หมวดหมู่: เศรษฐกิจทั่วไป

PwCสินสิริ


PwC ประเทศไทย แนะบริษัทจดทะเบียน-นักลงทุนศึกษาผลกระทบ

หลังมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวทางบัญชีสิ้นสุดลงสิ้นปี 63

          PwC ประเทศไทย เผยมาตรการผ่อนปรนทางบัญชีชั่วคราวจำนวน 2 ฉบับซึ่งหนึ่งในนั้นมีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 31 .. 63 จะส่งผลกระทบตัวเลขในงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั้งในส่วนมูลค่าสินทรัพย์รายการใหญ่ ลูกหนี้การค้า สินทรัพย์ทางการเงินทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี และค่าความนิยม เป็นต้น ซึ่งผลพวงเหล่านี้อาจทำให้ตัวเลขในงบการเงินไตรมาสที่ 1/64 แตกต่างออกไปจากเดิม แนะบจ.ต้องประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบรวมทั้งสื่อสารให้นักลงทุนทราบอย่างชัดเจน ขณะที่นักลงทุนต้องอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินเพื่อประกอบความเข้าใจถึงข้อผ่อนปรนที่บริษัทเลือกใช้
         
จากการที่สภาวิชาชีพบัญชีได้ออกมาตรการผ่อนปรนเป็นการชั่วคราวจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ แนวปฏิบัติทางการบัญชีเรื่องมาตราการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชี เพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแนวปฏิบัติทางการบัญชีเรื่องมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับกิจการที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งข้อผ่อนปรนดังกล่าว ถือเป็นทางเลือกที่ให้กับบริษัทที่ใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ซึ่งหนึ่งในข้อผ่อนปรนดังกล่าว จะหมดอายุลง สิ้นเดือนธันวาคมปีนี้

          นางสาว สินสิริ ทังสมบัติ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวดังกล่าว ได้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่องบการเงินของกิจการปี 63 ค่อนข้างเยอะ โดยมีบจ.ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จำนวนมากที่เลือกใช้ข้อผ่อนปรนของสภาวิชาชีพบัญชี ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากงบการเงิน ไตรมาสที่ 2/63 เฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อยู่ในกลุ่ม SET100 จำนวน 105 บริษัทพบว่า 70% ของบริษัทในกลุ่ม SET100 เลือกใช้ข้อผ่อนปรนของสภาวิชาชีพบัญชี และหมวดธุรกิจที่ทุกบริษัทในกลุ่มเลือกใช้ข้อผ่อนปรนประกอบด้วย ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (Banking) และธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ (Finance and Securities) ส่วนกลุ่มธุรกิจที่เลือกใช้ข้อผ่อนปรนอยู่ในระดับน้อย ได้แก่ หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค (Energy and Utilities) โดยมีจำนวนเพียง 6 บริษัทเท่านั้น จากทั้งหมด 25 บริษัทในกลุ่มนี้

          บริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนที่ใช้งบการเงิน ต้องทำความเข้าใจถึงมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับงบการเงินหลังจากที่มาตรการนี้สิ้นสุดลง โดยในส่วนของนักลงทุนจำเป็นที่จะต้องอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพื่อให้ทราบว่าบริษัทนั้นๆ เลือกใช้ข้อผ่อนปรนไหนบ้างและศึกษาว่าผลที่จะตามมาหลังจากข้อผ่อนปรนสิ้นสุดลงเป็นอย่างไร ขณะที่บจ.ก็จะต้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ชัดเจนและครบถ้วนแก่ผู้ลงทุนด้วยนางสาว สินสิริ กล่าว

          ทั้งนี้ แนวปฏิบัติทางการบัญชีเรื่องมาตราการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของสภาวิชาชีพบัญชีนั้นครอบคลุม 7 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. การวัดมูลค่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยวิธีอย่างง่าย (TFRS 9) 2. การวัดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในตราสารทุนที่ไม่อยู่ในความต้องการของตลาด (TFRS 9) 3. การวัดมูลค่ายุติธรรมสำหรับรายการสินทรัพย์ทางการเงินและสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน (TFRS 13) 4. การเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่า (TFRS 16) 5. การกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี (TAS 12) 6. การประเมินข้อบ่งชี้การด้อยค่าของสินทรัพย์ (TAS 36) และ 7. การประมาณการหนี้สิน (TAS 37)

          นางสาว สินสิริ กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดมาตรการผ่อนปรนส่วนใหญ่นั้นจะกระทบกับการประมาณการที่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคต และการประมาณการดังกล่าว ส่วนใหญ่กระทบกับการแสดงมูลค่าของสินทรัพย์ในงบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคิดค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งปกติในการประมาณการจะต้องใช้ข้อมูลในอดีตควบคู่ไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และต้องคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย แต่ในข้อยกเว้นกำหนดทางเลือกไม่ต้องนำข้อมูลที่มีการคาดการณ์ในอนาคต (Forward-looking information) มาใช้ในการคิดมูลค่าของผลขาดทุนทางด้านเครดิต

          นอกจากนี้ ยังมีข้อผ่อนปรนสำหรับการวัดมูลค่ายุติธรรม เช่น การให้กิจการสามารถเลือกวัดมูลค่ายุติธรรมของตราสารทุนที่ไม่อยู่ในความต้องการของตลาดในแต่ละรอบระยะเวลาสิ้นไตรมาสและสิ้นปีของปี 2563 ด้วยมูลค่ายุติธรรม วันที่ 1 มกราคม 2563 แทนการวัดมูลค่ายุติธรรมใหม่ทุกไตรมาส ซึ่งในการคาดการณ์มูลค่ายุติธรรม เวลานั้น (1 .. 63) อาจยังไม่ได้มีผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก รวมทั้งในการจัดทำมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน และสินทรัพย์ทางการเงินบางประเภทที่ต้องใช้การประมาณการ กิจการสามารถให้น้ำหนักของข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นน้ำหนักน้อย

          สำหรับการประเมินการด้อยค่าได้ให้ข้อผ่อนปรน 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 เป็นการให้ทางเลือกที่จะไม่นำสถานการณ์โควิด-19 มาถือเป็นข้อบ่งชี้ของการด้อยค่า ซึ่งหากไม่มีข้อผ่อนปรนดังกล่าว การเกิดสถานการณ์โควิด-19 จะถือเป็นสถานการณ์ทางด้านลบและเป็นเหตุให้กิจการต้องทำการทดสอบการด้อยค่า ดังนั้น การให้ข้อยกเว้นในข้อนี้จึงทำให้กิจการไม่ต้องทำการทดสอบการด้อยค่า และส่วนที่ 2 เป็นการผ่อนปรนในเรื่องของการที่กิจการสามารถเลือกที่จะไม่ต้องนำข้อมูลจากสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจกระทบต่อการพยากรณ์ทางการเงินในอนาคตมาใช้ประกอบการทดสอบการด้อยค่า สำหรับสินทรัพย์บางกลุ่มที่ต้องทำการทดสอบการด้อยค่าเป็นประจำทุกปี ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อบ่งชี้ของการด้อยค่าก็ตาม ซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าวครอบคลุมถึงค่าความนิยม สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ยังไม่พร้อมใช้งาน

          นอกจากนี้ ข้อผ่อนปรนดังกล่าวยังให้ทางเลือกกับกิจการในการที่จะไม่นำข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีความไม่แน่นอนซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประมาณกำไรทางภาษีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาเป็นข้อมูลในการประมาณความเพียงพอของกำไรทางภาษีที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีและรับรู้เป็นสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีได้

          ขณะที่ประเด็นทางบัญชีอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมในการจัดทำงบการเงินภายใต้วิกฤตโควิด-19 เช่น การบัญชีกรณีที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ การบัญชีป้องกันความเสี่ยง การประมาณการหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างองค์กร การรับรู้รายได้ และการวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือยังเป็นประเด็นที่บริษัทต้องพิจารณาในการจัดทำงบการเงินปี 2563

          นางสาว สินสิริ กล่าวต่อว่า การให้ข้อผ่อนปรนดังกล่าวยังส่งผลกระทบกับมูลค่าสินทรัพย์รายการใหญ่ๆ หลายรายการในงบการเงิน เช่น ลูกหนี้การค้า ลูกหนี้สัญญาเช่า ที่ดินอาคารและอุปกรณ์ สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน สินทรัพย์ทางการเงินทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี และค่าความนิยม ดังนั้น หากการผ่อนปรนสิ้นสุดลงสิ้นปีนี้นั่นหมายความว่า ในการจัดทำงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาสิ้นสุด 31 มีนาคม 2564 บริษัทจะต้องหยุดการปฏิบัติตามข้อผ่อนปรนและกลับไปใช้หลักการตามปกติที่กำหนดอยู่ในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ซึ่งอาจส่งผลให้มูลค่าของสินทรัพย์ที่แสดงอยู่เปลี่ยนแปลงไปได้

          จากการเก็บรวบรวมข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นพบว่า ข้อผ่อนปรนที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่ม SET100 เลือกใช้เป็นลำดับสูงที่สุด อันดับที่ 1 คือ เรื่องของการวัดมูลค่าผลขาดทุนที่เกิดจากการด้อยค่าของลูกหนี้ (คิดเป็น 66% ของบริษัทใน SET100 ที่เลือกใช้ข้อผ่อนปรนฉบับนี้) อันดับที่ 2 คือ เรื่องการประเมินข้อบ่งชี้ของการด้อยค่า (62%) และอีกข้อผ่อนปรนหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การเลือกใช้ข้อผ่อนปรนในเรื่องของการด้อยค่าของค่าความนิยม (43%) เนื่องจากไม่ใช่ทุกบริษัทจะมีค่าความนิยม

          ข้อมูลเหล่านี้ย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่นักลงทุนต้องอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินเพื่อประกอบความเข้าใจข้อผ่อนปรนที่บริษัทเลือกใช้ เพราะบริษัทแต่ละแห่งเลือกใช้ข้อผ่อนปรนที่แตกต่างกันไปทำให้เกณฑ์ในการจัดทำงบการเงินอาจมีความแตกต่างกันได้ ในส่วนของบริษัทจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนรวมถึงต้องมีการเปิดเผยการใช้วิจารณญาณในการประมาณการต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับนักลงทุนอย่างครบถ้วนด้วย เพราะแต่ละบริษัทอาจเลือกใช้ข้อผ่อนปรนที่เหมือนกัน แต่ใช้วิจารณาญาณที่แตกต่างกันซึ่งอาจส่งผลให้ตัวเลขที่ทำการประมาณการต่างออกไป สุดท้าย บริษัทจะต้องประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อข้อผ่อนปรนสิ้นสุดลงเพื่อจะได้เตรียมการสื่อสารและส่งสัญญาณให้กับผู้ใช้งบการเงินได้ทราบว่า ตัวเลขในไตรมาสที่ 1/64 จะได้รับผลกระทบหลังจากหมดข้อผ่อนปรนนางสาว สินสิริ กล่าวทิ้งท้าย

 

A12143

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!