หมวดหมู่: บทวิเคราะห์

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน 13-7-2020May


กลยุทธ์การลงทุนรายวัน

เมื่อวันศุกร์ SET แกว่งลง แรงกดดันจากการแพร่ระบาด COVID-19 ที่เร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องใน US โดย ณ. สิ้นวัน SET ปิดที่ 1,350.50 (-15.31 จุด) มูลค่าการซื้อขาย 6.4 หมื่นล้านบาท (เทียบกับวันก่อนหน้า 7.3 หมื่นล้านบาท)

โดยนักลงทุนต่างชาติ ขายหุ้นไทย 1,158 ลบ. (นักลงทุนสถาบันขาย 2,491 ลบ.) ส่วนตลาด TFEX นักลงทุนต่างชาติเปิด Short Futures ที่ 8,652 สัญญา)

SINGER (ปรับราคาเป้าหมายขึ้นสู่ 17.7 บาท) คาดกำไร 2Q63 ที่ 120 ลบ. +129%YoY โตเท่าตัวสวนทาง COVID-19 และคาดกำไรจะเดินหน้าต่อใน 3Q-4Q63 แม้เป็นโลว์ซีซัน ที่ระดับ 100 ลบ./ไตรมาส จากการเติบโตของธุรกิจเช่าซื้อ และพอร์ตสินเชื่อ C4C

สถานการณ์น้ำมันดิบโลกแกว่งผันผวนตามปัจจัยสำคัญในสัปดาห์นี้ : ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา IEA ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการน้ำมันดิบโลกขึ้น 4 แสนบาร์เรลต่อวันจากการประเมินรอบก่อน ซึ่งทำให้อุปสงค์น้ำมันดิบโลกปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 92.1 ล้านบาร์เรล หนุนราคาน้ำมันดิบโลกดีดตัวขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดี IEA ยังมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระลอกที่สอง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ส่วนในด้านของภาวะอุปทาน ล่าสุดการรายงานแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบรายสัปดาห์ของ US ปรับลดลงอีก 4 แท่น สู่ระดับ 181 แท่น ถือเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับลดลง 17สัปดาห์ติดต่อกัน โดยสุดสัปดาห์นี้คงติดตามว่าแท่นจะลดลงทำจุดต่ำสุดในเดือน มิ.ย. 2009 ที่ 179 แท่นหรือไม่ ส่วนปัจจัยสุดท้ายถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมากต่อตลาดน้ำมันในสัปดาห์นี้ นั่นคือ การประชุม JMMC ในวันที่ 15 ก.ค. ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่ากำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ที่ปัจจุบันมีการลดลง 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะมีโอกาสขยายระยะเวลาออกไปอีกหรือไม่ ซึ่งหากขยายเวลาการลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจะถือเป็นจิตวิทยาบวกต่อตลาดน้ำมัน เนื่องจาก ณ ปัจจุบันตลาดประเมินว่า OPEC+ น่าจะดำเนินตามข้อตกลงครั้งก่อนที่จะลดกำลังผลิตในเดือน ส.ค. เหลือเพียงแค่ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งอาจกดดันราคาน้ำมันระยะสั้นได้

Investment Strategy :

วันนี้คาด SET รีบาวน์ ในกรอบแนวรับ 1,340 ต้าน 1,380 จุด เน้นหุ้นที่คาดแนวโน้มกำไรโดดเด่น โดย ATO Picks วันนี้แนะนำ “SINGER, DCC, CBG”

กลยุทธ์การลงทุน

มีหุ้น : ยังสามารถถือได้ รอสะสมเพิ่มที่บริเวณแนวรับ 1340 จุด ตามลำดับ

ไม่มีหุ้น : รอซื้อเมื่อดัชนีอ่อนตัว หาจังหวะการเข้าเก็งกำไรช่วงบริเวณ 1340 จุด และรอขายเมื่อดัชนีดีดกลับ

เริ่มแล้วชิงรถไฟสีส้ม BEM-BBS ลุยซื้อซอง (ทันหุ้น)

ความเห็น : โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์ มีนบุรี 1.27 แสนล้านบาท กำลังเปิดขายซองประมูล วันที่ 10-24 ก.ค. 2563 คาดจะเป็นการแข่งขันระหว่าง กลุ่ม BEM+CK และ BTS+STEC ในมุมมองของเรา กลุ่ม BEM+CK จะมีความได้เปรียบ จากทำให้สามารถทำต้นทุนได้ต่ำกว่า แนะนำ TRADING BUY ใน CK (เป้าหมาย 24 บาท) และ STEC (เป้าหมาย 20 บาท)

PRM ส่งซิกงบไตรมาส 2 แจ่ม ย้ำรายได้ปีนี้โต 15% ชูธุรกิจเรือ FSU เด่น (ข่าวหุ้น)

ความเห็น : เป็นไปตามที่มองไว้อยู่แล้ว นอกจากนี้ เรามองว่าการท่องเที่ยวในประเทศที่ถูกกระตุ้น คาดจะดึง volume ขึ้นในช่วงปลายปีได้อีกด้วย แนะนำ ซื้อ 9.30 บ./หุ้น

เปิดเส้นทางโรงไฟฟ้า TPCH จ้องชิงงานชุมชน 700 MW (ทันหุ้น)

ความเห็น : ประเด็นนี้ยังคงเป็นประเด็นในการเก็งกำไร ซึ่งผู้เล่นในตลาดที่มีโอกาสสูงคือ TPCH ACE ให้ลุ้นกัน อย่างไรก็ดีหากไม่รวมรายการเหล่านี้ การทยอย COD ในปีนี้ของ TPCH ก็เพียงพอให้กำไรขยายตัว คงคำแนะนำ ซื้อ 14.90 บาท/ หุ้น ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้ารอจ่ายไฟฟ้าปีนี้อีก 24.7 MW

ศักดิ์สยามแจงความคืบหน้า EEC ชวน ญี่ปุ่นลงทุนเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม (ประชาชาติธุรกิจ)

ความเห็น : : โครงการ EEC คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 และ ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 มีความล่าช้า แต่ก็ค่อยๆคืบหน้า สำหรับมอเตอร์เวย์ 8 เส้นทาง ระนะทางรวม 4,930 กม. คาดจะใช้เวลา เช่น การทำ EIA การเวนคืนที่ดิน เราคงให้น้ำหนักกลุ่มรับเหมาก่อสร้างเท่าตลาด

ตลาดรถยนต์ ร่วง 37.5% หวังครึ่งปีหลังฟื้น (ฐานเศรษฐกิจ)

ความเห็น : อุตสาหกรรมรถยนต์ถูกกระทบอย่างหนักจาก Covid-19 ที่ ยอดขายรถยนต์ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสสอง คือ เดือน เม.ย.-มิ.ย. แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ คือ ประมาณ 70-80% ของระดับปกติ รวมแล้วยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้มีแนวโน้มจะทรุดเหลือประมาณ 650,000 คัน ลดลง 35% ให้น้ำหนักกลุ่มยานยนต์ต่ำกว่าตลาด

Thai Union Group (TU)

คาดกำไร 2Q63 ดีแต่ต้องจับตา Red Lobster

Results Preview

ประเด็นการลงทุน

กำไรปกติ 2Q63 มีแนวโน้มดีกว่าที่เคยคาด เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นคาดว่าจะสูงอย่างมีนัยยะจากการเติบโตมากของยอดขายสินค้าอาหารทะเลแปรรูปซึ่งมีอัตรากำไรสูง แต่คาดว่ากำไรชะลอลงใน 3Q63 ประเด็นที่ต้องติดตามและเป็นความเสี่ยงคือ Red Lobster ซึ่งมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง เรายังคงคำแนะนำ ถือ TU โดยให้ราคาเป้าหมาย (PER 15 เท่า) 14.10 บาท ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำ เก็งกำไรระยะสั้น

ยอดขายอาหารทะเลแปรรูปเติบโตดี แต่อาหารแช่แข็งลดลง

ยอดขายสินค้าอาหารทะเลแปรรูป (Ambient seafood) ในช่วงเดือน เม.ย. พ.ค. เพิ่มขึ้น 40% YoY จากการที่อาหารกระป๋องขายดีในช่วงล็อกดาวน์ แม้ยอดขายเริ่มชะลอลงในเดือน มิ.ย. แต่ยังเติบโต YoY ทำให้ยอดขายอาหารทะเลแปรรูปใน 2Q63 เติบโตสูงกว่า 1Q63 อย่างไรก็ดี อาหารทะเลแช่แข็ง (Frozen seafood) ยังคงลดลง เนื่องจากยอดขายให้ลูกค้ากลุ่ม Food Service ลดลง ขณะที่ Red Lobster มีแนวโน้มขาดทุนเพิ่มขึ้นเนื่องจากปิดร้านเป็นเวลากว่า 2 เดือน โดยได้กลับมาเปิดร้าน 80% ของสาขาทั้งหมดในช่วงเดือน มิ.ย. แต่ยอดขายยังชะลอ  

คาดกำไรปกติ 2Q63 แข็งแกร่งจากอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น

คาดอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 130 bps YoY เป็น 18% เนื่องจากยอดขายอาหารทะเลแช่แข็งเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง ทั้งสินค้าแบรนด์ และสินค้า OEM ซึ่งได้ประโยชน์จากต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลงจากการที่อัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น เราประเมินกำไรสุทธิ 2Q63 เท่ากับ 1,590 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% QoQ และ 1326% YoY เนื่องจากฐานต่ำใน 2Q62 ซึ่ง Chicken of the Sea ตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพิเศษทางกฎหมายจากคดีต่อต้านการผูกขาด (Antitrust) สุทธิ 1,402 ล้านบาท อีกทั้ง TU บันทึกประมาณการหนี้สินผลประโยชน์พนักงาน 205 ล้านบาท หากไม่รวมรายการพิเศษ คาดว่ากำไรปกติเพิ่มขึ้น 24% QoQ และ 1% YoY

แนวโน้มกำไร 3Q63 ชะลอลง

เราคาดว่ากำไร 2H63 น้อยกว่า 1H63 การคลายล็อกดาวน์ในอเมริกาและยุโรป ทำให้ยอดขายอาหารทะเลแปรรูปเติบโตไม่สูงเหมือนช่วงล็อกดาวน์ แต่ยอดขายอาหารทะเลแช่แข็งเริ่มฟื้นตัวหลังจากร้านอาหารและโรงแรมกลับมาเปิดมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง เนื่องจากอาหารทะเลแช่แข็งมีอัตรากำไรต่ำกว่าอาหารทะเลแปรรูป เรายังคาดว่าผลประกอบการของ Red Lobster ยังขาดทุนต่อเนื่อง

ความเสี่ยง: ผลประกอบการ Red Lobster ขาดทุนต่อเนื่อง ราคาปลาทูน่าผันผวน เงินบาทแข็งค่าอย่างมีนัยยะ ต้นทุนวัตถุดิบสูง ค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายเพิ่มขึ้น

Charoen Pokphand Foods (CPF)

คาดกำไร 2Q63 ยังสูงและ 3Q63 ดียิ่งขึ้น

Results Preview

ประเด็นการลงทุน

แม้คาดว่ากำไร 2Q63 ลดลง QoQ แต่กำไรยังอยู่ในระดับสูงและเติบโต 13% YoY จากราคาหมูเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ แนวโน้มกำไรแข็งแกร่งยิ่งขึ้นใน 3Q63 จากราคาเนื้อสัตว์ในไทยฟื้นตัว คาดราคาหมูเวียดนามจะสูงอีกอย่างน้อย 2 ปีจาก Supply ขาดแคลน คงคำแนะนำ ซื้อ CPF โดยปรับเป้าหมายจาก 40.20 บาทเป็น 39.20 บาท (จากการปรับเป้าหมาย CPALL) ประกอบด้วย CPF 18.6 บาท อิง PER 15 เท่า (PER เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี) และ CPALL 20.6 บาท จาก DCF (WACC 7.2%, LTG 4%)

คาดกำไร 2Q63 ชะลอ QoQ แต่ยังเติบโตดี YoY

เมื่อเทียบกับฐานกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ใน 1Q63 เราคาดว่ากำไรปกติ 2Q63 ลดลง 32% QoQ เป็น 4,410 ล้านบาท เนื่องจากราคาหมูและไก่ในไทยลดลงในช่วงล็อกดาวน์ โดยราคาลงไปค่อนข้างต่ำในช่วงปลายเดือน เม.ย. ก่อนจะฟื้นตัวหลังคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่กลาง พ.ค. เป็นต้นมา อีกทั้งส่วนแบ่งกำไรจาก CPALL ลดลงจากผลกระทบของการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ดี คาดว่ากำไรของ CPF เติบโต 13% YoY เนื่องจากธุรกิจหมูในเวียดนามคาดว่าเติบโตอย่างมีนัยยะทั้งจากยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น ราคาหมูเฉลี่ยใน 2Q63 เพิ่มขึ้น 108% YoY เป็น 74,360 VND/กก. เราประเมินอัตรากำไรขั้นต้นของ CPF เพิ่มขึ้น 300 bps YoY เป็น 16.9%  

แนวโน้มกำไรแข็งแกร่งยิ่งขึ้นใน 3Q63

ราคาเนื้อสัตว์ในประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการบริโภคฟื้นตัวหลังคลายล็อกดาวน์ ราคาหมูเพิ่มขึ้นมาที่ 78 บาท/กก. และราคาไก่ 34 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ยังต่ำ เนื่องจากราคาข้าวโพดและกากถั่วเหลืองทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่วนราคาหมูในเวียดนามทรงตัวสูงที่ 80,000-90,000 VND/กก. นอกจากนั้น เราคาดว่าส่วนแบ่งกำไรจาก CPALL จะฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดใน 2Q63 หลังจากการคลายล็อกดาวน์ อีกทั้งส่วนแบ่งกำไรจาก HyLife มีแนวโน้มแข็งแกร่งจากธุรกิจหมูที่ได้ประโยชน์จากราคาเพิ่มขึ้นและการส่งออกเติบโตได้ดี

ราคาหมูยังอยู่ในระดับสูงอีกอย่างน้อย 2 ปี

จากผลกระทบของโรค ASF ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการขาดแคลน Supply หมูในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะจีนและเวียดนาม เราคาดว่า Supply จะกลับมาปกติอย่างเร็วที่สุดในปี 2565 ส่งผลให้ราคาหมูยังอยู่ในระดับสูงไปอีกอย่างน้อย 2 ปี โดยในเวียดนาม Supply ลดลงไปมากกว่า 30% ทำให้มีการเจรจานำเข้าหมูจากไทยแต่ยังไม่เกิดขึ้น มีเพียงการนำเข้าผ่านทางชายแดนจำนวนไม่มาก อย่างไรก็ดี การที่ราคาหมูไทยปรับตัวสูงขึ้นทำให้แรงจูงใจในการส่งออกลดน้อยลง

ความเเสี่ยง: ราคาเนื้อสัตว์ตกต่ำ ราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโลกชะลอ โรคระบาด

******************************************

 

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!