หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov แพทองธาร7

ผลการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57

          คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติสมัยที่ 57 (The fifty-seventh session of the Commission on Population and Development: CPD57) (การประชุม CPD57) และวีดิทัศน์ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ดังนี้

          สาระสำคัญ

          พม. รายงานว่า

          1. เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (23 เมษายน 2567) เห็นชอบร่างปฏิญญาคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติสมัยที่ 57 (ร่างปฏิญญาฯ) และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม CPD57 ให้การรับรองร่างปฏิญญาฯ ในช่วงการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2567 ณ สํานักงานใหญ่ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีสาระสําคัญเกี่ยวกับการยืนยันความมุ่งมั่นในการดําเนินการตามแผนปฏิบัติการของการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (แผนปฏิบัติการฯ) ไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติต่อไป การดําเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ต่างๆ ของแผนปฏิบัติการฯ เช่น การลดความยากจน การลดการเสียชีวิต ของเด็กและมารดา การปรับปรุงการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงการวางแผนครอบครัว และการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในลักษณะบูรณาการ โดยตระหนักถึงความท้าทายที่สําคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากร ความยากจน และวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่โลกกําลังเผชิญ ซึ่งทําให้ความเปราะบางและความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ หากมีความจําเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างปฏิญญาฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสําคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ พม. ดําเนินการได้ โดยให้นําเสนอคณะรัฐมนตรี ทราบภายหลัง พร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย 

          2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม CPD57 ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2567 ณ สํานักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยผลการประชุม CPD57 มีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้

              2.1 ผลการประชุม CPD57 ภายใต้หัวข้อหลัก “การประเมิน สถานการณ์ดําเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ และผลการดําเนินงานที่นําไปสู่การติดตาม และทบทวนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในช่วงทศวรรษแห่งการดําเนินการ และมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” สรุปได้ ดังนี้

                   (1) ประเทศต่างๆ ได้กล่าวถ้อยแถลงนําเสนอความคืบหน้า การดําเนินงาน โดยเฉพาะด้านความเท่าเทียมทางเพศ การเข้าถึงสิทธิและอนามัยเจริญพันธุ์ การลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาและทารก การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และตระหนักถึงความสําคัญของการบูรณาการและเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สําคัญของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การโยกย้ายถิ่นฐาน และการขยายตัวของเมือง นอกจากนี้ ยังให้ความสําคัญกับการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านข้อมูลประชากรของประเทศ ขับเคลื่อนการดําเนินงานตามแนวทางการพัฒนาทุกช่วงวัย และเน้นย้ำบทบาทของครอบครัวที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและการบูรณาการนโยบายที่มุ่งเน้นครอบครัวในแผนการพัฒนาประเทศ และระบบการคุ้มครองทางสังคม อย่างไรก็ดีประชาคมโลกควรเพิ่มความพยายามในการแก้ไข ข้อท้าทายที่สําคัญซึ่งยังคงไม่อยู่ในหลายพื้นที่ของโลก และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชากร เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ การขาดการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ สถานการณ์ความขัดแย้ง การเพิ่มจํานวนผู้ลี้ภัยจากความขัดแย้ง การโยกย้ายถิ่นฐานภายในประเทศและระหว่างประเทศ

                   (2) ประเทศไทยได้กล่าวถ้อยแถลงนําเสนอความสําเร็จในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสาธารณสุข พร้อมนําเสนอนโยบายสําคัญ ในการรับมือกับสถานการณ์ความท้าทายด้านประชากรของไทย และได้แสดงบทบาทสําคัญในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคู่ขนาน เช่น กิจกรรมคู่ขนาน Optimizing Southeast Asian Population Dynamics through South – South and Triangular Cooperation (SSTC)” ร่วมกับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐมาเลเซีย กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund: UNFPA) และสํานักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ (United Nations Office for South-South Cooperation: UNOSSC) นอกจากนี้ ได้หารือทวิภาคี และแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสถานการณ์ความท้าทายของโลกในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านประชากร รวมถึงแสวงหาแนวทางพัฒนาความร่วมมือในอนาคต กับผู้แทนระดับสูงจากสหราชอาณาจักร ผู้บริหารโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) และผู้แทน UNFPA

              2.2 ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม CPD57 โดยใช้ชื่อว่า ปฏิญญาเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองการครบรอบ 30 ปี การประชุมระหว่างประเทศ ว่าด้วยประชากรและการพัฒนา” (Declaration on the occasion of the thirtieth anniversary of the International Conference on Population and Development) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 โดยฉันทามติและไม่มีการลงนาม ซึ่งปฏิญญาดังกล่าวมีสาระสําคัญเกี่ยวกับการยืนยันความมุ่งมั่น ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ผ่านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย และเสริมสร้างการบูรณาการความเชื่อมโยงระหว่างประชากรและการพัฒนาในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง โดยตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน สิทธิในการพัฒนา ความเท่าเทียมทางเพศ การเสริมพลังสตรี และเด็กผู้หญิงทุกคน ความหลากหลายและพลวัตของประชากร การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุ ประชากร การขยายตัวของเมือง และการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการให้คํามั่นในการพัฒนาระบบการเข้าถึงข้อมูลประชากรที่มีคุณภาพ ซึ่งมีความจําเป็นอย่างยิ่งต่อการติดตามการดําเนินการ ตามแผนปฏิบัติการฯ และการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ปฏิญญาที่ได้รับรองดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่ไม่ใช่สาระสําคัญของร่างปฏิญญาฯ ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้ กล่าวคือ การตัดถ้อยคําที่ซ้ำซ้อน รวมถึงถ้อยคําที่ระบุสถานการณ์อ่อนไหวที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ภาพรวมของทุกประเทศได้ เช่น การระบุถึงสังคมสูงวัย การเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การขจัดการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อสตรี การลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กและมารดา การเข้าถึงสิทธิและบริการทางสุขภาพถ้วนหน้า

          3. ประโยชน์การเข้าร่วมประชุม

              3.1 การกล่าวถ้อยแถลงและการแสดงวิสัยทัศน์เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการบรรลุการพัฒนาสังคมที่ครอบคลุมและเท่าเทียม โดยตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน สิทธิในการพัฒนา ความเท่าเทียมทางเพศ การเสริมพลังสตรีและเด็กผู้หญิงทุกคน และยังเป็นโอกาสเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในมิติประชากรและการพัฒนา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกและต้องดําเนินการอย่างเร่งด่วนบนพื้นฐานของการรักษาสมดุลระหว่าง 3 เสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน (สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม)

              3.2 ประเทศไทยได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการดําเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ อย่างเต็มที่และสมดุล เพื่อพัฒนาคนทุกช่วงวัย และเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายระดับชาติ “5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ที่พัฒนาขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและครอบคลุมสิทธิของคนทุกกลุ่ม ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 รับทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 22 ตุลาคม 2567

 

 

10614

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX


TOA 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

CKPower 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!