หมวดหมู่: กรมศุลกากร

1aaae Service


มิติใหม่แห่งการบริการของกรมศุลกากร ‘ระบบบริการพิกัดศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (Tariff e-Service)’ สะดวก รวดเร็ว รองรับนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0

     อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานเปิดงาน’ระบบบริการพิกัดศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (Tariff e-Service)’ ณ ห้องกัญญลักษณ์ บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมโฟร์วิงส์ สุขุมวิท 26

     นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานเปิดงาน ‘ระบบบริการพิกัดศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (Tariff e-Service)’ ณ ห้องกัญญลักษณ์ บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมโฟร์วิงส์ สุขุมวิท 26 ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นการบูรณาการข้อมูล เพื่อเชื่อมโยงการทำงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นนวัตกรรมด้านการบริการของภาครัฐ ที่จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนอำนวยความสะดวกต่อประชาชนทั่วไป เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0

      นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ระบบการบริการพิกัดศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์  (Tariff e-Service) คือ บริการสอบถามข้อมูลการวินิจฉัยพิกัดอัตราศุลกากรทางอินเตอร์เน็ต และ การบริการจำแนกประเภทพิกัดอัตราศุลกากรล่วงหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Advance Tariff Ruling) แบ่งออกเป็น

      1. บริการสอบถามข้อมูลการวินิจฉัยพิกัดอัตราศุลกากรทางอินเตอร์เน็ต เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการให้สามารถสืบค้นผลการจำแนกประเภทพิกัดฯ ที่มีผลคำวินิจฉัยแล้วของกรมศุลกากรด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เนต ซึ่งเป็นระบบบริการที่รองรับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ผู้วินิจฉัยพิกัดอัตราศุลกากร แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากระบบงานปัจจุบัน อาทิ ความซ้ำซ้อนของงานและความผิดพลาดในการนำเข้าข้อมูล มีเวลาเพียงพอที่จะคัดกรองข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า และสามารถนำข้อมูลการวินิจฉัยพิกัดฯ ขึ้นเผยแพร่เพื่อให้บริการสืบค้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว และทันสมัย สำหรับข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้มีทั้งหมด 4 ฐานข้อมูล ประกอบด้วย 1. คำวินิจฉัยการจำแนกประเภทพิกัดศุลกากร 2.ผลการพิจารณาอุทธรณ์พิกัดอัตราศุลกากร 3. ผลคำวินิจฉัยขององค์การศุลกากรโลก ( WCO) 4. ข้อมูลคำวินิจฉัยพิกัดอัตราศุลกากรล่วงหน้า  Pre-classification หรือ Advance Tariff Ruling) ซึ่งแต่เดิมยังไม่เคยมีการเผยแพร่ข้อมูล และหากสืบค้นได้แต่อาจต้องใช้ความพยายามในการนำข้อมูลที่มาจากฐานข้อมูลที่แตกต่างกันมาดำเนินการประมวลผลเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งผู้ใช้งานหรือผู้ประกอบการไม่ได้รับความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล 

       2. การบริการจำแนกประเภทพิกัดอัตราศุลกากรล่วงหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Advance Tariff Ruling) เพื่อช่วยให้ผู้รับบริการที่มีความพร้อมด้านข้อมูล สามารถส่งข้อมูลสอบถามผ่านช่องทางออนไลน์  โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมายื่นคำร้องเพื่อสอบถาม ณ กรมศุลกากร ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเวลาของประชาชนผู้รับบริการ ข้อมูลที่ส่งมาในระบบจะถูกใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณา ช่วยลดภาระงานและข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการนำเข้าข้อมูลซ้ำๆ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสำนักพิกัดอัตราศุลกากร นอกจากนี้ยังมีระบบแจ้งเตือนและติดตามการพิจารณาให้เป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการ  และเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาดำเนินการแล้วเสร็จจะแจ้งผู้ขอรับบริการผ่านทางระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ทราบ เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถติดตามสถานะผลการดำเนินงาน สร้างความโปร่งใสของการให้บริการ

       ระบบบริการพิกัดศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (Tariff e-Service)”จึงเป็นนวัตกรรมการให้บริการของภาครัฐที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานทั้งระบบจนนำข้อมูลขึ้นเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน เพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ผู้วินิจฉัยพิกัดอัตราศุลกากร ลดความซ้ำซ้อนของงานและความผิดพลาด ประหยัดเวลา และสามารถบริการสืบค้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการผ่านพิธีการนำเข้าและส่งออกของ เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0

      อนึ่ง กรมศุลกากรให้ความสำคัญมุ่งเน้นในการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ปกป้องสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศดังวิสัยทัศน์กรมศุลกากรที่ว่า“มุ่งมั่นให้บริการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยและเชื่อมโยงการค้าโลก”ซึ่งสอดรับกับคุณธรรมอัตลักษณ์กรมศุลกากร ที่ว่า “รับผิดชอบ สุจริต จิตบริการ”อันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่กรมศุลกากรต่อไป

 

กรมศุลกากร จับมือกทท. ใช้ e-Matching เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ NSW เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน

    นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดตั้งระบบ National Single Window หรือ NSW ซึ่งเป็นระบบศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลด้วยอิเล็กทรอนิกส์แบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการนำเข้า การส่งออก เป็นการสนับสนุนให้เกิดความพร้อมก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบาย Digital Economy ให้ประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง

      "จากความร่วมมือของ กรมศุลกากร และการท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงได้พัฒนาระบบตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Matching) ผ่าน NSW โดยนำมาใช้กับท่าเรือขนาดใหญ่ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนระหว่างสองหน่วยงาน ลดจำนวนเอกสาร ลดระยะเวลาการให้บริการ อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ให้กับประเทศ" นายกุลิศ กล่าว

     จากระบบเดิม ผู้ส่งออกส่งข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบกรมศุลกากร และพิมพ์ใบกำกับการขนย้าย ให้แก่พนักงานขับรถบรรทุกตู้สินค้า นำมายื่นให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากร และเจ้าหน้าที่ท่าเรือที่ประจำอยู่สถานีตรวจสอบ เพื่อทำการ Matching ใบกำกับการขนย้ายตู้สินค้าที่จะผ่านเข้าท่าเรือ เปลี่ยนมาเป็นระบบใหม่ที่เป็นระบบตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ e-Matching ผู้ส่งออกส่งข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบกรมศุลกากร โดยไม่ต้องพิมพ์เอกสารใบกำกับเพื่อนำมายื่นให้กับเจ้าหน้าที่ประจำสถานีตรวจสอบสินค้า โดยเมื่อพนักงานขับรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์มายังสถานีตรวจสอบสินค้า ณ ท่าส่งออก ทำการชั่งน้ำหนักตู้สินค้า และเจ้าหน้าที่ท่าเรือจะทำการบันทึกหมายเลข ตู้คอนเทนเนอร์ เข้าสู่ระบบ หากข้อมูลตรงกับข้อมูลใบกำกับการขนย้ายที่เชื่อมโยงกับกรมศุลกากร ผ่านระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window :NSW) ระบบจะตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Matching) โดยอัตโนมัติ ซึ่งระบบดังกล่าว สามารถลดระยะเวลา การผ่านสถานีตรวจสอบของท่าเรือ (Main Gate) จากเดิม 3 นาที เหลือเพียง 20 วินาที เท่านั้น อันจะเป็นการส่งผลดีต่อภาคธุรกิจโดยรวมที่จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายและค่าเสียเวลาลงได้ปีละกว่า 2,500 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ได้ถึงปีละกว่า 3,500 ล้านบาท

     อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรจะมุ่งมั่นพัฒนาระบบงานศุลกากร โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาปรับใช้ เพื่อลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศให้ทันต่อโลกยุคปัจจุบัน

      ด้านนายฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ระบบตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Matching) เชื่อมโยงผ่านระบบ NSW ที่ท่าเรือแหลมฉบัง สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงการบริการในเรื่อง Doing Business ความสะดวก ทางการค้าระหว่างประเทศให้การปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานมีการเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลร่วมกันด้วย ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย อันจะเป็นการลดขั้นตอนกระบวนการทำงานระยะเวลา และค่าใช้จ่ายที่เป็นไปตามสากล

     โดยท่าเรือแหลมฉบังได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาดำเนินกิจกรรมต่างๆ และบูรณาการข้อมูลร่วมกับกรมศุลกากร ที่จะสนับสนุนการบูรณาการในทุกมิติและเล็งเห็นว่าระบบ e-Matching นี้สามารถลดระยะเวลาการจอดรอคิวของรถบรรทุก ลดค่าใช้จ่ายด้านเอกสาร และสามารถส่งเสริมศักยภาพในการส่งออกได้จริง ซึ่งระบบดังกล่าวไม่เพียงแต่สนับสนุนเรื่อง Doing Business ตามนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสนับสนุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor:EEC) ที่มีเป้าหมายยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้กลายเป็น World-Class Economic Zone อีกด้วย

     นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2561 จะเป็นปีที่กรมศุลกากรร่วมมือกับ กทท. ผลักดันและนำระบบ IT เข้ามาใช้ในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อยกอันดับของประเทศให้ดียิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้อันดับรวมของประเทศดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

            อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!