หมวดหมู่: พาณิชย์

ลานีญาฝนหนัก


พาณิชย์ จับตาไทยเข้าสู่’ลานีญา’ฝนหนัก น้ำท่วม เสี่ยงผัก ผลไม้เสียหาย กระทบเงินเฟ้อ

สนค.จับตากลางปีนี้ ไทยจะเข้าสู่สภาวะ'ลานีญา' ทำให้ฝนตกหนักมากกว่าปกติ และอาจเกิดน้ำท่วม เสี่ยงมีผลกระทบต่อการปลูกผักและผลไม้ ทำให้ผลผลิตเสียหาย และราคาอาจปรับตัวสูงขึ้น จนกระทบต่อเงินเฟ้อ แต่ยังต้องติดตามต่อไป หากไม่รุนแรง จะส่งผลดี ผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น แต่หากรุนแรง ผลผลิตเสียหายแน่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องวางแผนรับมือให้ดี ส่วนพาณิชย์เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว 

     นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาน้ำเป็นสำคัญ

โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตรไทย แต่ในช่วงกลางปีนี้ มีแนวโน้มว่า อุณหภูมิความร้อนจะลดลงและเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านฤดูกาล โดยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อน ซึ่งจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.2567 และมีความน่าจะเป็นร้อยละ 60 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.2567

สำหรับ ลานีญาเป็นปรากฏการณ์ขั้วตรงข้ามกับเอลนีโญ เกิดจากกระแสลมที่พัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก มีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคดังกล่าวมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและอาจทำให้ฝนตกหนักมากกว่าปกติ

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การเกิดลานีญา จะมีผลกระทบต่อสินค้าสินค้าเกษตร อาทิ ผักสด และผลไม้สด เนื่องจากเป็นสินค้าที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์น้ำค่อนข้างมาก หากปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป จะกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก เป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยว และเกิดความเสียหายต่อผลผลิต

นำไปสู่การสูงขึ้นของระดับราคาสินค้าจากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง และยังจะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ หากราคาปรับตัวสูงขึ้น เพราะผักและผลไม้ มีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยประมาณร้อยละ 5.83

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะกลุ่มผักและผลไม้ เดือน ส.ค. ก.ย. และ ต.ค. ปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่า สูงขึ้นร้อยละ 11.81 12.43 และ 7.99 ตามลำดับ โดยสาเหตุสำคัญมาจากน้ำท่วมขังในพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง

และยังมีหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น เช่น ฟิลิปปินส์ เคยเจอน้ำท่วม สินค้าหมวดอาหาร เช่น ข้าว ผัก เพิ่มขึ้นร้อยละ 15-20 และออสเตรเลีย ซึ่งเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายเมืองสำคัญ อาทิ ซิดนีย์ และเมลเบิร์น บางพื้นที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทำการเกษตร ส่งผลให้ราคาสินค้าผักและผลไม้พุ่งสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 16

“สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและความเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา เป็นวัฏจักรตามธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ส่วนขนาดของผลกระทบคงต้องรอความชัดเจนของสถานการณ์อีกครั้ง

หากปีนี้ความรุนแรงของปรากฏการณ์ลานีญาอยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการเพาะปลูก มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการเกษตร แต่หากปรากฏการณ์ลานีญามีความรุนแรงจนถึงขั้นเกิดอุทกภัย อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร

และเกิดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง นอกจากผักและผลไม้ อาจส่งผลทางอ้อมไปยังกลุ่มสินค้าอื่นๆ ที่ใช้ผักและผลไม้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบ อาทิ อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง และอาหารโทรสั่ง

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคอยติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด วางแผนบริหารจัดการน้ำและช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิต พัฒนาพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งส่งเสริมการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ส่วนกระทรวงพาณิชย์ จะเตรียมรับมือและวางแผนด้านมาตรการช่วยเหลือ โดยจะพิจารณาถึงผลกระทบของมาตรการต่อทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคอย่างรอบด้าน ซึ่งคาดว่าการวางแผนรับมือที่ดีจะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้”นายพูนพงษ์กล่าว

 

Click Donate Support Web 

SME 720x100 66

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!