หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

TRIS7 2


ทริสเรทติ้ง จัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ‘บ.ทิพยประกันภัย’ที่ ‘AAA’ แนวโน้ม’Stable’

ทริสเรทติ้ง จัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Financial Strength Rating – FSR) ของ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) (TIP) ที่ระดับ ‘AAA’ พร้อมแนวโน้ม ‘Stable’ หรือ’คงที่’ โดยอันดับความแข็งแกร่งฯ ดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของ TIP ที่ได้รับการป้องกันมิให้ความสามารถในการชำระหนี้ได้รับผลกระทบจากการแทรกแซงของกลุ่มธุรกิจหรือบริษัทแม่ (Insulated Entity) ภายใต้ TIPH Group ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจประกันภัยที่มี บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (TIPH – อันดับเครดิต’AA/Stable’) เป็นตัวแทนกลุ่ม

ทั้งนี้ TIP เป็นบริษัทลูกของ TIPH และเป็นบริษัทหลักที่ดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยของ TIPH Group

อันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile – SACP) ของ TIP อยู่ที่ระดับ ‘aaa’ และเนื่องจาก TIP เป็นบริษัทหลักของ TIPH Group อันดับเครดิตเฉพาะของ TIP จึงสะท้อนถึงสถานะเครดิตของกลุ่ม (Group Credit Profile – GCP) อีกด้วย ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของ TIP

สะท้อนถึงสถานะความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีเยี่ยม ตลอดจนสถานะความเสี่ยงทางการเงินที่แข็งแกร่งมาก รวมถึงกรอบธรรมาภิบาลและสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ในการนี้ ทริสเรทติ้งประเมินให้ธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำซึ่งสะท้อนถึงการกำกับดูแลที่เข้มงวดและการควบคุมที่ใกล้ชิด

 

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็น Insulated Entity และเป็นบริษัทหลักภายใต้ TIPH Group

ทริสเรทติ้ง คาดว่า TIP จะยังคงสถานะในการเป็นบริษัทหลักของ TIPH Group อยู่ได้ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ TIP จะยังคงดำเนินกิจการในฐานะธุรกิจประกันภัยหลักภายใต้แผนการปรับโครงสร้าง 3-5 ปีของ TIPH โดยแผนดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะจัดระเบียบธุรกิจของกลุ่มให้เป็นธุรกิจประกันภัยหลัก ตลอดจนธุรกิจสนับสนุนการประกันภัย และธุรกิจอื่น ๆ

TIP ถือหุ้นโดย TIPH ในสัดส่วน 99.05% ณ เดือนกันยายน 2565 สินทรัพย์รวมของ TIP มีสัดส่วนมากกว่า 98% ของสินทรัพย์รวมของ TIPH ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยทั้งสองบริษัทมีโครงสร้างคณะกรรมการและสมาชิกที่เหมือนกันเกือบทั้งหมด

ทริสเรทติ้ง พิจารณาว่า TIP เป็นบริษัทที่ได้รับการป้องกันมิให้ความสามารถในการชำระหนี้ได้รับผลกระทบจากการแทรกแซงของกลุ่มธุรกิจหรือบริษัทแม่ภายใต้ TIPH Group ตามข้อจำกัดด้านกฎระเบียบที่ไม่อนุญาตให้ TIP สามารถให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ TIPH และหน่วยงานอื่น ๆ ของกลุ่มได้หากการสนับสนุนดังกล่าวจะทำให้ความแข็งแกร่งด้านเงินทุนของ TIP ลดลงอย่างไม่เหมาะสม

เป็นผู้นำด้านการประกันวินาศภัยที่มีความหลากหลาย

ทริสเรทติ้งคาดว่า TIP จะยังคงสถานะทางการแข่งขันในฐานะที่เป็นหนึ่งในบริษัทประกันวินาศภัยชั้นนำของประเทศไทยต่อไปจากการมีปัจจัยสนับสนุนทั้งส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่ง แบรนด์ที่มีชื่อเสียงมั่นคง และธุรกิจที่หลากหลาย โดย TIP มีส่วนแบ่งทางการตลาดโดยรวมของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง (Direct Written Premium) อยู่ที่ระดับ 10.9% ในปี 2564 จัดเป็นอันดับที่ 2 ในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยของไทย

TIP เป็นผู้นำในด้านการให้บริการรับประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงที่ระดับ 19.8% ในปี 2564 TIP ยังครองส่วนแบ่งทางการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในการรับประกันภัยด้านอุบัติเหตุและสุขภาพ (A&H) รวมทั้งเรื่องเบ็ดเตล็ดอื่นๆ และประกันอัคคีภัยในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ TIP ยังครองตำแหน่งทางการตลาดเฉพาะในกลุ่มประกันภัยรถยนต์ด้วยส่วนแบ่งที่ระดับ 4% มาตั้งแต่ปี 2564 อีกด้วย

ในมุมมองของทริสเรทติ้ง เห็นว่า TIP สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะทางธุรกิจและปัจจัยภายนอกที่ไม่พึงประสงค์ได้จากการรับประกันภัยที่มีความหลากหลาย การมีแนวปฏิบัติในการรับประกันภัยที่ระมัดระวัง และการให้บริการประกันภัยต่อ (Reinsurance) อย่างมีประสิทธิภาพ แหล่งรายได้ที่หลากหลายของ TIP ประกอบไปด้วยกำไรจากการรับประกันภัยที่มีความแข็งแกร่ง

รายได้ค่าจ้างและค่าบำเหน็จจำนวนมากจากการเอาประกันภัยต่อ และผลตอบแทนจากการลงทุนที่ค่อนข้างคงที่ นอกจากนี้ TIP ยังให้การรับประกันทั้งภายในกลุ่มลูกค้าองค์กรและกลุ่มลูกค้าบุคคลอีกด้วย โดยที่มาของกำไรจากการรับประกันภัยที่สำคัญโดยเฉลี่ยระหว่างปี 2559-2564 ประกอบไปด้วยการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (42%) เบ็ดเตล็ด (22%) อัคคีภัย (21%) และรถยนต์ (13%)

 

มีโครงข่ายการจัดจำหน่ายที่ดี

ทริสเรทติ้ง ประเมินให้โครงข่ายการจัดจำหน่ายของ TIP อยู่ในระดับที่ดี ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ TIP มีกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TIPH ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นั้นช่วยให้ TIP สามารถเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางของผู้ถือหุ้นดังกล่าวซึ่งเป็นฐานของพนักงานภาครัฐที่กว้างขวางโดยมีแรงกดดันด้านราคาที่ต่ำกว่า

นอกจากนี้ หน่วยงานดังกล่าวยังช่วยแนะนำธุรกิจสำหรับลูกค้าองค์กรและลูกค้าบุคคลได้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านนายหน้าประกันภัยที่ไม่ใช่ธนาคารและการทำธุรกรรมแบบดิจิทัลยังช่วยเสริมความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ TIP ได้อีกด้วย ทั้งนี้ การลงทุนในอนาคตในด้านนวัตกรรมทางการเงินและธุรกรรมแบบดิจิทัลของ TIPH นั้นสอดคล้องกับการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ส่วนแบ่งรายได้ของ TIP ให้เพิ่มยิ่งขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

 

ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง

TIP มีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง โดย TIP มีผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (Return On Average Equity – ROAE) อยู่ที่ระดับ 20%-25% ในช่วงปี 2559-2564 แม้จะคาดว่า ROAE ของ TIP จะลดลงสู่ระดับประมาณ 15% ในปี 2565 จากการมีค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่อยู่ในระดับสูง แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้นโดยคาดว่า ROAE จะกลับคืนสู่ระดับปกติที่ 20% ได้ในช่วงปี 2566-2567

สำหรับ ROAE ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นเกิดจากผลการดำเนินงานจากการรับประกันภัยที่ดีของ TIP ซึ่งมีอัตราส่วนรวม (Combined Ratio) เฉลี่ยที่ระดับประมาณ 80% ในช่วงปี 2559-2563 ตลอดจนรายได้ค่าจ้างและค่าบำเหน็จจำนวนมากจากการเอาประกันภัยต่อในสัดส่วนที่สูงและผลตอบแทนจากการลงทุนที่ระดับ 5%-6% ต่อปี

TIP มีการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนในส่วนของประกันโรคโควิด 19 เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับบริษัทประกันวินาศภัยอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) โดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 70% ในปี 2564 และ 87% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 อย่างไรก็ตาม กรมธรรม์ประกันโรคโควิด 19 ของ TIP นั้นมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยใน (IPD)

สำหรับ กรณีที่รุนแรงเท่านั้นซึ่งในสัดส่วนหลักจะได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัยต่อแบบอัตราส่วน (Quota Share)  การเคลมประกันโรคโควิด 19 โดยส่วนใหญ่ได้สิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2565 เนื่องจาก TIP ได้หยุดรับประกันโรคโควิด 19 ซึ่งให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา

 

เงินกองทุนแข็งแกร่ง

TIP น่าจะคงอัตราส่วนเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio – CAR) ให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า TIP มีเงินทุน (Total Capital Available – TCA) อยู่ที่ระดับ 7.2 พันล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2565 ซึ่งมีขนาดปานกลางเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งตามเกณฑ์ชี้วัดของทริสเรทติ้ง โดย TIP มีอัตราส่วนเงินกองทุนที่แข็งแกร่งที่ระดับ 220% ณ เดือนกันยายน 2565 หลังจากการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปจำนวน 300 ล้านบาทในเดือนเดียวกัน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนเงินกองทุนของ TIP จะคงอยู่ที่ระดับสูงกว่า 240% ได้ในระยะปานกลางด้วยสมมติฐานอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลของ TIP ที่ระดับ 50%

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังประมาณการอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับ (Gross Written Premium – GWP) ว่าจะกลับสู่ระดับปกติที่ 5%-6% ต่อปีตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไปหลังจากที่เพิ่มขึ้นเป็น 16% ต่อปีในช่วงปี 2563-2564 และคงที่ในปี 2565 อีกด้วย ในขณะที่สมมติฐานอื่น ๆ ของทริสเรทติ้งยังประกอบไปด้วย Loss Ratio โดยรวมที่จะกลับสู่ระดับปกติที่ 50%-55% ในช่วงระหว่างปี 2566-2567 หลังจากที่เพิ่มถึงระดับ 80% ในปี 2565 จากการมีค่าสินไหมประกันภัยโควิดจำนวนมาก

 

มีความเสี่ยงจากการผันผวนของเงินกองทุนที่จำกัด

ทริสเรทติ้ง คาดว่า เงินกองทุนของ TIP จะมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากความเสี่ยงจากการรับประกันภัยได้รับการจัดการที่ดี อีกทั้ง TIP ยังมีการใช้ประกันภัยต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีกลยุทธ์การลงทุนที่มุ่งเน้นรายได้ที่มั่นคง ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในการรับประกันที่ดีของ TIP

สะท้อนถึงความสามารถของ TIP ในการเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีเบี้ยประกันตามความเสี่ยงซึ่งตรวจสอบโดยทีมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่มีคุณวุฒิของบริษัท การแบ่งส่วนตลาดของผลิตภัณฑ์ตามพฤติกรรมของตลาดเป้าหมายช่วยให้ TIP ขายกรมธรรม์ประกันภัยได้โดยมีแรงกดดันด้านราคาที่น้อยกว่า นอกจากนี้ TIP ยังมีความร่วมมือในด้านการดำเนินงานและความเชี่ยวชาญกับบริษัทประกันภัยต่อซึ่งช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันอีกด้วย

เมื่อเทียบกับบริษัทประกันภัยอื่นแล้วจะเห็นว่า TIP มีการเอาประกันภัยต่อในระดับสูงเพื่อดำเนินธุรกิจภายใต้จำนวนเงินสูงสุดที่ TIP สามารถรับความเสี่ยงไว้เอง (Retention Limit) ได้ซึ่งส่งผลให้ TIP สามารถเพิ่มความสามารถในการรับประกันและลดความผันผวนของผลการดำเนินงานจากการรับประกัน ในการนี้ เพื่อที่จะติดตามความเสี่ยงของคู่สัญญาการประกันภัยต่ออย่างได้ผล TIP จึงทำการตรวจสอบอันดับเครดิต

ตลอดจนอัตราส่วนเงินกองทุน และขีดจำกัดของความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของบริษัทประกันภัยต่อแต่ละรายแบบเป็นการภายในอยู่เสมอ ทั้งนี้ การเอาประกันภัยต่อมักประกอบไปด้วยสัญญาแบบกำหนดสัดส่วนแน่นอน (Proportional Treaty) เพื่อร่วมรับความเสี่ยงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน TIP ยังทำสัญญาประกันภัยต่อแบบไม่เป็นสัดส่วน (Non-proportional Treaty) และสัญญาประกันภัยต่อเฉพาะราย (Facultative Reinsurance) อีกหลายฉบับเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและภัยที่มีลักษณะเฉพาะต่างๆ อีกด้วย ซึ่งความเสี่ยงประเภทหลักจากการรับประกันภัยสุทธิของ TIP ซึ่งได้แก่ อุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันภัยรถยนต์และทรัพย์สินนั้น โดยทั่วไปแล้วจะมีลักษณะที่กระจายตัวตามธรรมชาติ

ในด้านการลงทุนนั้น ทริสเรทติ้งก็คาดว่าความผันผวนของเงินกองทุนจากพอร์ตลงทุนของ TIP จะมีค่อนข้างจำกัดจากกลยุทธ์การลงทุนที่เน้นรายได้เป็นหลัก TIP มีการแบ่งเงินลงทุนออกเป็นกลุ่มตามวัตถุประสงค์ซึ่งประกอบไปด้วยเงินทุนหมุนเวียน การจัดการสินทรัพย์-หนี้สินสำหรับการชำระค่าสินไหมทดแทน ส่วนที่มุ่งเน้นผลตอบแทน และการบริหารเงินส่วนที่เหลือ โดยในสองส่วนแรกประกอบด้วยเงินสด ตราสารในตลาดเงิน หุ้นกู้รัฐบาล

และหุ้นกู้ภาคเอกชน ซึ่งน่าจะยังคงสัดส่วนที่ประมาณครึ่งหนึ่งของพอร์ตลงทุนรวมของ TIP ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า สำหรับกระบวนการลงทุนนั้น TIP จะยึดตามขีดจำกัดของความเสี่ยงสำหรับสินทรัพย์ในแต่ละประเภท รวมถึงอันดับเครดิตขั้นต่ำสำหรับหุ้นกู้ภาคเอกชน และมูลค่าความเสี่ยง (Value-at-Risk -- VAR) สำหรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้น

 

การบริหารความเสี่ยงและกรอบธรรมาภิบาลที่ครอบคลุม

การบริหารความเสี่ยงและกรอบธรรมาภิบาลของ TIP นั้นสอดคล้องกับกรอบการบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management – ERM) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของ TIP (Own Risk and Solvency Assessment – ORSA) ซึ่งกำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) TIP มีการควบคุมความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์และติดตามดัชนีความเสี่ยงหลัก (Key Risk Indicators – KRIs) เป็นประจำทุกเดือน

โดยมีการระบุดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (Risk Parameter) และจุดที่ต้องดำเนินการ (Trigger Point) ควบคู่ไปกับช่วงเบี่ยงเบนที่ยอมรับได้ (Tolerance Level) และมีแนวปฏิบัติในการรับมือกับความเปราะบางไว้อย่างชัดเจน โดยความเสี่ยงที่สำคัญ ๆ นั้นประกอบไปด้วย ความเสี่ยงด้านเงินกองทุน ความเสี่ยงจากการรับประกันภัย ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านตลาด TIP ยังประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสะท้อนความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้นนอกเหนือไปจากการประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนตามเกณฑ์ของ คปภ. อีกด้วย

นอกจากนี้ TIP ยังมีการประเมินผลกระทบจากภาวะวิกฤติภายใต้สถานการณ์จำลองที่หลากหลาย (Multiple-scenario Stress Test) เพื่อให้มั่นใจว่าระดับของอัตราส่วนเงินกองทุนของบริษัทนั้นอยู่เหนือระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่ 180% อีกด้วย ซึ่งการทดสอบดังกล่าวเป็นการจำลองผลกระทบจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในจำนวนที่สูงจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ตลอดจนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อและภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ TIP ยังติดตามความเสี่ยงขององค์กรและทบทวนกรอบการบริหารความเสี่ยงภายในอย่างน้อยปีละครั้งอีกด้วย

 

มีสภาพคล่องที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งคาดว่า TIP จะสามารถรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอได้จากการมีพอร์ตเงินลงทุนที่มีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงเมื่อเปรียบเทียบกับสำรองค่าสินไหมทดแทนของบริษัท ทั้งนี้ อัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ที่ระดับ 165.6% ณ เดือนกันยายน 2565 นอกเหนือจากเงินสด ตราสารในตลาดเงิน และเงินฝากแล้ว

TIP ยังมีการลงทุนทั้งหมดในสินทรัพย์ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งได้แก่พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน ตราสารทุน กองทุนรวม ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าผู้ถือหุ้นของ TIPH ซึ่งเป็นสถาบันการเงินรายใหญ่จะสามารถสนับสนุนสภาพคล่องเพิ่มเติมให้แก่ TIP ในรูปของวงเงินสินเชื่อได้เมื่อมีความจำเป็นอีกเช่นกัน

 

เป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวด

ความเสี่ยงของธุรกิจประกันวินาศภัยที่ทริสเรทติ้งประเมินนั้นสะท้อนให้เห็นถึงสถานะของธุรกิจดังกล่าวซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดของ คปภ. โดยกรอบการกำกับดูแลนั้นครอบคลุมการดำเนินงานในด้านประกันภัยที่สำคัญๆ ทั้งหมดอันประกอบไปด้วย ความเพียงพอของเงินกองทุน การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยและเงื่อนไขของการประกัน กรอบธรรมาภิบาลและการบริหารความเสี่ยง การประเมินมูลค่าของสัญญาประกัน

รวมถึงขอบเขตการลงทุนที่ได้รับอนุญาต มีการกำหนดความเพียงพอของเงินกองทุนตามกรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (ภายใต้มาตรฐาน RBC-2) ซึ่งมีการระบุน้ำหนักของความเสี่ยงในแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System – EWS) ที่กำหนดวิธีการติดตามสถานะทางการเงินของบริษัทประกันและขั้นตอนการแทรกแซงบริษัทประกันที่มีความเปราะบาง อีกทั้งกองทุนประกันภัยยังช่วยลดทอนความเสี่ยงในเชิงระบบจากกรณีที่เกิดการเคลมขนาดใหญ่และกรณีที่มีบริษัทประกันล้มละลายได้อีกด้วย

 

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจะอยู่ในระดับคงที่ในปี 2565 และที่ระดับ 5%-6% ในช่วงปี 2566-2567
  • อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนจะอยู่ที่ระดับ 77%-80% ในปี 2565 และที่ระดับ 50%-55% ในช่วงปี 2566-2567
  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ระดับ 13%-15% ในปี 2565 และที่ระดับ 21%-23% ในช่วงปี 2566-2567
  • ผลตอบแทนจากเงินลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4%-5%

 

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้ม’Stable’ หรือ’คงที่’สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าธุรกิจประกันวินาศภัยของ TIP จะยังคงแข็งแกร่งโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานะความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีเยี่ยม ผลการดำเนินงานจากการรับประกันภัยที่ดี เงินกองทุนที่แข็งแกร่ง การบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ และสภาพคล่องที่เพียงพออย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง

ทริสเรทติ้ง อาจปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน หรือ FSR ของ TIP ลงหากสถานะเงินกองทุนหรือสภาพคล่องของ TIP เสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเกิดจากผลขาดทุนมูลค่าสูงที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากมีหลักฐานพยานใดๆ ที่แสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการบริหารความเสี่ยงและระบบธรรมาภิบาลของ TIP อย่างมีนัยสำคัญก็อาจส่งผลกดดันต่อ FSR ได้

 

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตบริษัทประกัน, 9 กันยายน 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565

 

บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) (TIP)

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน:

AAA

แนวโน้มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน:

Stable

 

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com 

ติดต่อ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

      © บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้

     ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

 

 

Click Donate Support Web  

 

 

BANPU 720x100TU720x100EXIM One 720x90 C Jsme 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100pxPF 720x100

 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!