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ CTBC Group บริษัทมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายทางกลยุทธ์ของ CTBC Group ในการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลยุทธ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของ CTBC Group ในการที่จะเป็นธนาคารชั้นนำในระดับภูมิภาคในทวีปเอเชีย

ทริสเรทติ้ง เชื่อว่า CTBC Bank มีพันธสัญญาที่เข้มแข็งในระยะยาวที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินและการดำเนินธุรกิจแก่ LHFG และ LHBANK รวมถึงการสนับสนุนพิเศษในยามที่ LHFG และ LHBANK มีปัญหาทางการเงิน

ในด้านการสนับสนุนทางการเงินนั้น ปัจจุบัน CTBC Bank ให้วงเงินสินเชื่อระหว่างธนาคารจำนวน 375 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ LHBANK เพื่อสนับสนุนความต้องการเงินทุนในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ของธนาคาร ซึ่งต่อมาจำนวนเงินดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอีก 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 ภายหลังจากที่ LHFG ได้กลายมาเป็นบริษัทย่อยของ CTBC Bank

 

มีบูรณาการที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบูรณาการทางธุรกิจที่เข้มแข็งมากขึ้นนั้นมีพยานหลักฐานที่เห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นการที่ CTBC Bank มีส่วนร่วมมากขึ้นในการบริหารและการปฏิบัติงานของทั้ง LHFG และ LHBANK โดยการแต่งตั้งผู้แทนอาวุโสของหน่วยงานทั้งสองแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยธุรกิจ (Business Unit – BU) และหน่วยปฏิบัติการ (Functional Unit – FU) ที่สำคัญๆ

ในขณะเดียวกัน ในปัจจุบัน LHFG และ LHBANK ได้รับการบูรณาการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการรายงานแบบเมทริกซ์ของ CTBC Bank แล้ว โดยผู้บริหารระดับสูงของ LHBANK มีหน้าที่ต้องรายงานต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องของ CTBC Bank

นอกเหนือจากผู้บริหารสูงสุดของ LHFG ซึ่งก็เป็นตัวแทนมาจาก CTBC Bank เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ LHFG ยังได้วางกรอบการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับกรอบการบริหารความเสี่ยงของ CTBC Bank อีกทั้งกลยุทธ์ทางธุรกิจและเป้าหมายทางการเงินก็ยังต้องได้รับการอนุมัติจาก CTBC Bank อีกด้วย

 

มีสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งด้านธุรกิจการเงินที่ไม่มีการดำเนินกิจการ (Non-operating Financial Holding Company -- NOHC)

LHFG ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดยผ่านทาง LHBANK ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดและมีสินทรัพย์รวมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 95% ของสินทรัพย์รวมของกลุ่ม ส่วนบริษัทย่อยที่ดำเนินกิจการอื่น ๆ ภายใต้กลุ่มยังประกอบไปด้วย LH Fund และ LHS

ทั้งนี้ อันดับเครดิตของ LHFG ต่ำกว่าอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจของ LHFG Group อยู่ 1 ขั้นซึ่งสะท้อนถึงการด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้างของบริษัทที่ด้อยกว่าภาระผูกพันของบริษัทที่มีต่อภาระผูกพันของบริษัทย่อยในการเรียกร้องสินทรัพย์ในการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้งหลาย

ในฐานะที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งด้านธุรกิจการเงินที่ไม่มีการดำเนินกิจการ LHFG ต้องพึ่งพารายได้เงินปันผลจาก LHBANK เพื่อนำมาใช้ชำระหนี้ ดังนั้น บริษัทจึงมีความเสี่ยงที่อาจได้รับการแทรกแซงในด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการรับเงินปันผลจาก LHBANK ได้ในภาวะที่บริษัทมีวิกฤตการณ์ด้านการเงิน

 

สถานะเงินกองทุนอ่อนแอลง

การทบทวนอันดับเครดิตเฉพาะของกลุ่มธุรกิจในครั้งนี้เป็นไปตามการประเมินสถานะเงินกองทุนของ LHFG โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 – CET-1) ซึ่งลงมาอยู่ที่ระดับ 13.4% ณ สิ้นปี 2565 จากระดับ 16.7% ณ สิ้นปี 2563

โดยระดับเงินกองทุนที่ลดลงเป็นผลมาจากการขยายตัวเป็นอย่างมากของสินเชื่อ ตลอดจนการขาดทุนจากการประเมินมูลค่าเงินลงทุน และความสามารถในการสร้างผลกำไรที่ลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ในการนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่าอัตราส่วน CET-1 ของ LHFG จะยังคงลดลงต่อไปโดยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 12% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ทั้งนี้ หากอัตราส่วน CET-1 ลดลงต่ำกว่า 12% เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง อันดับเครดิตเฉพาะของกลุ่มธุรกิจก็อาจมีแรงกดดันในด้านลบได้

 

ขนาดของธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กของบริษัทย่อยจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นผ่านการผสานพลังทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น

สถานะทางธุรกิจของ LHFG ซึ่งพิจารณาในแง่ธุรกิจโดยรวมนั้นยังคงมีข้อจำกัดจากขนาดของธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กของบริษัทย่อยต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง LHBANK ซึ่งมีสถานะเครดิตยึดโยงกับอันดับเครดิตของกลุ่ม ดังนั้น ขนาดธุรกิจของธนาคารจึงมีผลกระทบโดยตรงต่อการประเมินสถานะเครดิตของกลุ่ม

ทริสเรทติ้ง มองว่า การลงทุนอย่างต่อเนื่องของ LHFG เพื่อยกระดับขีดความสามารถในด้านดิจิทัลให้แก่บริษัทลูกในเครือนั้นถือว่าเป็นพัฒนาการในทางที่ดีซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือภายในกลุ่มให้ค่อยๆ แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและยกระดับตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทย่อยของบริษัท

โดยเทคโนโลยีใหม่ที่ LHBANK เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แก่ ‘LHB You’ ซึ่งเป็นช่องทางธุรกรรม (แอปพลิเคชั่น) ด้านการธนาคารบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ ‘Profita’ ซึ่งเป็นช่องทางธุรกรรมการลงทุน

 

ความสามารถในการทำกำไรฟื้นตัวขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคโควิด 19

ทริสเรทติ้ง คาดว่า ความสามารถในการทำกำไรของ LHFG ซึ่งวัดจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (Return on Average Assets -- ROAA) จะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทอยู่ที่ระดับ 0.56% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 1.01%

ซึ่งได้รับแรงกดดันจากการมีสัดส่วนการให้สินเชื่อแก่บริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในระดับสูงและการมีต้นทุนด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น LHFG มีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิที่ปรับด้วยความเสี่ยง (Risk-adjusted Net Interest Margin -- NIM) อยู่ที่ระดับ 1.2% ในปี 2565

ซึ่งสูงขึ้นจากระดับ 0.8%-0.9% ในช่วงระหว่างปี 2563-2564 แต่ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิที่ปรับด้วยความเสี่ยงของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับ 1.2% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568

 

คาดว่าสินเชื่อและรายได้จะมีความหลากหลายมากขึ้น

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา LHFG มีพัฒนาการที่ดีในการสร้างความหลากหลายของสัดส่วนในการให้สินเชื่อและการลดการกระจุกตัวของสินเชื่อ ความเสี่ยงจากการมีสัดส่วนลูกค้าในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และผู้กู้รายใหญ่ที่สุด 20 รายมีทิศทางที่ลดลง

เมื่อพิจารณาจากกลยุทธ์ของบริษัทที่จะมุ่งเน้นลูกค้าในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมทั้งกลุ่มลูกค้ารายย่อยแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนของสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 35% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 40%

ในส่วนของโครงสร้างรายได้นั้น สัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมสุทธิของบริษัทยังคงอยู่ในระดับปานกลางที่ 9.3% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในระยะที่ยาวนานกว่านี้ โดยได้แรงหนุนจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ตลอดจนส่วนต่างจากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ บริการการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) และธุรกิจประกัน

 

คุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงได้รับการชดเชยจากการตั้งสำรองที่แข็งแกร่ง

คุณภาพสินทรัพย์ของ LHFG สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ของ LHBANK ทั้งนี้ คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของธนาคารอ่อนแอลงตั้งแต่ปี 2563 และอาจกลายมาเป็นประเด็นกังวลเนื่องจากการขยายการเติบโตเป็นอย่างมากในกลุ่มธุรกิจ SME แม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ไม่รวมสินทรัพย์ระหว่างธนาคาร) ที่ระดับ 2.4% ณ สิ้นปี 2565 นั้นยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.4%

แต่สินเชื่อที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อสินเชื่อรวม (Stage-2 Loans to Total Loans) นั้นได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 2 เท่าโดยอยู่ที่ระดับ 5.0% ณ สิ้นปี 2565 จาก 2.75% ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งมาจากกลุ่ม SME เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม LHBANK ได้ตั้งสำรองหนี้สูญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อาจเกิดขึ้นจากสินเชื่อภายใต้มาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐในช่วงการแพร่ระบาด

โดยบริษัทมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ระดับ 221% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 172%

 

พึ่งพาเงินฝากรายย่อยที่มีต้นทุนสูง

สถานะด้านเงินทุนของ LHFG ซึ่งสะท้อนจากความสามารถในการระดมเงินฝากของ LHBANK ยังคงเป็นข้อจำกัดต่อสถานะเครดิตของบริษัท สัดส่วนเงินฝากจากลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 59% ของเงินฝากทั้งหมดของธนาคาร ณ สิ้นปี 2565 จากระดับ 54% ของเงินฝากทั้งหมด ณ สิ้นปี 2563

อย่างไรก็ตาม ระดับดังกล่าวยังถือว่าต่ำกว่าของธนาคารขนาดเล็กรายอื่นๆ สัดส่วนของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current and Savings Account – CASA) ต่อเงินฝากรวมของ LHBANK ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 37.5% ณ สิ้นปี 2565 จากระดับ 50.7% ณ สิ้นปี 2564

ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าธนาคารยังคงพึ่งพาเงินฝากประจำที่มีต้นทุนสูงจากลูกค้าบุคคลรายใหญ่เช่นเดียวกับธนาคารขนาดเล็กรายอื่นๆ ซึ่งทำให้ต้นทุนเงินฝากของธนาคารสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

 

สถานะสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ

การประเมินสถานะสภาพคล่องของ LHFG นั้นทริสเรทติ้ง จัดให้อยู่ในระดับที่เพียงพอซึ่งสะท้อนสถานะสภาพคล่องของ LHBANK โดยอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio – LCR) ของ LHBANK อยู่ที่ระดับ 132% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ระดับ 100% และเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 186% ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของ LHFG ในระหว่างปี 2566-2568 มีดังต่อไปนี้

 

  • อัตราการเติบโตของสินเชื่อ: 10% ต่อปี
  • อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ: 2.18%-2.28%
  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวม: 44%
  • ต้นทุนทางเครดิต: 1.3%
  • อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมรายการสินทรัพย์ระหว่างธนาคาร): 3.2%-4.7%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า LHFG จะยังคงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ CTBC Bank ต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้ง ยังคาดว่า บริษัทจะขยายธุรกิจธนาคารพาณิชย์ออกไปอย่างต่อเนื่องโดยยังคงรักษาระดับเงินกองทุนและคุณภาพสินทรัพย์เอาไว้ได้ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้ง ก็คาดว่า บริษัทจะยังคงรักษาอัตราส่วน CET-1 ของบริษัทให้สูงกว่าระดับ 12% เอาไว้ได้ด้วยเช่นกัน

 

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง

        ทริสเรทติ้ง อาจเพิ่มอันดับเครดิตของ LHFG หากสถานะเครดิตของบริษัทที่มีต่อกลุ่มเพิ่มสูงขึ้นหรืออันดับเครดิตเฉพาะของกลุ่มธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสถานะกลุ่มของ LHFG ที่สูงขึ้นนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทอย่างมีนัยสำคัญของ CTBC Bank  

       ในขณะที่อันดับเครดิตเฉพาะของกลุ่มธุรกิจที่สูงขึ้นนั้นอาจเกิดขึ้นจากอัตราส่วน CET-1 ที่แข็งแกร่งขึ้นของ LHFG ซึ่งเพิ่มขึ้นเกินกว่า 15% เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องในขณะที่บริษัทยังคงรักษากำไรและคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ดีเอาไว้

     ในทางตรงกันข้าม หากอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจได้รับการปรับลดลง ทริสเรทติ้งก็อาจปรับลดอันดับเครดิตของ LHFG ลงได้ ทั้งนี้ การปรับลดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจอาจเป็นผลมาจากการลดสถานะของ LHFG ที่มีต่อกลุ่มหรือการลดลงของอันดับเครดิตเฉพาะของกลุ่มธุรกิจ

       ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดจากการลดลงของอัตราส่วน CET-1 ที่ต่ำกว่าระดับ 12% เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง และ/หรือคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธนาคาร, 20 มีนาคม 2566

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565

 

บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHFG)

อันดับเครดิตองค์กร:

A-

แนวโน้มอันดับเครดิต:

Stable

 

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com 

ติดต่อ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

      © บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้

      ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

 

Click Donate Support Web  

kasat 720x100QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!