หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV9


การแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

          คณะรัฐมนตรีมีเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เสนอมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ดังนี้
          1. เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (แผนแม่บทฯ) ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ และให้ สศช. ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำแผนแม่บทฯ ในรูปแบบเฉพาะกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ในช่วงระหว่างปี 2564 -2565 ตามที่ สศช. เสนอ ประกอบด้วย
              1.1 มอบหมาย สศช. ใช้ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด – 19 พ.ศ. 2564 – 2565 (แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ) ที่ สศช. ได้จัดทำขึ้นเบื้องต้นในการรับฟังความคิดเห็นผ่านวิธีการที่หลากหลายเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกภาคีพัฒนาที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ให้แล้วเสร็จภายในช่วงเดือนตุลาคม 2563 โดยจะใช้การประชุมประจำปี 2563 ของ สศช. เป็นเวทีแรกในการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ เพื่อนำความคิดเปห็นมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ฉบับสมบูรณ์
              1.2 มอบหมาย สศช. เสนอร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ฉบับสมบูรณ์ต่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไปภายในเดือนพฤศจิการยน 2563
          2. เห็นชอบโครงการสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และมอบหมายให้ สศช. สำนักงบประมาณ (สงป.) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนโครงการสำคัญตามที่ สศช. เสนอ ประกอบด้วย
              2.1 มอบหมาย สงป. พิจารณาจัดสรรงบประมาณรองรับการดำเนินโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 571 โครงการ ในลักษณะงบประมาณพิเศษ หรืองบประมาณแบบบูรณาการ และให้ใช้ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ และห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทย (Final Value Chain Thailand) เพื่อประกอบการพิจารณาการจัดสรรงบประมาณเพื่อการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป
              2.2 มอบหมายให้ สศช. ร่วมกับหน่วยงานที่มีโครงการสำคัญจัดทำรายละเอียดโครงการสำคัญให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่ต้นจากระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) และร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพแผนแม่บทฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 ต่อไป
              2.3 มอบหมายทุกหน่วยงานของรัฐจัดทำแผนปฏิบัติราชการรายปีตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562
          สาระสำคัญของเรื่อง
          สศช. รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 พิจารณาเรื่องต่างๆ ดังนี้
          1. การแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทฯ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560
              1.1 ความเป็นมา
                    สศช. ได้ประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ในมิติต่างๆ ที่อาจเกดิขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้เกิดการดำรงชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) สรุปได้ ดังนี้ (1) ผลกระทบระยะสั้น อาทิ การลดลงของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ การหดตัวของเศรษฐกิจ ความเสี่ยงในการปิดกิจการโดยเฉพาะ SMEs และการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น (2) ผลกระทบระยะยาว อาทิ การเร่งขึ้นของการเข้าสู่โลกดิจิทัล (Digital Transformation) ที่เทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้น ทั้งต่อพฤติกรรมการบริโภค แนวทางการประกอบธุรกิจ และรูปแบบการทำงาน การลดความเข้มข้นของกระแสโลกาภิวัฒน์ และ (3) จุดแข็งและโอกาส อาทิ ความสำเร็จในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโควิด – 19 ความพร้อมของไทยทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศ ความต้องการของตลาดโลกโดยเฉพาะด้านอาหารปลอดภัย สถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งการลงทุนที่ปลอดภัย
                    ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลการประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์ผลกระทบจากการระบาดของโควิด – 19 ข้างต้นแล้ว พบว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 1 มีประเด็นการพัฒนาที่ครอบคลุมถึงเรื่องการรับมือและปรับตัวต่อโรคอุบัติใหม่แล้ว โดยบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ยุทธศาสตร์ชาติที่ 5) ดังนั้น จึงควรมีการถ่ายระดับเป้าหมายและประเด็นการพัฒนาจากยุทธศาสตร์ชาติถึงแผนระดับต่างๆ และโครงการที่เกี่ยวข้อง ตามหลักการความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (Causal Relationship : XYZ) โดยเฉพาะการดำเนินการในส่วนของแผนแม่บทฯ ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 2 ที่มีการถ่ายระดับเป้าหมายและประเด็นการพัฒนาก่อนการระบาดของโควิด – 19 และยกระดับการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
                    สศช. จึงได้จัดให้มีการประชุมหารือประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ สศช. จึงได้ดำเนินการยกร่าง “แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ” และนำเสนอที่ประชุมร่วมคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติอีกครั้ง ก่อนนำเสนอคณะกรรมกรยุทธศาสตร์ชาติเห็นชอบและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน
              1.2 ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    - หลักการ มุ่งเน้นการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ภูมิคุ้มกัน ความรู้ และคุณธรรม เพื่อให้ประเทศในระยะต่อไปได้รับการพัฒนาให้สามารถ “ล้มแล้วลุกไว” (Resilience)
                    - วัตถุประสงค์ เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถกลับเข้าสู่ระดับการพัฒนาก่อนการระบาดโควิด – 19 และยกระดับการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
                    - เป้าประสงค์ เพื่อให้ “คนสามารถยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติ และมีการวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ (Economic Transformation)”
                    - แนวทางการพัฒนา ประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่ (1) การพร้อมรับ (Cope) (2) การปรับตัว (Adapt) และ (3) การเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน (Transform)
                    - ประเด็นการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในระยะ 2 ปีข้างหน้า

                      (1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy)
                      (2) การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth)
                      (3) การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital)
                      (4) การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) ให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของประเทศ
                    - โครงการรองรับการดำเนินการตามร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ

                      (1) โครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด – 19 ได้อย่างทันท่วงที
                      (2) โครงการประจำปีงบประมาณปี 2564 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563
                      (3) โครงการสำคัญประจำปีงบประมาณประจำปี 2565 ที่ดำเนินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 จำนวน 250 โครงการ
              1.3 มติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
                    เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ โดยมอบหมายให้ สศช. เสนอต่อคณรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้ สศช. ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในรูปแบบเฉพาะกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 ในช่วงระหว่างปี 2564 – 2565 ตามที่ สศช. เสนอ ดังนี้
                    1. สศช. เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ช่วงเวลาดำเนินการ ภายในเดือนกันยายน 2563
                    2. สศช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ผ่านวิธีการที่หลากหลาย เพื่อนำความคิดเห็นมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ฉบับสมบูรณ์ ช่วงเวลาดำเนินการ ภายในเดือนตุลาคม 2563
                    3. สศช. นำเสนอร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ฉบับสมบูรณ์ต่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะรัฐมนตรพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ช่วงเวลาดำเนินการ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563
          2. โครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
              2.1 ความเป็นมา
                    สศช. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในระดับกรมหรือเทียบเท่าและหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพแผนแม่บทฯ ทั้ง 3 ระดับ ในการจัดทำโครงการสำคัญประจำปี 2565 รวม 571 โครงการ จาก 3,428 โครงการ ซึ่งได้ผ่านกระบวนการและขั้นตอนการคัดเลือกตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยสามารถจำแนกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
                    1. โครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 ตามแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ (Top Priorities) จำแนกตาม 4 ประด็นการพัฒนา ได้แก่
                        (1) การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาต่างประเทศ อาทิ โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs และโครงการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ
                        (2) การยกระดับขีดความสามารถเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) อาทิ ขยายตลาดข้าวอินทรีย์และข้าวสีในต่างประเทศ และสร้างอุตสาหกรรมการแพทย์ใหม่บนฐานการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีด้านชีววิทยาศาสตร์
                        (3) การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคน (Human Capital) ให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ อาทิ โครงการส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) และแพลตฟอร์มการเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ หรือโรคติดต่ออันตรายแบบบูรณาการ
                        (4) การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) อาทิ โครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และโครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน

                        รวมจำนวน 250 โครงการ
                    2. โครงการสำคัญรองรับการพัฒนาประเทศ ที่สอดคล้องกับการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายย่อยที่เกี่ยวข้องจากทั้ง 140 เป้าหมายของ 23 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ โครงการ Smart Tourism Village และเพิ่มโอกาสการค้าด้วย e-Commerce รวมจำนวน 321 โครงการ
              นอกจากนี้ สศช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำรายการห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทย (Final Value Chain Thailand) ของทั้ง 140 เป้าหมายแผนแม่บทย่อย ที่มีข้อมูลองค์ประกอบ ปัจจัยสำคัญ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายซึ่งในปัจจุบันยังขาดโครงการสำคัญรองรับ
              2.2 มติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
                    เห็นชอบโครงการสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และมอบหมายให้ สงป. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนโครงการสำคัญตามที่ สศช. เสนอ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 กันยายน 2563
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396


A9711

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!