ส่งออกอัญมณี มี.ค.67 เพิ่ม 9.77% ฟื้น 7 เดือนติด แต่ส่งออกทองวูบ หลังราคาพุ่งแรง
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือน มี.ค.67 มูลค่า 691.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 9.77% ฟื้นตัว 7 เดือนติด หากรวมทองคำมีมูลค่า 1,083.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 50.73% เหตุส่งออกทองคำลด หลังราคาทองโลกผันผวนในทิศทางที่สูงขึ้น รวม 3 เดือน ไม่รวมทอง เพิ่ม 13.36% รวมทอง ลด 0.28% คาดแนวโน้มยังฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจโลก คู่ค้าเติบโตดีขึ้น แนะใช้ AI ช่วยออกแบบ ใช้อินฟลูเอนเซอร์ช่วยทำตลาด มีโอกาสปังแน่
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน มี.ค.2567 มีมูลค่า 691.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.77% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน
และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,083.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 50.73% ส่วนยอดรวม 3 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 2,513.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 13.36% หากรวมทองคำ มูลค่า 4,115.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.28%
“การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ ยังคงฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยฟื้นตัวดีขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนการส่งออกที่รวมทองคำ ลดลงกว่า 50% เนื่องจากราคาทองคำตลาดโลกมีความผันผวนในทิศทางที่สูงขึ้น ทำให้คาดเดาได้ยาก จึงส่งผลให้มีการส่งออกทองคำไปเก็งกำไรลดลง
โดยการส่งออกทองคำรวม 3 เดือน มีมูลค่า 1,601.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 16.11% แยกเป็น ม.ค. มูลค่า 469.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 194.17% ก.พ. มูลค่า 740.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 309.51% และ มี.ค. มูลค่า 391.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 75.02%”
สำหรับ ตลาดส่งออกสำคัญ พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 10.81% ฮ่องกง เพิ่ม 34.29% เยอรมนี เพิ่ม 18.62% อินเดีย เพิ่ม 81.44% เบลเยียม เพิ่ม 70.08% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 5.75% กาตาร์ เพิ่ม 22.83% ญี่ปุ่น เพิ่ม 14.12% อิตาลี เพิ่ม 4.01% แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 21.19%
ทางด้านสินค้าส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 10.58% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 26.59% พลอยก้อน เพิ่ม 129.40% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 11.37% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 28.84% เพชรก้อน เพิ่ม 3.92% เพชรเจียระไน เพิ่ม 7.54% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 15.39% ของทำด้วยไข่มุกและรัตนชาติ เพิ่ม 31.24% ส่วนทองคำ ลด 16.11% เครื่องประดับแพลทินัม ลด 47.19%
นายสุเมธ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออก คาดว่า จะยังคงฟื้นตัวดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินเศรษฐกิจโลก เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2567 ว่าจะอยู่ที่ 3.2% ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญพลิกกลับมาเป็นบวกได้ ทั้งสหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี เบลเยียมและสหราชอาณาจักร
และได้แรงหนุนจากการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับหลายงานทั่วโลก ส่วนทองคำ ยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ และมีโอกาสที่ราคาจะขยับขึ้นได้อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ต้องจับตาประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจขยายตัวเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน และปัญหาค่าครองชีพ ที่ยังเป็นประเด็นที่กดดันเศรษฐกิจ
ส่วนการทำตลาดจากนี้ ควรใช้การตลาดเชิงสร้างสรรค์ด้วย AI มาช่วยสร้างสรรค์ผลงาน เพราะไม่เพียงช่วยให้การสร้างงานต้นแบบได้รวดเร็วมากขึ้น แต่ยังสามารถเป็นเสมือนเพื่อนร่วมคิดที่สอบถาม ให้คำแนะนำ เพื่อเติมเต็มแรงบันดาลใจให้ได้รับไอเดียใหมๆ ในการสร้างรูปแบบให้ตรงตามความคาดหวังของผู้บริโภค
และการสื่อสารกับผู้บริโภค ควรใช้การตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์ที่ยังเป็นเทรนด์ที่มาแรง เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการมากกว่าแค่ตรารับรอง ต้องการความสัมพันธ์ที่จริงใจและน่าเชื่อถือจากผู้มีอิทธิพลหรือเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ซึ่งจะเป็นสองส่วนสำคัญ ที่ช่วยผลักดันธุรกิจให้เติบโต ไม่ว่าเป็นธุรกิจระดับขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่