พิชัย ขีดเส้น 30 วัน จัดการสินค้านำเข้าไร้คุณภาพ ตั้งอนุกก.ดูแล SME เจอหางเลข แก้นอมินี
พิชัย เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายนัดแรก เผยทุกหน่วยงานร่วมมือแก้ปัญหา ตั้งเป้าสำเร็จใน 30 วัน พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ช่วย SME ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้า และแก้ปัญหานอมินี ระบุ TEMU เตรียมจดทะเบียนในไทยเร็วๆ นี้ กรมศุลกากร-อย.-สมอ.-สคบ. ยันเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้านำเข้ามากขึ้น สกัดสินค้าด้อยคุณภาพ และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแล้ว
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นครั้งแรก ได้มีการติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาในส่วนที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ พบว่าแต่ละหน่วยงานได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดมากขึ้น
โดยเฉพาะการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าตั้งแต่ด่านศุลกากร เพื่อป้องกันการนำเข้าที่ด้อยคุณภาพ ไร้มาตรฐาน จนส่งผลกระทบต่อ SME และผู้บริโภค ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มีความห่วงใยและได้สั่งการให้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
“การนำเข้าสินค้าที่ด้อยคุณภาพ ไร้มาตรฐาน และการทำธุรกิจของต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายไทย เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย และธุรกิจไทยเป็นอย่างมาก ขณะนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังช่วยกันแก้ปัญหา คาดว่า จะแก้ปัญหาได้สำเร็จในไม่เกิน 30 วัน และจะมีการประชุมคณะกรรมการอีกครั้งในเดือน ธ.ค.2567 ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ TEMU ที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคไทย ล่าสุด ทราบว่า กำลังจะเข้ามาจดทะเบียนธุรกิจในไทยแล้ว”นายพิชัยกล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 ชุด โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน คือ คณะอนุกรรมการแก้ปัญหา SME เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา SME ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าราคาถูก ไร้มาตรฐาน และส่งเสริมศักยภาพให้ SME ไทยสามารถทำธุรกิจแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศได้ และคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหานอมินี เพื่อแก้ปัญหาคนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยผิดกฎหมาย
นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมศุลการ กล่าวว่า ได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามากขึ้นกว่าเดิมที่มีความเข้มงวดอยู่แล้ว เพื่อสกัดสินค้าด้อยคุณภาพเข้าประเทศ โดยได้สแกนสินค้านำเข้า 100% ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ ตรวจสอบ 30%
นายสุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้แก้ไขกฎหมายการนำสินค้าติดตัว (ของใช้ส่วนตัว) เข้าไทยในกลุ่มสินค้านำร่อง คือ ผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องสำอาง จากเดิมให้นำสินค้าติดตัวในปริมาณที่กำหนดสำหรับใช้ภายใน 90 วัน แต่ได้แก้ไข้ใหม่โดยให้ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากเดิม เพื่อแก้ไขปัญหากองทัพมด และในเร็วๆ นี้ จะขยายไปยังกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร
นายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2567 เป็นต้นมา สมอ.ได้ยกเลิก Exempt 5 (สินค้าที่ สมอ. ควบคุม 144 รายการ สามารถนำเข้าได้ไม่ต้องขออนุญาต หากไม่ได้นำเข้ามาเพื่อจำหน่าย และไม่เกินจำนวนที่ สมอ.กำหนด) ทำให้การนำเข้าสินค้าควบคุม 144 รายการ ต้องขออนุญาตทุกกรณี ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด หรือนำเข้ามาเพียงไม่กี่ชิ้น
น.ส.ทรงศิริ จุมพล รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า สินค้าที่ผลิตและนำเข้าเพื่อขายในประเทศ ต้องติดฉลากแสดงรายละเอียดให้ผู้บริโภคทราบก่อนวางขาย ยกเว้นสินค้าที่ อย. ดูแล ส่วนสินค้าที่ซื้อผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ และมีผู้ให้บริการขนส่ง นำส่งสินค้าถึงผู้บริโภคนั้น จะให้ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงว่า ตามพิธีการศุลกากร มีผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ ใครบ้าง และในอนาคต อาจทำความร่วมมือกับแพลตฟอร์ม หรือปรับปรุงกฎหมายว่าการนำเสนอขายสินค้าต้องมีรายละเอียดของสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์มด้วย
พิชัย ถกด่วน 16 หน่วยงาน เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการนายกฯ แก้ปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพและธุรกิจ นอมินีต่างชาติ ตั้งเป้าเห็นผลเป็นรูปธรรมใน 30 วัน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้งที่ 1/2567 ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการเชิงรุกในการติดตามและเร่งรัดมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค และผู้ประกอบการ SMEs ของไทย
นายพิชัย กล่าวว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรก ซึ่งท่านนายกฯ มีความห่วงใยมาก โดยเฉพาะสินค้าที่ด้อยคุณภาพและมีผลกระทบต่อประชาชน คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมานี้ เป็นการดึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งรัดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เราตั้งใจดำเนินการตามข้อสั่งการท่านนายกฯ ทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน และจะจัดประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามความคืบหน้าและพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องต่อไป
วันนี้ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด โดยให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ทั้ง 2 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ ทำหน้าที่กำหนดมาตรการ ดำเนินการควบคุมและกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้า
ตลอดจนเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และ 2.คณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) เพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลและป้องปราม รวมถึงสืบสวน สอบสวนหรือตรวจสอบพฤติกรรมของบุคคลและนิติบุคคลที่อาจมีพฤติกรรมเป็นนอมินี
โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมาตนได้หารือร่วมกับนายหาน จื้อเฉียงเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งทางจีนยินดีให้ความร่วมมือ และต้องการรักษาความรู้สึกที่ดีกับไทย และวันที่ 4-6 พ.ย.นี้ ตนจะเดินทางไปจีนจะพบกับผู้บริหารระดับสูงของจีน จะได้ปรึกษาหารือกัน เพราะไทยยังต้องพึ่งพาจีนทั้งด้านการค้าและการลงทุน และไทยมีสินค้าหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาจีน เช่น มันสำปะหลัง วัว เหล็ก เป็นต้น ซึ่งหวังว่าเรากับจีนจะพึ่งพากันได้และไม่กระทบผู้ประกอบการไทย โดยวางแผนที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ผ่าน “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน” ที่จัดตั้งโดยคณะกรรมการหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน อีกด้วย
“ทุกหน่วยงานจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนแล้วว่า ได้รับการติดต่อจาก TEMU ว่าจะดำเนินจดจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยเร็วๆนี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มีการติดต่อแล้วให้ทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มงวด และจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทย เชื่อว่าภายใน 30 วันจะเห็นผล ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการมา ถ้ามีความกังวลเรื่องอาหารและผักผลไม้ที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ เราได้มีการให้ อย. และศุลกากร เข้มงวดเรื่องนี้เช่นกันไม่ต้องการให้สุขภาพของประชาชนมีปัญหา”นายพิชัยกล่าว
ด้านนายยุทธนา พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ทางศุลกากรมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด ที่มีประเด็นเรื่องสินค้าที่ด้อยคุณภาพ ที่ผ่านมาการนำเข้าที่มีปริมาณเล็กน้อย สมอ.ยินยอมให้นำเข้ามาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ปัจจุบัน สินค้าที่จำหน่ายภายในประเทศ จำเป็นต้องติด หรือมีใบอนุญาตจาก มอก.
นายสุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ในส่วนของ อย.เราดำเนินการตั้งแต่ที่ด่าน การคัดกรองเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายให้มีการนำสินค้าติดตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกองทัพมด เราลดความถี่และจำนวนที่นำเข้าติดตัวมาแต่ละครั้ง รวมทั้งมีการตรวจในพื้นที่ทั้ง กทม. และภูมิภาค ใน กทม. ดำเนินการลงพื้นที่ทุกสัปดาห์ ในต่างจังหวัดร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ดูว่ามีสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรอง อย. นำมาขายโดยไม่ถูกต้องอย่างเข้มข้นอยู่ตลอด
นางสาวทรงศิริ จุมพล รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ทาง สคบ. มีเรื่องฉลากสินค้าและความปลอดภัย สินค้าที่มีการผลิตการนำเข้ามาเพื่อขายต้องมีการติดฉลากแสดงรายละเอียดให้ผู้บริโภคทราบ ยกเว้นเป็นสินค้าที่อยู่ในความดูแลของ อย. การนำเข้ามาต้องมีการแสดงรายละเอียดในฉลากก่อนนำถึงผู้บริโภค ต้องติดฉลากให้ถูกต้อง กรณีเก็บเงินปลายทางผู้บริโภคมีสิทธิเปิดสินค้าตรวจสอบและสามารถคืนผู้ให้บริการขนส่ง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาได้บางส่วน
ด้านนายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ร่วมกับกรมศุลกากร เราปิดช่องทางการนำเข้าโดยไม่ใช้ใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา และร่วมกันตั้งศูนย์ปฏิบัติการหากไม่มีใบอนุญาต จะสแกนสินค้านั้นโดยละเอียด และที่เขต free zone (เขตปลอดอากร) จะมีการตรวจสินค้าที่ออกจากเขตอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ คณะกรรมการชุดนี้พร้อมจะร่วมมือกับภาคเอกชนขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ผ่าน “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน” ที่จัดตั้งโดยคณะกรรมการหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน เพื่อแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด อีกด้วย