หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV 7


ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัดพลัดแอกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่จังหวัดสระบุรี

     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างตามคำขอประทานบัตรที่ 4/2558 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พลัดแอกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่จังหวัดสระบุรี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมม (อก.) เสนอโดยเมื่อ หน่วยงานเจ้าของพื้นที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว ให้ อก. โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

อก. รายงานว่า

  1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด พลัดแอกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นผู้ถือประทานบัตรที่ 28608/15360 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ตำบลหน้าพระลานอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ 267 ไร่ 94 ตารางวา ซึ่งประทานบัตรดังกล่าวจะครบกำหนดสิ้นอายุในวันที่ 30 พฤษภาคม 2563
  2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด พลัดแอกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ได้ยื่นคำขอประทานบัตรใหม่ที่ 4/2558 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างทับพื้นที่ประทานบัตรเดิมทั้งหมดของตนเองซึ่งจะครบกำหนดสิ้นอายุในวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 เนื้อที่ 267 ไร่ 94 ตารางวา
  3. พื้นที่คำขอประทานบัตรแปลงนี้เป็นที่ป่าตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484 ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด พลัดแอกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำเหมืองไว้แล้ว โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ของลุ่มน้ำป่าสักตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 และอยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2538 เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานและแผนปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงการระเบิดและย่อยหินไปเป็นเทคโนโลยีการทำเหมืองหินสำหรับพื้นที่ทั่วไปและพื้นที่ทดลอง บริเวณตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี และอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้อนุญาตให้เข้าทําประโยชน์ในพื้นที่แล้วพื้นที่ไม่เป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ไม่เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับการทำเหมืองตามระเบียบและกฎหมายของส่วนราชการต่างๆ และการปิดประกาศการขอประทานบัตรไม่มีผู้ร้องเรียนคัดค้าน

  1. การดำเนินโครงการ

        4.1 เทคนิคและวิธีการทำเหมือง การออกแบบการทำเหมืองสำหรับคำขอประทานบัตรที่ 4/2558 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พลัดแอกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นไปตามแผนผังโครงการทำเหมือง พื้นที่ของโครงการทั้งหมดเนื้อที่ 267 ไล่ 94 ตารางวา คิดเป็นพื้นที่ทำเหมืองรวม 156 ไร่ มีปริมาณสำรองแร่ที่สามารถทำเหมืองได้ประมาณ 18.8 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 3,384 ล้านบาท  โดยจะเว้นพื้นที่การทำเหมืองทางด้านทิศเหนือ หน้าเหมืองมีลักษณะเป็นขั้นบันไดบนภูเขา ซึ่งแต่ละขั้นมีความสูง ไม่เกิน 10 เมตรและมีความลาดเอียงหน้าเหมือง โดยรวมไม่เกิน 45 องศา เพื่อความปลอดภัย

4.2 ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ

   หินปูนเป็นวัตถุดิบสำคัญเพื่อรองรับการเติบโตของโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แหล่งหินปูนของจังหวัดสระบุรี เป็นแหล่งหินปูนคุณภาพดีมีคุณภาพเหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง แร่ที่ผลิตได้ของโครงการส่วนใหญ่รองรับความต้องการใช้ในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ความต่อเนื่อง ของการทำเหมืองในพื้นที่ดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความมั่นคงของวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

     ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีการประเมินความคุ้มค่าและความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจากการประเมินพบว่า โครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อท้องถิ่นและประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าความเสียหายจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น โดยพบว่า ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการอยู่ในระดับที่ดีมาก โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 346.03 ล้านบาท ที่อัตราคิดลด (Discount Rate) ที่ร้อยละ 7.5 และมีอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR)  ที่ร้อยละ 28.23 และมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 3.05 ปี ซึ่งสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลาน้อยกว่าอายุประทานบัตร และเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าปัจจุบันสุทธิกับมูลค่าที่สูญเสียไปของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการที่ 40.09 ล้านบาท  ปรากฏว่ามูลค่าโครงการสุทธิภายหลังหักมูลค่าที่สูญเสียไปของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการเท่ากับ 305.94 ล้านบาท

    การดำเนินการของโครงการจะสร้างผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมให้ภาครัฐ ได้แก่ ผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐเพื่อตอบแทนการออกประทานบัตร ค่าภาคหลวงแร่ เงินบำรุงพิเศษ ภาษีในรูปแบบต่างๆ โครงการจะมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินลงทุน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ การจ้างงาน โดยเน้นการจ้างงานที่เป็นแรงงานท้องถิ่นซึ่งจะก่อให้เกิดการกระจายรายได้และส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน เช่น

รายการ   จำนวนเงิน (ล้านบาท)

- ค่าภาคหลวงแร่    135.50

- ผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ      10.39

- เงินบำรุงพิเศษ     6.78

- ผลประโยชน์ที่ท้องถิ่นจะได้รับ ได้แก่ กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ และกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ 18.82

- ภาษีเงินได้           230.34

รวม         401.83

     มีการจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ พัฒนาท้องถิ่นและการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ โครงการจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ได้จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง และธุรกิจบริการอื่นๆ อีกจำนวนมาก

4.3 การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

     การทำเหมืองที่ผ่านมาผู้ถือประทานบัตรได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมครบถ้วน ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมพบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้โดยการทำเหมืองที่ผ่านมาไม่พบปัญหาการร้องเรียนคัดค้าน

     การทำเหมืองต่อไปจะมีลักษณะของกิจกรรมเช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการมาแล้ว จึงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญและได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่เสนอไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องการป้องกันฝุ่นละออง ระดับเสียง แรงสั่นสะเทือน คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต การจ้างแรงงาน การมีส่วนร่วมสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของประชาชนซึ่งจะสามารถควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและมีมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรายงานผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

      การฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองได้กำหนดให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนผังโครงการทำเหมือง โดยทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่หน้าเหมืองที่ผ่านการทำเหมืองแล้วให้มีสภาพปลอดภัย ทำการจัดทำแนวกำบังธรรมชาติเพื่อสร้างทัศนียภาพที่ดี ปลูกไม้ยืนต้นและพืชคลุมดิน  บำรุงรักษาไม้ยืนต้นบริเวณแนวเขตที่ไม่ทำเหมือง

       ทั้งนี้ จะทำการฟื้นฟูควบคู่ไปพร้อมกับการทำเหมือง โดยมีการจัดตั้งกองทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองและดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและท้องถิ่นที่ตั้งโครงการ ได้แก่ กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กำหนดจากอัตราการผลิตในแต่ละปี ในสัดส่วน  0.5 บาทต่อเมตริกตัน แต่ไม่น้อยกว่า 200,000บาทต่อปี และกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่

     กำหนดจากอัตราการผลิตในแต่ละปี ในสัดส่วน 1 บาทต่อเมตริกตัน แต่ไม่น้อยกว่า 500,000 บาทต่อปี ตลอดอายุประทานบัตร และจัดทำหลักประกันการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง และประกันภัยความรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ของบุคคลภายนอก สำหรับ การทำเหมืองประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3

    การบริหารกองทุน โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์ในลักษณะไตรภาคี ซึ่งมีผู้แทนจากส่วนราชการ ผู้ประกอบการ ชุมชน รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้แทนสถานศึกษา และวัดในพื้นที่เข้าร่วมในคณะกรรมการ ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนต่างๆ เพื่อดำเนินงานสนับสนุนกิจกรรมทางด้านสังคมและการพัฒนาท้องถิ่นโดยผู้ขอประกอบการต้องรายงานผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของกองทุนต่างๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเป็นระยะๆ ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ

  1.      กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ตรวจสอบพื้นที่คำขอประทานบัตรร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และกรมป่าไม้แล้ว ปรากฏว่า สภาพแวดล้อมไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่มีปัญหาด้านมลภาวะหรือสร้างความขัดแย้งกับราษฎรและไม่มีปัญหาร้องเรียนคัดค้านการทำเหมือง
  2.     พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ซึ่งตามบทเฉพาะกาล มาตรา 188 บัญญัติให้บรรดาคำขอทุกประเภทที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับถือว่าเป็นคำขอตามพระราชบัญญัตินี้และให้พิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่และการอนุญาตให้ทำเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง
  3.      การดำเนินการในขั้นตอนนี้ไม่ได้เป็นการพิจารณาอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ แต่เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าวแล้ว จะได้ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396  

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!