ม.มหิดล - Macquarie U. วิจัยพบสารเสพติดกลุ่มเมทแอมเฟตามีน ‘ฉุดสมองเสื่อม-บกพร่องด้านการรู้คิด’
มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ Macquarie University ประเทศออสเตรเลีย ประกาศความสำเร็จวิจัยพบสารเสพติดกลุ่มเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamines) ฉุดสมองเสื่อม และบกพร่องด้านการรู้คิด ส่อปัญหาทางสมองและจิตใจ หวังใช้ “เมลาโทนิน” (Melatonin) เยียวยา เตรียมต่อยอดวิจัยเจาะกลุ่มเป้าหมายแม่-ลูก และค้นหาสารที่ช่วยยับยั้งภาวะสมองเสื่อม และวงจรการเสพติด
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เจตน์สว่าง หัวหน้าศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของงานวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือในระดับนานาชาติดังกล่าวว่า เป็นการค้นพบใน “หนูทดลอง” หลังจากได้รับสารเสพติดในกลุ่มเมทแอมเฟตามีน ผ่านไป 3 สัปดาห์ แล้วทดสอบพฤติกรรม พบปัญหา “สมองเสื่อม และบกพร่องด้านการรู้คิด” และแนวทางการเยียวยาดีขึ้นได้ด้วยการใช้สาร “เมลาโทนิน”
จากนั้นได้ศึกษาต่อใน “ผู้เสพติดเมทแอมเฟตามีน” พบความผิดปกติของการวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง มีภาวะสมองเสื่อม และความบกพร่องด้านการรู้คิด
สารเสพติดในกลุ่มเมทแอมเฟตามีน ส่วนใหญ่พบใน “ยาบ้า” (Amphetamine) “ยาไอซ์” (Methamphetamine Hydrochloride) รวมทั้งเป็นส่วนประกอบใน “ยาลดน้ำหนัก” บางชนิด ยิ่งเสพมาก ระบบประสาทจะยิ่งได้รับการกระตุ้น และยิ่งส่งผลทำลายสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “สมองส่วนหน้า” (Prefrontal Cortex) ที่ควบคุม “พฤติกรรมการรู้คิด” (Cognitive Functions) และ “ทักษะสมอง Executive Functions” (EF) มากขึ้นเท่านั้น
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เจตน์สว่าง กล่าวต่อไปว่า ก้าวต่อไปทีมวิจัยเตรียมขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายแม่เสพยาบ้า และผลเสียที่มีต่อลูก ซึ่งแม้สารในกลุ่มเมทแอมเฟตามีนสามารถใช้รักษากลุ่มอาการสมาธิสั้น (ADHD - Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ภายใต้การควบคุมโดยแพทย์
แต่หากใช้ไปในทางที่ผิดจนเกิดการเสพติด อาจนำไปสู่การมีปัญหาทางสมอง จิตใจและพฤติกรรม การหยุดเสพยาอาจช่วยฟื้นฟูสมองเสื่อมได้บางส่วน และการรักษาฟื้นฟูสมองที่ถูกทำลายด้วยการใช้ “เมลาโทนิน” พบว่าสามารถยับยั้งการเหนี่ยวนำขบวนการเสื่อมสลายของสมองได้ และช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูสมองบกพร่องด้านการรู้คิดให้เป็นปกติได้ดียิ่งขึ้นด้วย
ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการระดับนานาชาติหลายฉบับ อาทิ Food & Chemical Toxicology (FCT) แห่ง Elsevier และ Journal of Proteome Research แห่ง ACS Publications เป็นต้น
สังคมจะดีขึ้นเพียงใด หากได้ตระหนักถึงพิษภัยของสารเสพติด ด้วยภารกิจ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมผนึกกำลังทุ่มเทวิจัยคุณภาพ ผ่านหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาประสาทวิทยาศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) (Graduate Program in Neuroscience, International Program) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการเสพติด สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน (AIHD) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมไทยและสังคมโลกสู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
5224