หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV5 copy copy


การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างทั่วถึง

       คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการ SMEs ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนี้

แนวทางการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม

      เพื่อให้การช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ของรัฐบาลเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs กระทรวงการคลังเห็นควรเสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ดังนี้

  1. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีรายละเอียดดังนี้

      1) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้จัดสรรวงเงินจำนวน 80,000 ล้านบาท จากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ให้กับธนาคารออมสินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) โดยตรง ในการนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ของรัฐบาลเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เห็นควรให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ดังนี้

     1.1) จัดสรรวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท จากวงเงิน 80,000 ล้านบาท โดยใช้เงื่อนไขของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เดิม เพื่อให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี

     1.2) ให้สถาบันการเงินตามข้อ 1.1) ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.ก. Soft loan วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย คิดดอกเบี้ยกับผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ยังคงเป็นไปตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563

       2) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ บสย. ดำเนินโครงการ บสย. SMEs สร้างไทย ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 (PGS 8) เพื่อรองรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น NPLs แต่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว โดยที่ปัจจุบันโครงการ บสย. SMEs สร้างไทยมีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเหลืออยู่ 51,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากวงเงินค้ำประกันสินเชื่อของโครงการ PGS 8 ใกล้หมด แต่ยังมีความต้องการใช้การค้ำประกันสินเชื่ออยู่ ประกอบกับการดำเนินโครงการตามข้อ 1) เป็นการให้สินเชื่อกับกลุ่มที่มีความเสี่ยง เนื่องจากไม่เคยมีประวัติในการขอสินเชื่อ สถาบันการเงินไม่เคยเห็นพฤติกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้น จึงเห็นควรทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 โดยแบ่งวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 10,000 ล้านบาทจากโครงการ บสย. SMEs สร้างไทย โดยใช้เงื่อนไขของโครงการ PGS 8 เดิม เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.ก. Soft loan

  1.      นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น NPLs ให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้โดยเร็ว เห็นควรมอบหมายสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็น NPLs ตามอำนาจหน้าที่ของ สสว. ในการช่วยเหลืออุดหนุนทางการเงิน การให้กู้ยืมเงิน การร่วมลงทุน หรือการให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อไป โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2563
  2.      เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ประโยชน์สูงสุด เห็นควรให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจพิจารณาลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan ให้สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากที่สุด เพื่อให้สภาพคล่องที่เหลืออยู่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ถูกนำไปใช้เพื่อเสริมการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก. Soft loan
  3.      เห็นควรมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง พิจารณาทบทวนการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการดำเนินงาน และการกำหนดระบบแรงจูงใจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้สอดคล้องกับพันธกิจ และการดำเนินงานตามนโยบายที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้รับมอบหมายในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

     สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลได้มีมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 เศรษฐกิจไทยได้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจน กระทรวงการคลังจึงได้จัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 และมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 และวันที่ 7 มกราคม 2563 ตามลำดับ นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลยังได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยได้จัดทำมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงิน 150,000 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563

        และออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของรัฐบาลอย่างทั่วถึง กระทรวงการคลังได้แบ่งการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan

     1.1 คุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs

      ผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan มีคุณสมบัติ ดังนี้

     1) มีวงเงินสินเชื่อรวมทั้งกลุ่มธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ (Single Lending Limit)

      2) ไม่มีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPLs) ของสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้ การจัดชั้นพิจารณาเป็นรายลูกหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPLs หลังวันที่ 31 ธันวาคม 2562 สามารถยื่นขอสินเชื่อตามโครงการนี้ได้ โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง

      3) ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน

      4) ไม่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ

      1.2 แนวทางการให้ความช่วยเหลือ

มาตรการภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan ประกอบด้วย

     1) มาตรการสนับสนุนให้สินเชื่อเพิ่มเติม วงเงิน 500,000 ล้านบาท โดย ธปท. สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 และสถาบันการเงินให้สินเชื่อใหม่แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ระยะเวลากู้ 2 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา  6 เดือน ทั้งนี้ การให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan เป็นการพิจารณาตามเงื่อนไขของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ทั้งนี้ ธปท. ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. Soft loan ออกประกาศห้ามไม่ให้สถาบันการเงินเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ รวมถึงดอกเบี้ยผิดนัดจากลูกหนี้ภายใต้มาตรการนี้ ส่งผลให้ลูกหนี้ได้ประโยชน์สูงสุด

     2) มาตรการพักชำระหนี้ (Debt Holiday) ให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งชะลอการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้

  1.   กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan ได้ แต่สถาบันการเงินไม่ส่งเข้าร่วมมาตรการตาม พ.ร.ก. Soft loan

     2.1 คุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs

     เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตามข้อ 1.1 สามารถเข้า พ.ร.ก. Soft loan ได้ แต่เนื่องจากสถาบันการเงินพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความเสี่ยงหรือเป็นผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยที่อาจมีหลักประกันไม่เพียงพอ จึงไม่ส่งเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan

      2.2 แนวทางการให้ความช่วยเหลือ

       อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีมาตรการด้านการเงินที่อยู่ระหว่างการดำเนินการซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มนี้สามารถเข้าร่วมได้ ได้แก่

     1) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ของธนาคารออมสิน วงเงินโครงการ คงเหลือ 13,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายสูงสุด 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี

     2) โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) ของธนาคารออมสิน วงเงินโครงการคงเหลือ 7,500 ล้านบาท วงเงินต่อรายสูงสุด 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลากู้ 7 ปี

     3) โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงินโครงการคงเหลือ 14,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายสูงสุด 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3 ต่อปี ใน 3 ปีแรก ระยะเวลากู้ 7 ปี

     4) โครงการสินเชื่อรายย่อย Extra Cash ของ ธพว. วงเงินโครงการคงเหลือ 9,900 ล้านบาท วงเงินต่อรายสูงสุด 3 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี

               สำหรับ ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพแต่มีหลักประกันไม่เพียงพอสามารถเข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้

  1. กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่าย พ.ร.ก. Soft loan

      3.1 กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ในช่วงที่ผ่านมาไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จึงไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้ สามารถเข้าร่วมโครงการสินเชื่อและโครงการค้ำประกันสินเชื่อตามข้อ 2.2 ได้ แต่เนื่องจากไม่เคยมีประวัติในการขอสินเชื่อ สถาบันการเงินไม่เคยเห็นพฤติกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้สถาบันการเงินอาจต้องพิจารณาคุณสมบัติเพิ่มเติม รวมถึงมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ หรืออาจไม่อนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้ จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติม

     3.2 กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น NPLs

      ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น NPLs สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสถานะเป็น NPLs แต่ยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และ 2) ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็น NPLs และมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยที่ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางการเงินและมีความเสี่ยงสูง ทำให้ไม่ได้รับการพิจารณาให้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ

      นอกเหนือจากผู้ประกอบการ SMEs ทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินเกินกว่า 500 ล้านบาท หรือเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ซึ่งไม่เข้าข่ายคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. Soft loan เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs  กลุ่มนี้ ถือเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ มีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงินในการเข้าถึงสินเชื่อปกติของสถาบันการเงิน และสามารถมีช่องทางการระดมทุนที่หลากหลาย เช่น การเพิ่มทุนโดยเจ้าของกิจการ การออกหุ้นกู้ เป็นต้น

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396 

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!