หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV 7


รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 1

       คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home)และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 1 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยสรุปข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 จาก 140 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 98.6 ของส่วนราชการทั้งหมด 142 ส่วนราชการ ดังนี้

  1. การปฏิบัติงานนอกถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work From Home)

      ส่วนราชการร้อยละ 100 (140 ส่วนราชการ) ที่รายงานมีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งซึ่งส่วนราชการร้อยละ 53 (74 ส่วนราชการ) กำหนดสัดส่วนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ร้อยละ 50 ขึ้นไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ เช่น ส่วนราชการที่เน้นงานระดับนโยบาย เป็นต้น โดยมีการมอบหมายในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการแบบวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน หรือ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น

  1. การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ

        1) ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานสำหรับกรณีที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการโดยส่วนราชการส่วนใหญ่เลือกใช้การเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงาน เวลา 07.30 – 15.30 น. และเวลา 08.30 – 16.30 น. แต่บางส่วนราชการก็มีรูปแบบการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่ เวลา 06.00 – 14.00 น. เวลา 14.00 – 22.00 น. เวลา 22.00 – 06.00 น. เช่น กรมประมง กรมทางหลวง เป็นต้น ซึ่งสำนักงาน ก.พ. จะขอความร่วมมือและให้คำแนะนำส่วนราชการในการกำหนดให้มีการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการลดความแออัดและลดความเสี่ยงในการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

         2) ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงานที่มีความจำเป็น โดยลักษณะงานส่วนใหญ่คือ งานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล งานในห้องปฏิบัติการ งานตามนโยบายเร่งด่วนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และบางตำแหน่ง เช่น ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการสำนัก/กอง เป็นต้น

  1.    แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ

        1) รูปแบบการลงเวลาปฏิบัติงานผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การลงเวลาผ่านระบบออนไลน์ Application LINE โปรแกรมระบบสารสนเทศทรัพยากรบุคคลระดับกรม (Departmental Personnel Information System - DPIS) หรือระบบโปรแกรมเฉพาะของส่วนราชการ

      2) การกำกับดูแลและบริหารผลงาน เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารที่ส่วนราชการเน้นเพื่อคงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานทั้งในและนอกสถานที่ตั้งให้บรรลุผลตามเป้าหมายและให้มั่นใจว่าคุณภาพของการทำงานและการให้บริการไม่ลดลง โดยส่วนราชการส่วนใหญ่กำหนดให้มีการจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงานล่วงหน้า และให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานอย่างต่อเนื่องผ่าน Application LINE ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google Form โดยร้อยละ 55 กำหนดให้รายงานความก้าวหน้ารายวัน และร้อยละ 45 กำหนดให้รายงานความก้าวหน้ารายสัปดาห์ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่มอบหมาย

        3) การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการเลือกใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่าหนึ่งระบบ โดยส่วนใหญ่เลือกใช้ Application LINE (ร้อยละ 98) Zoom (ร้อยละ 60) Microsoft Team (ร้อยละ 29) Cisco Webex (ร้อยละ 24) และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 18) ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพาและโทรศัพท์เคลื่อนที่ รองลงมาคือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ Tablet และ IPAD

  1. ข้อจำกัดของส่วนราชการในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้แก่ การขาดความพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง และการขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงาน ลักษณะงานบางประเภทไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ เช่น งานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล งานในห้องปฏิบัติการ งานภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน งานความลับ เป็นต้น รวมทั้งในกรณีส่วนราชการที่มีที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาคนั้น มีบ้านพักข้าราชการตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่ตั้งของสำนักงาน จึงไม่จำเป็นต้องให้ข้าราชการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้
  2. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การจัดให้มีอุปกรณ์หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต เป็นต้น รวมทั้งในกรณีการให้ข้าราชการปฏิบัติราชการในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ส่วนราชการจะต้องมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิตให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่อย่างเหมาะสม เช่น การมีจุดคัดกรองโดยมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิและเตรียมน้ำยาล้างมือฆ่าเชื้อโรค การเตรียมหน้ากากอนามัย การกำหนดระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396  

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!