แนวหน้า : นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส. ) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส. ณ วันที่ 6 ส.ค. 58 ว่า มียอดปล่อยกู้และปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 3.32 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 5.18 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายช่วยเกษตรกรรายย่อย 8.1 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 1.16 แสนล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการผ่าน 3 โครงการย่อย ได้แก่ 1.โครงการปลดเปลื้องหนี้สิน ตั้งเป้า 2.8 หมื่นราย มูลหนี้ 4,000 ล้านบาท ล่าสุดจำหน่ายหนี้สูญ ให้เกษตรกรในรายที่เสียชีวิต ทุพพลภาพไปแล้ว 4,464 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 217 ล้านบาท

    2.โครงการปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งเป้าหมายช่วยลูกค้า 3.4 แสนราย มูลหนี้ 4.8 หมื่นล้านบาท ล่าสุดได้ขยายเวลาการชำระหนี้ เป็น 15 ปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปี ฟื้นฟูอาชีพ และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูอาชีพรายไม่เกิน 5 หมื่นบาทแล้วจำนวน 6.93 หมื่นราย คิดเป็นมูลหนี้ 9,486 ล้านบาท และโครงการขยายเวลาชำระหนี้ตั้งเป้าหมายช่วยลูกหนี้ 4.5 แสนรายคิดเป็นมูลหนี้ 6.4 หมื่นล้านบาท ล่าสุดได้ขยายเวลาการชำระหนี้ตามกระแสเงินสด งดคิดดอกเบี้ยปรับหนี้เดิม และให้สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ไปแล้ว 2.58 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 4.21 หมื่นล้านบาท

      ขณะที่ความคืบหน้าเรื่องการแก้หนี้นอกระบบ โดยจากการสำรวจข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยล่าสุดพบว่า  มีจำนวน 1.6 ล้านราย มีเกษตรกรเป็นหนี้นอกระบบ 1.49 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 2.1 หมื่นล้านบาท  หรือเฉลี่ยเป็นหนี้ 1.4 แสนบาทต่อราย นอกจากนี้ยังพบว่าในจำนวนดังกล่าวมีเกษตรกรกว่า 9 หมื่นราย คิดเป็นมูลหนี้ 1.1 หมื่นล้านบาท ที่มีปัญหาหนี้สินจนต้องเอาที่ดินไปจำนอง ขายฝาก และกำลังจะถูกยึดที่ดินทำกิน

    ทั้งนี้ ธ.ก.ส. อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลลูกหนี้ทั้งหมดว่ามีลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบ และหนี้ที่กำลังจะถูกยึดที่ดินที่ติดจำนองว่ามีจำนวนเท่าไรคาดว่าได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในอีก 2 สัปดาห์  เบื้องต้นคณะกรรมการธนาคารได้อนุมัติขยายเวลาโครงการแก้หนี้นอกระบบที่จะปิดโครงการในเดือน ก.ย. 58 นี้ ขยายเวลาดำเนินการไปอีก 1 ปี สิ้นสุดเดือน ก.ย. 59 และขอขยายวงเงินช่วยเหลือเกษตรกร จากที่ปล่อยกู้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย จะให้เพิ่มเป็น 1.5 แสนบาทต่อราย ( กรณีที่มีหลักประกัน ) แล้ว ซึ่งขณะนี้ทางคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) ส่วนอำเภอและจังหวัด ได้เร่งทำการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ในแต่ละพื้นที่ หากลูกหนี้มีภาระหนี้เกินกว่าวงเงินที่ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ 1.5 แสนบาทต่อราย ก็จะดึงเข้าโครงการกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งปัจจุบันมีเงินที่เหลือสำหรับปล่อยกู้อยู่อีก 642 ล้านบาท สามารถกู้ได้สูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 5 %  และกรณีที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ก็จะนำเข้าสู่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินคณะใหญ่ต่อไป

   ด้านนายสุรพงศ์ นิลพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.  เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้เปิดทดสอบระบบคอมพิวเตอร์เพื่อรองรับการเปิดตัวกองทุนการออมแห่งชาติ ( กอช. ) ที่จะมีการเปิดรับสมาชิกอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ส.ค. นี้ ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายดึงกลุ่มลูกค้าเงินฝากและบุคคลทั่วไปเข้า กอช.ในปีนี้ราว 3 แสนราย และในปี 2559 ตั้งเป้าเพิ่มอีก 1 ล้านราย โดยคาดว่าภายในปี 2560 จะมีลูกค้าประชาชนเข้าระบบ กอช. ผ่านเครือข่าย ธ.ก.ส. ไม่น้อยกว่า 3 ล้านราย ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีฐานลูกค้าเกษตรกร 4  ล้านครอบครัว เมื่อคิดเป็นจำนวนเกษตรกรและสมาชิกที่เกี่ยวข้องจะมีจำนวนมากถึง 16 ล้านคน และ ธ.ก.ส. จะได้รับค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมจาก กอช. ในอัตรา 5 บาทต่อ 1 รายการ

      ทั้งนี้ จากการทำการประชาสัมพันธ์เรื่อง กอช. กับลูกค้าและประชาชนทั่วไปพบว่ามีผู้ที่แสดงความต้องการเข้าระบบ กอช. ผ่านเครือข่าย ธ.ก.ส. ทันทีที่เปิดรับสมัครกว่า 1.2 แสนราย วงเงินประมาณ 50 ล้านบาท โดย 80 %  เป็นกลุ่มลูกค้าเงินฝากของธนาคารที่เหลืออีก 20 % เป็นบุคคลทั่วไป และจากการทดลองระบบที่สาขาพบว่า สามารถเปิดรับฝากเงิน กอช. ได้เฉลี่ย 2 หมื่นรายต่อวัน โดยผู้ฝากใช้หลักฐานคือบัตรประชาชนในการเปิดบัญชี กอช.

      "มั่นใจว่า ทำได้ 3 ล้านราย เพราะฐานลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เกี่ยวข้องมีมากถึง 16 ล้านคน โดยธนาคารจะทำการประชาสัมพันธ์ กอช. ไปควบคู่กับเงินฝากกองทุนทวีสุข ที่มีเงื่อนไขให้ออมตอ่เนื่องอย่างน้อย 5 ปี และมีประกันชีวิต ซึ่งลูกค้าจะได้ประโยชน์จากกองทุนทวีสุขในช่วงก่อนเกษียณ พอหลังเกษียณก็มารับประโยชน์จาก กอช. ต่ออีกทอดหนึ่ง " นายสุรพงศ์กล่าว