หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV 27


รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกันยายน และ 9 เดือนแรกของปี 2565

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกันยายน และ 9 เดือนแรกของปี 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

          1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย

                 การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2565 มีมูลค่า 24,919.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (888,371 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 7.8 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 9.0 การส่งออกในเดือนกันยายนยังขยายตัวได้ดีจากสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของไทย เดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 55.7 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและคำสั่งซื้อใหม่ของสินค้าส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ดี ค่าเงินบาทอ่อนค่า และค่าระวางเรือลดลง ส่งผลให้การส่งออกของไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกของไทย 9 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 10.6 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 8.6

                 มูลค่าการค้ารวม

                 มูลค่าการค้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนกันยายน 2565 การส่งออก มีมูลค่า 24,919.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.8 การนำเข้า มีมูลค่า 25,772.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.6 ดุลการค้า ขาดดุล 853.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กันยายนการส่งออก มีมูลค่า 221,366.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.6 การนำเข้า มีมูลค่า 236,351.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.7 ดุลการค้า ขาดดุล 14,984.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

                 มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกันยายน 2565 การส่งออก มีมูลค่า 888,971 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.4 การนำเข้า มีมูลค่า 929,732 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.7 ดุลการค้า ขาดดุล 41,361 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กันยายน) การส่งออก มีมูลค่า 7,523,817 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.3 การนำเข้า มีมูลค่า 8,148,602 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 32.3 ดุลการค้า ขาดดุล 624,785 ล้านบาท

 

ธกส 720x100

 

                 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

                 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 22 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 82.9 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 19.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแคนาดา) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 2.7 (ขยายตัวในตลาดอิรัก เบนิน แองโกลา แคเมอรูน และแคนาดา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 13.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 16.3 (ขยายตัวในตลาดลาว กัมพูชา สิงคโปร์ จีน และมาเลเซีย) ผลไม้แช่แข็งและผลไม้แห้ง ขยายตัวร้อยละ 31.5 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ แคนาดา และภูฏาน) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 14.3 (ขยายตัวในตลาดจีน รัสเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา และไต้หวัน) ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 43.2 (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวร้อยละ 7.7 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย อินเดีย บราซิล และสเปน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 5.6 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 13.7

                  การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

                  มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.4 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ขยายตัวร้อยละ 18.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และไอร์แลนด์) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 8.4 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 89.6 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ สหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย และเยอรมนี) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 115.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนเธอร์แลนด์ เมียนมา และไอร์แลนด์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 23.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อินเดีย และสิงคโปร์) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 49.2 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเบลเยียม) เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัวร้อยละ 77.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 10.4 (หดตัวในตลาดจีน อินเดีย ญี่ปุ่น กัมพูชา และมาเลเซีย) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 14.0 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม จีน และเมียนมา) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.0 

                  ตลาดส่งออกสำคัญ

                 การส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่องในหลายตลาดสำคัญ แต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงท่ามกลางความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยของประเทศคู่ค้าสำคัญ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 10.6 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 26.2 อาเซียน (5ร้อยละ 9.0 CLMV ร้อยละ 26.3 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 18.0 ขณะที่จีนและญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 13.2 และ 1.7 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 2.9 ขยายตัวในทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 15.5 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 47.5 และลาตินอเมริกา ร้อยละ 6.3 ขณะที่เอเชียใต้ ทวีปแอฟริกา และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 11.5 ร้อยละ 11.7 และร้อยละ 24.5 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่นๆ หดตัวร้อยละ 40.3 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 4.5

 

EXIM One 720x90 C J

 

          2. มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป

                 การส่งเสริมการส่งออก ในรอบเดือนที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ (1) ขยายช่องทางการตลาดอีคอมเมิร์ช โดยร่วมมือกับ Shopee ผลักดันผู้ประกอบการรายย่อยให้ก้าวสู่การค้าออนไลน์ไปยังต่างประเทศได้อย่างสะดวกมากขึ้น ผ่านโปรแกรม “Shopee International Platform” (SIP) โดยนำร่องตลาดส่งออกหลัก 3 ประเทศของภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ (2) ขยายความร่วมมือทางการค้ากับสิงคโปร์ จากผลการประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ ครั้งที่ 6 สิงคโปร์จะพิจารณาขึ้นทะเบียนฟาร์มไข่ไก่ ไข่นกกระทาออร์แกนิกให้แก่ไทย และยินดีเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่ประเทศไทยจัดขึ้น รวมทั้งหารือการทำธุรกรรมทางธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น และ (3) ผลักดันความร่วมมือการค้าไทย-เกาหลีใต้ ผ่านการทำ Mini-FTA ไทย-คยองกี ซึ่งถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าเชิงรุกกับเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดในเกาหลีใต้ โดยที่ไทยจะมีโอกาสขยายฐานการส่งออกสินค้า อาทิ น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ ไม้และชิ้นส่วน ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็นต้น

                 แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า ยังคงมีสัญญาณบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปีนี้ให้บรรลุตามเป้าหมาย ทั้งปัญหาขาดแคลนอุปทานที่เริ่มคลี่คลายและปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไร ก็ตาม ยังมีความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อันเกิดจากสถานการณ์เงินเฟ้อ และการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 พฤศจิกายน 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A11969

Click Donate Support Web  

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ใจฟู720x100px

ais 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!