รายงานสถานะของหนี้สาธารณะตามมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานะของหนี้สาธารณะตามมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ
สาระสำคัญ
1. สถานะของหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 มีจำนวน 11,728,149.06 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 64.02 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ [Gross Domestic Product (GDP)] ซึ่งยังอยู่ในกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 70 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
รายการ |
หนี้สาธารณะ (ล้านบาท) ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 |
ร้อยละต่อ GDP |
(1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง |
9,781,833.59 |
53.39 |
(2) หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) |
583,627.00 |
3.19 |
(3) หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน |
1,060,739.48 |
5.79 |
(4) หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินโดยมีรัฐบาลค้ำประกัน |
189,254.59 |
1.03 |
(5) หนี้หน่วยงานของรัฐ |
112,694.10 |
0.62 |
รวมข้อ 1-5 |
11,728,149.06 |
64.02 |
2. พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดสัดส่วน เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ประกอบด้วย (1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 70 (2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณไม่เกินร้อยละ 35 (3) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 10 และ (4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ไม่เกินร้อยละ 5 ทั้งนี้ สถานะสัดส่วนหนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 อยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะที่กำหนดและเป็นประโยชน์ต่อการรักษาวินัยทางการคลังของประเทศ โดยแสดงให้เห็นว่า การก่อหนี้และการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐกระทำด้วยความรอบคอบ และคำนึงถึงถึงความคุ้มค่า ความสามารถในการชำระหนี้การกระจายภาระการชำระหนี้ เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ตลอดจนความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สัดส่วน |
กรอบในการบริหาร หนี้สาธารณะ |
สถานะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 |
(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP |
ไม่เกินร้อยละ 70 |
ร้อยละ 63.67 |
(2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการ รายได้ประจำปีงบประมาณ |
ไม่เกินร้อยละ 35 |
ร้อยละ 19.01 |
(3) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด |
ไม่เกินร้อยละ 10 |
ร้อยละ 1.23 |
(4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ |
ไม่เกินร้อยละ 5 |
ร้อยละ 0.05 |
หมายเหตุ : พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 51 กำหนดให้ กค. รายงานสัดส่วนหนี้ตามมาตรา 50 ที่เกิดขึ้นจริงต่อคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเพื่อทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนมีนาคมและกันยายนของทุกปี
3. การกู้เงินของรัฐบาลแม้จะทำให้มีหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการกู้เงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วางรากฐานการพัฒนา สร้างรายได้และเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเป็นการลงทุนด้านคมนาคม สาธารณูปการ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำคัญ เพื่อกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ นอกจากนี้ กค. ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการหนี้สาธารณะเพื่อสนับสนุนการลงทุนและการดำเนินมาตรการทางการคลัง รวมทั้งการชำระหนี้อย่างเคร่งครัดและครบถ้วนตามกรอบการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 5 พฤศจิกายน 2567
11119