หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

1abABCP12


BCP ครึ่งปีแรก 2563 มีรายได้รวม 69,665 ล้านบาท EBITDA ติดลบ 1,415 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 6,571 ล้านบาท

บางจากฯ ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 เชื่อว่าธุรกิจผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ยอดการขายน้ำมันผ่านสถานีบริการฟื้นตัวเท่ากับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

     ผลการดำเนินงานกลุ่มบริษัทบางจากฯ ในครึ่งปีแรก 2563 มีรายได้รวม 69,665 ล้านบาท EBITDA ติดลบ 1,415 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 6,571 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.02 บาท ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ผลิตภัณฑ์กลุ่มล่าสุด Gasohol S EVO FAMILY ได้รับกระแสตอบรับดีเยี่ยม ตอบโจทย์คนเดินทางด้วยรถส่วนตัว ส่งผลให้ยอดขายผ่านสถานีบริการฟื้นกลับเท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้

      นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ของกลุ่มบางจากฯ ว่า เชื่อว่าธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลงหลังจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และผ่อนปรนมาตรการการเดินทางมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่งเพิ่มขึ้น

      นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินมีแนวโน้มปรับลดลง หลังจากกลุ่มโอเปกและพันธมิตรร่วมมือกันลดกำลังการผลิตได้ตามข้อตกลง คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงหนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังเริ่มฟื้นตัว โดยในไตรมาส 2 ธุรกิจปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกของปีในภาพรวม แต่ธุรกิจโรงกลั่นยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่นสายการบิน

      นับว่า ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 69,665 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มี EBITDA ติดลบ 1,415 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 134 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผลขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 6,571 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 986 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.02 บาท

      สำหรับ ผลประกอบการไตรมาส 2 ของปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 26,594 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มี EBITDA 1,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 144 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มี Operating EBITDA 2,645 ล้านบาท โดยกลุ่มบริษัทฯ มี Inventory Loss 1,725 ล้านบาท (รวมกลับรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV) 1,635 ล้านบาท) และเมื่อรวมการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าลูกหนี้การค้ารายใหญ่ และการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจค้าปลีกของธุรกิจในกลุ่ม ส่งผลให้ไตรมาสนี้ขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 1,911 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และปรับตัวลดลงร้อยละ 462 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.50 บาท

     ในส่วนของผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจต่างๆ นั้นได้ผ่านจุดต่ำสุดในเดือนเมษายน โดยกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ที่แม้ยังคงได้รับผลกระทบจากค่าการกลั่นที่ยังอยู่ในระดับต่ำตามความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกที่ลดลง ได้ปิดซ่อมหน่วยกลั่นที่ 2 เป็นเวลา 2 เดือนในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ทำให้การผลิตลดลงเหลือร้อยละ 74 ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ 89,300 บาร์เรลต่อวัน เหมาะสมกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ ส่วน กลุ่มธุรกิจการตลาด ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากในไตรมาสนี้มี Inventory Gain ขณะที่ไตรมาสก่อนมี Stock Loss ถึงแม้ว่าปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจการตลาดลดลง

      โดยส่วนใหญ่ลดลงจากการจำหน่ายน้ำมันผ่านตลาดอุตสาหกรรม เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในเดือนเมษายน 2563 ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง ทำให้ปริมาณการจำหน่ายผ่านตลาดค้าปลีกในเดือนเมษายนปรับลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปริมาณจำหน่ายเฉลี่ยของไตรมาสก่อนหน้า แต่เริ่มกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงภาวะปกติในเดือนมิถุนายนหลังจากเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ  ค่าการตลาดสุทธิต่อหน่วยปรับเพิ่มจากสัดส่วนการจำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายที่มีค่าการตลาดสูงกว่าช่องทางตลาดอุตสาหกรรม

      ทั้งนี้ บริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการสะสมเดือนมกราคม - มิถุนายน 2563 อยู่ที่ร้อยละ 15.6 (ข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน) พร้อมกันนี้ ยังดำเนินตามกลยุทธ์ในการขยายจำนวนสถานีบริการเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะชะลอการลงทุนบางส่วนในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 บางจากฯ มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั้งสิ้น 1,212 สาขา

      นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ Gasohol S EVO FAMILY ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดีเยี่ยม พร้อมทั้งยกระดับ E20 S EVO เป็นน้ำมันคุณภาพเกรดพรีเมียมจำหน่ายราคาเท่าเดิม สอดคล้องกับความต้องการใช้ที่เติบโตต่อเนื่องและสนองนโยบายภาครัฐที่จะผลักดันให้เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ มีการนำนวัตกรรมระบบ Digital Payment ผ่านเครื่อง Mobile EDC Banking มาให้บริการในการชำระเงินค่าน้ำมันพร้อมกับการสะสมคะแนน ช่วยอำนวยความสะดวกและสอดคล้องวิถีชีวิตผู้บริโภคในวิถีใหม่สังคมไร้เงินสด และในส่วนของธุรกิจ Non-Oil ร้านกาแฟอินทนิล ขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 มีร้านกาแฟอินทนิลรวม 618 สาขา

     ด้าน กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มี EBITDA 863 ล้านบาท มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวม 151.45 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาวและโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับในไตรมาสนี้เป็นไตรมาสแรกที่โครงการ 'Nam San 3B' โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาวรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มไตรมาส กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ในส่วนของธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล ผลดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

     จากราคาขายผลิตภัณฑ์ B100 ที่ปรับขึ้นค่อนข้างมาก ตามมาตรการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลของภาครัฐ ที่กำหนดให้ B10 เป็นน้ำมันเกรดหลัก ส่วนธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ผลการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์เอทานอลปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการใช้เอทานอลเกรดอุตสาหกรรมเพื่อนำไปผลิตเจลแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค และมีปริมาณการจำหน่ายรวมผลิตภัณฑ์เอทานอลเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

      กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ผลการดำเนินงานดีขึ้นร้อยละ 105 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA แม้ว่ารายได้จะลดลงจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งมีการเลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของแหล่งผลิต Draugen จากเดือนกันยายนมาเป็นช่วงปลายเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายลดลง แต่ในไตรมาสนี้รับรู้ผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินโครนนอร์เวย์ (NOK) เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการตั้งด้อยค่าลดลง

       สถาบัน BiiC ยังคงสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพและการคิดค้นวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อต่อยอดพัฒนาธุรกิจให้กับกลุ่มองค์กรอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการคิดวิธีนำพาธุรกิจให้เติบโตขึ้น และอยู่ระหว่างการพิจารณาสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ หลังจากที่ได้เปิดตัวโครงการ Winnonie ที่นำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

        “การปรับวิสัยทัศน์องค์กร Greenergy Excellence สู่ Evolving Greenovation สร้างทิศทางการพัฒนาบริษัทผ่านนวัตกรรมธุรกิจสีเขียวหลากหลายมากขึ้นในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถสร้างสมดุลทางธุรกิจอันเกิดจากผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ของบริษัทได้ดีขึ้น โดยในครึ่งปีหลังของปี 2563 แม้จะมีสัญญาณว่าธุรกิจได้เริ่มฟื้นตัวจากครึ่งปีแรก แต่เราจะยังคงไม่ประมาท คุมเข้มมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายและการใช้เงินลงทุนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอ และเร่งหา New S-Curve จากธุรกิจใหม่ๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ เริ่มฟื้นตัว กระแสเงินสดจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีสภาพคล่องที่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น” นายชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เกี่ยวกับบางจากฯ

        บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจผู้นำนวัตกรรมสีเขียวเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ดำเนินงานใน 5 ธุรกิจหลักคือ 1) กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน เป็นโรงกลั่นแบบ Complex Refinery ที่ทันสมัย 2) กลุ่มธุรกิจการตลาด ช่องทางหลักในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่ายสถานีบริการของบริษัทฯ กว่า 1,200 แห่ง มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เสริมด้วยธุรกิจ Non – oil ร้านกาแฟอินทนิล เพื่อเพิ่มศักยภาพ

       ในการแข่งขัน 3) กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ผ่านการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของบมจ. บีซีพีจี ประกอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ความร้อนใต้พิภพและน้ำ ในประเทศไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาว 4) กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บมจ. บีบีจีไอ

         ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 5) กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ธุรกิจปิโตรเลียม ผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ผู้พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในประเทศนอร์เวย์ และธุรกิจเหมืองลิเทียม ผ่านการถือหุ้นใน Lithium Americas Corp. (LAC) ผู้ประกอบธุรกิจเหมืองลิเทียมในประเทศอาร์เจนติน่าและสหรัฐอเมริกา

        นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) เพื่อสร้างระบบนิเวศน์สำหรับนวัตกรรมสีเขียว (Green Ecosystem) ส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมที่สนับสนุนการก้าวกระโดดของพลังงานสีเขียวและผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศต่อไป

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!