หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV11ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

 

     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบดังนี้

  1.       อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
  2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
  3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

                  

กษ. เสนอว่า

  1. พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติบางมาตราไม่เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งบทบัญญัติการอนุรักษ์ดินและน้ำไม่ครอบคลุมถึงการพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดิน องค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาที่ดินไม่คลอบคลุมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องทรัพยากรน้ำ รวมถึงปัญหาการขอรับบริการวิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือสิ่งปรับปรุงดินของเกษตรกรซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายจะถูกถ่ายโอนไปยังภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยจะมีค่าใช้จ่ายในการขอรับบริการ จึงมีปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เกษตรกรรมไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือการชะล้างพังทลายของดิน รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน
  2. ดังนั้น เพื่อให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินซึ่งสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันในอันที่จะคุ้มครองพื้นที่ทางการเกษตรของประเทศไม่ให้ถูกทำลายไม่ว่าจะเกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือการชะล้างพังทลายของดิน จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ดินในเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อให้ครอบคลุมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นดังนี้

     2.1 แก้ไขบทนิยาม 'การอนุรักษ์ดินและน้ำ' ให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดิน

     2.2 แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาที่ดินให้ครอบคลุมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องทรัพยากรน้ำ และแก้ไขให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการออกระเบียบเกี่ยวกับคำขอให้วิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือ สิ่งปรับปรุงดิน หรือคำขอให้ปรับปรุงดินหรือที่ดินหรือคำขอให้อนุรักษ์ดินและน้ำ หรือคำขอให้บริการแผนที่ ข้อมูลทางแผนที่

     2.3 เพิ่มเติมหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินในการทำสำมะโนที่ดิน การพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดินเพื่อการเกษตร ตลอดจนการให้บริการ สาธิต ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของกรมพัฒนาที่ดิน

      2.4 แก้ไขให้เกษตรกรสามารถขอใช้บริการวิเคราะห์ ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือสิ่งปรับปรุงดิน จากเดิมที่ต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ แต่หากไม่มีหน่วยงานดังกล่าวให้ยื่นต่อเขตหรือที่ว่าการอำเภอ เป็นยื่นคำขอต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ เนื่องจากมีหน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดินครอบคลุมทุกจังหวัดแล้ว ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินเตรียมการถ่ายโอนภารกิจด้านการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และให้คำปรึกษา แนะนำ เกี่ยวกับดิน น้ำ พืช ปุ๋ย และอื่นๆ ให้แก่ภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการแทน โดยยกเว้นค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกรและงานวิจัยที่มาขอใช้บริการ

       2.5 แก้ไขให้เกษตรกร ผู้ศึกษาวิจัย และประชาชนที่ประสงค์จะให้กรมพัฒนาที่ดินปรับปรุงดินหรือที่ดิน หรืออนุรักษ์ดินและน้ำ หรือบริการแผนที่ ข้อมูลทางแผนที่ จากเดิมที่ต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ แต่หากไม่มีหน่วยงานดังกล่าวให้ยื่นต่อเขตหรือที่ว่าการอำเภอ เป็นยื่นคำขอต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่โดยการเสียค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามกฎกระทรวง

  1. กษ. ได้ดำเนินการตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยรายงานว่า การตรากฎหมายข้างต้นเป็นการเตรียมการถ่ายโอนงานวิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือสิ่งปรับปรุงดิน ให้ภาคเอกชน หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการแทนส่วนราชการ โดยจะยกเว้นค่าใช้จ่ายให้เฉพาะเกษตรกรและงานวิจัยที่มาขอใช้บริการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับบริการซึ่งเป็นเกษตรกรและงานศึกษาวิจัยได้รับบริการการวิเคราะห์ ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือสิ่งปรับปรุงดิน ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง อันเป็นการขยายโอกาสให้เกษตรกรพัฒนาอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป และเป็นประโยชน์กับการศึกษาวิจัย รวมทั้งโครงการงานนโยบายของหน่วยงานของรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนงานดังกล่าวจะส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บค่าใช้จ่ายหรือค่าใช้บริการ จากเฉลี่ยประมาณ 344,730 บาท/ต่อปี
  2. กษ. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้แล้ว โดยดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของกรมพัฒนาที่ดิน www.ldd.go.th ระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2562 และได้มีหนังสือส่งไปยังหน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ (วันที่ 8 สิงหาคม 2562) จังหวัดสงขลา (วันที่ 28 สิงหาคม 2562) และจังหวัดอุบลราชธานี (วันที่ 4 กันยายน 2562)

         ทั้งนี้ ได้ทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายพร้อมทั้งเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ www.ldd.go.th ตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว

จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

                 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

  1. กำหนดบทนิยามคำว่า “การอนุรักษ์ดินและน้ำ” โดยให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดิน
  2. กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน โดยเพิ่มเติมให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นกรรมการ และแก้ไขชื่อเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  3. กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาที่ดินมีอำนาจในการออกระเบียบเกี่ยวกับคำขอให้วิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือ สิ่งปรับปรุงดิน หรือคำขอให้ปรับปรุงดิน หรือที่ดินหรือคำขอให้การอนุรักษ์ดินและน้ำ หรือคำขอให้การบริการแผนที่ ข้อมูลทางแผนที่
  4.    กำหนดให้กรมพัฒนาที่ดินมีหน้าที่ในการทำสำมะโนที่ดิน การพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดินเพื่อการเกษตร ตลอดจนการให้บริการ สาธิต ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน
  5.   กำหนดให้เกษตรกรผู้ใดประสงค์จะให้กรมพัฒนาที่ดินวิเคราะห์ ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือ สิ่งปรับปรุงดินให้ติดต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
  6. กำหนดให้ผู้ใดที่ประสงค์จะให้กรมพัฒนาที่ดินปรับปรุงดินหรือที่ดิน หรืออนุรักษ์ดินและน้ำ หรือให้บริการแผนที่ ข้อมูลทางแผนที่ ให้ยื่นคำขอต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และเสียค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396  

COREHOON


******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!