หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

FITCH12 5


ฟิทช์ ปรับลดอันดับเครดิต บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ เป็น BBB+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

       ฟิทช์ เรทติ้งส์ - กรุงเทพฯ -  13 มกราคม 2564: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ ของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เป็น  ‘BBB+(tha)’ จาก  ‘A-(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ  ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวสำหรับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันของบริษัทฯ  เป็น  ‘BBB+(tha)’ จาก  ‘A-(tha)’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของบริษัทฯ ที่ ‘F2(tha)’

        การปรับลดอันดับเครดิต สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงเกินกว่าระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ ‘A-(tha)’ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ที่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม นอกจากนี้ ฟิทช์เห็นว่า BAFS น่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับสอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้ หลังจากการลงทุนเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 7 โรง ตามที่ได้ประกาศไว้ ด้วยเงินลงทุน 1.7 พันล้านบาทโดยประมาณ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2564

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

       การฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยในปี 2564: ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS ในปี 2564 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 41-42 ของปริมาณการเติมน้ำมันในปี 2562 เนื่องจากการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไม่น่าจะเกิดขึ้นก่อนปลายปี 2564 ฟิทช์ไม่คาดว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว และคาดว่าน่าจะยังคงได้รับผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานจะปรับตัวกลับมาอยู่ในระดับร้อยละ 70-75 และร้อยละ 80-85 ของระดับก่อนการเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ในปี 2565 และปี 2566 ตามลำดับ 

     ซึ่งการประมาณการดังกล่าวสอดคล้องกับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวน 5.5 ล้านคนในปี 2564 และ 23 ล้านคนในปี 2565 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย  เทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวนประมาณ 40 ล้านคนต่อปีก่อนเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาด (ปี 2562: 6.7 ล้นคน)  การฟื้นตัวของปริมาณการสัญจรทางอากาศทั่วโลก ขึ้นอยู่กับความมีประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส ตามความเห็นของ International Air Transport Association ซึ่ง การผลิตและกระบวนการขนส่งวัคซีนยังคงเป็นความท้าทายในปัจจุบัน ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS ในปี 2563 ลดลงมากกว่าร้อยละ 60 จากปี 2562 หลังจากมีการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสในปลายเดือนมีนาคม 2563 ตามด้วยการประกาศข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก

      อัตราส่วนหนี้สินยังคงอยู่ในระดับสูง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่วัดจากหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO net leverage) จะเพิ่มขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 14 เท่า ถึง 16 เท่าในปี 2563-2564  (ปี 2562 อยู่ที่ 3.2 เท่า) เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่มีต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ยังไม่น่าจะผ่อนคลายลงอย่างมีนัยสำคัญก่อนปลายปี 2564  ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ  BAFS จะเริ่มลดลงมาอยู่ในระดับ 5.0 เท่า ถึง 5.5 เท่า ในปี 2565 หลังจากการเปิดประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในปลายปี 2564

       การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแผนค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงประมาณ 2.7 พันล้านในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายลงทุนในโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้าง ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ FPT ซึ่งบริษัทย่อยของ BAFS ฟิทช์ คาดว่าโครงการดังกล่าวน่าจะแล้วเสร็จภายในครึ่งปีแรกของปี 2564 จากเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2563

        การลงทุนใหม่ที่อาจเกิดขึ้น: BAFS ได้ประกาศแผนที่จะเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 7 โรง ซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้งรวมประมาณ 36 เมกะวัตต์ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 การลงทุนดังกล่าวอาจส่งผลให้การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินล่าช้าออกไป หากมีการใช้แหล่งเงินทุนจากการก่อหนี้เป็นหลัก  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวในปัจจุบันได้มีการดำเนินการในเชิงพาณิชย์แล้ว ดังนั้นกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอจากโรงไฟฟ้า น่าจะทำให้สถานะทางธุรกิจของ BAFS มีความแข็งแกร่งขึ้น หากการเข้าซื้อดังกล่าวสำเร็จตามแผน ดังนั้น ฟิทช์จึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS น่าจะยังคงสามารถอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้

      ความเสี่ยงด้านอุปสงค์ของโครงการท่อขนส่งน้ำมัน: โครงการท่อขนส่งน้ำมันของ FPT ซึ่งเป็นท่อขนส่งน้ำมันเส้นแรกในภาคเหนือของประเทศไทย มีความเสี่ยงในการหาลูกค้าเพื่อมาใช้บริการ โครงการระยะที่ 1 ได้เปิดดำเนินการและให้บริการขนส่งน้ำมันส่วนหนึ่งให้แก่บริษัทน้ำมันรายใหญ่ในประเทศไทยเกือบทุกราย แม้ว่าจะยังไม่มีสัญญาระยะยาวในการขนส่งน้ำมัน ฟิทช์เห็นว่าความเสี่ยงในการหาลูกค้ามาทำสัญญาได้รับการบรรเทาลงจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในบริเวณที่ท่อขนส่งน้ำมันให้บริการที่มีอย่างต่อเนื่อง ค่าบริการที่แข่งขันได้กับการขนส่งด้วยวิธีการอื่น โดยเฉพาะทางรถบรรทุก นอกจากนี้ ฟิทช์เห็นว่าการเปลี่ยนวิธีขนส่งน้ำมันมาใช้ระบบท่อขนส่ง น่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากเหตุผลด้านความปลอดภัย สังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

          สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง: BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Depot Service) และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน (Hydrant Pipeline Network) แต่เพียงรายเดียว และเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน (โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 89) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานแต่เพียงรายเดียว ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง BAFS อยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อย และได้รับประโยชน์จากอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจที่สูงของผู้บริการรายใหม่ เนื่องจากผู้ให้บริการต้องได้รับการอนุญาตจากท่าอากาศยานนั้นๆ จึงจะให้บริการได้  ในขณะที่โครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยของ FPT น่าจะช่วยทำให้ BAFS มีการการะจายความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีขึ้นและมีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า

        ความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาน้ำมันที่จำกัด: BAFS ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจาก BAFS จะเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการเติมน้ำมันจากบริษัทน้ำมันเท่านั้น (โดยบริษัทน้ำมันเป็นผู้ขายน้ำมันให้แก่สายการบิน) นอกจากนี้ ต้นทุนหลักของ BAFS  เป็นค่าสัมปทานซึ่งเป็นอัตราที่ตกลงกันก่อนตามสัญญา ทำให้อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของ BAFS ค่อนข้างคงที่

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

         ลักษณะของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS มีความคล้ายคลึงกับบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNEG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A-(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีรายได้ร้อยละ 65 มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดังนั้น ทั้งสองบริษัทจึงมีรายได้ที่สม่ำเสมอและสามารถคาดการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ความสม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ของกระแสเงินสดของ BAFS  ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก

       ในขณะที่ธุรกิจของ NNEG ได้รับผลกระทบที่น้อยกว่ามาก   BAFS มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่า NNEG ซึ่งมีการกระจุกตัวของทรัพย์สินในทำเลที่ตั้งเดียวและดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียว  อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่เคยอยู่ในระดับต่ำกว่า NNEG ได้เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับอัตราส่วนหนี้สินของ NNEG เป็นอย่างมากในปี 2563 และน่าจะยังคงสูงกว่าในปี 2564 ด้วย ดังนั้น BAFS จึงมีอันดับเครดิตต่ำกว่า NNEG หนึ่งอันดับเนื่องจากสถานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่าเป็นอย่างมาก

         เมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG (A-(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)  ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะและรถเอนกประสงค์ที่ทำจากโพลีเมอร์และพลาสติก และเป็นผู้นำในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับใช้เพียงครั้งเดียวสำหรับเครื่องดื่มและอาหารในประเทศไทย และบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE (A-(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) หนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรสำหรับยานยนต์รายใหญ่ของโลก

         BAFS มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าเป็นอย่างมาก ด้วยสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยานและรายได้ที่มีความสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม  EPG และ KCE มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า 1.0 เท่า สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าของ BAFS จึงไม่สามารถชดเชยอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่สูงกว่าทั้งสองบริษัทเป็นอย่างมากได้  ดังนั้น BAFS จึงมีอันดับเครดิตต่ำกว่าทั้งสองบริษัทหนึ่งอันดับ

     เมื่อเทียบกับ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD (BBB(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดินแบบครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย  ความสม่ำเสมอและความสามารถคาดการณ์ได้ของรายได้ของ JWD อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า BAFS  โดย JWD มีสัดส่วนรายได้ประมาณร้อยละ 25 ที่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากมีสัญญาสัมปทานและสัญญาเช่าระยะกลางถึงระยะยาวรองรับ แม้ว่าธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของ JWD ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสน้อยกว่า BAFS มาก แต่ด้วยค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราส่วนหนี้สินของ JWD ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า น่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า  BAFS เพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอที่จะชดเชยสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ดังนั้น  BAFS จึงมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า JWD

        BAFS มีขนาดของธุรกิจที่เล็กกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC, A-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สถานะเครดิตโดยลำพัง bbb(tha)) ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย  แต่ IRPC  มีความผันผวนของรายได้มากกว่า BAFS เป็นอย่างมาก  เนื่องจากต้องเผชิญกับความเสี่ยงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์  ธุรกิจของ IRPC ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินของ IRPC น่าจะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2563 อัตราส่วนหนี้สินของ IRPC  ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ BAFS  ดังนั้น BAFS จึงมีอันดับเครดิตที่สูงกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ IRPC

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

- ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานลดลงในอัตราร้อยละ 61-62 ในปี 2563 และฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 41-42 และร้อยละ 70-75 ของระดับก่อนการเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ 

- ปริมาณน้ำมันที่ขนส่งผ่านท่อของ FPT ลดลงในอัตราร้อยละ 30-32 ในปี 2563

-โครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยระยะที่ 2 แล้วเสร็จ ในช่วงต้นปี 2564 และเริ่มสร้างรายได้ในกลางปี 2564 โดยทำให้รายได้ของ FPT มีการเติบโตในอัตราร้อยละ 17-18 ในปี 2564 และร้อยละ 43-45 ในปี 2565

- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ในปี 2563 ลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 24-26 ในปี 2563-2564 และเพิ่มกลับขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 45-47 ในปี 2565

- ค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวนประมาณ 1.8 พันล้านบาทในปี 2563 จำนวน 880 ล้าน- 900 ล้านบาทในปี 2564 และจำนวน 400 ล้าน-450 ล้านบาทในปี 2565 ซึ่งได้รวมเงินลงทุนในโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมัน และค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับแผนการขยายสนามบินดอนเมือง

- ยังไม่มีการรวมการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประมาณการ

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

-อัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO  net leverage) อยู่ในระดับต่ำกว่า 5.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยลบ:

-อัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO  net leverage) อยู่ในระดับสูงกว่า 6.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง

        สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ:  BAFS มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดเงินสดคงเหลือที่เพียงพอ และระยะเวลาการชำระหนี้คืนที่มีการกระจายตัวที่ดี ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2563  BAFS มีเงินกู้ระยะยาวจำนวน 474 ล้านบาทซึ่งจะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ BAFS มี ยอดเงินสดคงเหลือและเงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามคำจำกัดความของฟิทช์) จำนวน 1.8 พันล้านบาท นอกจากนี้สภาพคล่องของ BAFS ยังได้รับการสนับสนุนจากวงเงินสินเชื่อแบบผูกพันไว้แล้วที่ยังไม่ได้เบิกถอน (Undrawn Committed Facility) จำนวน 725 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ซึ่งสำหรับรองรับค่าใช้จ่ายลงทุนในโครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเป็นหลัก นอกจากนี้ BAFS ยังเพิ่งได้รับวงเงินสินเชื่อแบบผูกพัน (Committed Facility) อีกจำนวน 2.4 พันล้านบาทในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งยังไม่มีการเบิกถอน ณ สิ้นปี 2563

ติดต่อ:         

Primary Analyst

สมฤดี ไชยวรรัตน์

Director

+66 2108 0160

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ชั้น 17, เลขที่ 57 อาคารปาร์คเวนเชอร์, ถนนวิทยุ, แขวงลุมพินี, เขตปทุมวัน

กรุงเทพฯ 10330

Secondary Analyst

โอบบุญ ถิรจิต

Director

+66 2108 0159

Committee Chairperson

Muralidharan Ramakrishnan

Senior Director

+65 6796 7236

ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!