หมวดหมู่: หุ้นเด่นวันนี้
13
ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ย่ำฐานหลังวานนี้รีบาวด์แรงทะลุ 1,700 จุด แต่ Sentiment ตปท.เป็นลบ
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ คาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คงยัง
ย่ำฐานที่ระดับ 1,700 จุด แต่อาจบวก-ลบได้เล็กน้อย เนื่องจากวานนี้รีบาวด์ขึ้นมาแรงและปิดเหนือ 1,700 จุด แต่วันนี้ปัจจัยต่าง
ประเทศไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะราคาน้ำมันปรับตัวลงแรงเป็นเรื่องที่ไม่ดีนักสำหรับตลาดหุ้นไทย
แต่เชื่อว่าเม็ดเงินจาก RMF และ LTF ยังคงไหลเข้าจะช่วยประคองตลาดฯ ในช่วงนี้ได้ จึงเชื่อว่าดัชนีไม่น่าจะลงหลุด
แนวรับที่ 1,696 จุด อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามคือการทยอยประกาศงบงวดไตรมาส 3/60 ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลให้มีทั้งแรงขายและการเก็งกำไรเกิดขึ้นระหว่างวัน
ส่วนการที่ญี่ปุ่นประกาศอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ออกมาต่ำกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดภูมิภาคปรับลงเป็น
Sentiment ไม่ดีต่อตลาดด้วยเช่นกัน
พร้อมให้กรอบการเคลื่อนไหววันนี้ที่ 1,696-1,710 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (14 พ.ย.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,409.47 จุด ลดลง 30.23 จุด
(-0.13%) ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,578.87 จุด ลดลง 5.97 จุด (-0.23%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,737.87 จุด ลดลง 19.72 จุด (-0.29%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 129.03 จุด ,ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 13.34 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 126.01 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 25.10 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 1.04 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 8.13 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 0.29 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (14 พ.ย.60) 1,702.63 จุด เพิ่มขึ้น 15.58 จุด (+0.92%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,210.22 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 พ.ย.60
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (14 พ.ย.60) ปิดที่ระดับ 55.70 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 1.06 ดอลลาร์ หรือ 1.9%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (14 พ.ย.60) ที่ 7.04 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 33.04 แข็งค่าหลังขาดปัจจัยถือดอลลาร์ มองกรอบ 33.00-33.10
- โบรกเกอร์ส่งหนังสือเวียนแจงเกณฑ์ลูกค้าเทรดหุ้น นำเงินค่าคอมมิชชั่นหักลดหย่อนภาษีในโครงการ "ช็อปช่วยชาติ" ได้ ด้านตลาดหลักทรัพย์ ประเมินค่าคอมฯต่ำได้ประโยชน์น้อยกว่าซื้อสินค้าและไม่ได้หนุนวอลุ่ม ส่วนรายใหญ่พร้อมใช้สิทธิ์และเตรียมเอกสารเครดิตภาษี
- ผลสำรวจ APEC CEO Survey 2017 ที่ได้เผยแพร่ในการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit ประจำปี 2560 ที่เวียดนาม วันที่ 8-10 พ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า ประเทศที่ถูกจัดให้เป็นเป้าหมายการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด ประกอบด้วย เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย สหรัฐ และไทย ตามลำดับ ซึ่งเป็นการสอบถามความเห็นจาก ซีอีโอในกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก จาก 21 ประเทศ จำนวน 1,400 ราย
- กรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 เดือนแรกตั้งแต่วันที่ 1-31 ต.ค. 2560 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 4.13 แสนล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 14.27% สูงกว่าเป้าหมาย 4.95%
- ชาวกรุงเก่ายังอ่วมหนักน้ำไม่ลด วอนพ่อเมืองลงพื้นที่ช่วยเหลือแบบยั่งยืน ขอสร้างถนนสูงขึ้นเพื่อสัญจรไปมาสะดวก ขณะเดียวกันกรมชลประทานสั่งเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมดเพื่อปล่อยน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมโดยเร็ว ส่วนภาคเหนือ-อีสานยังหนาวหมอกลงหนาหลายพื้นที่รวมทั้งระยอง
- "บิ๊กป้อม"ชี้สถานการณ์ไหลเข้า"โหมดการเมือง"พบบิดเบือน-ใส่ร้ายสารพัด สั่ง ครม.ทำงานเชิงรุก-แจงข้อเท็จจริง ปชช. ด้าน ตร.ร่อนหนังสือสั่งทุกหน่วยทั่วประเทศประกบกลุ่มป่วน ตะลึงพบปลุกปั่นรอจังหวะยกระดับชุมนุมไล่ รบ.สั่งสอบเชิงลึกท่อน้ำเลี้ยงฮึ่มพบล้ำเส้นฟันทันที "บิ๊กป๊อก"ปัดเกณฑ์ชาวบ้านตอบคำถามนายกฯ"มาร์ค"แฉซ้ำสั่งผ่านไลน์ "วิษณุ" แจง 3 ขั้นตอนปลดล็อกเลือกตั้งท้องถิ่น ยังไม่แตะแก้กฎหมายยุบทิ้ง ส.ข.ด้าน"ประวิตร"อุบไต๋ "บิ๊กแป๊ะ"นั่งเก้าอี้ รมต. ขอทุกฝ่ายรอดู แหล่งข่าวเผย โผ ครม. ประยุทธ์ 5 ลงตัวสัปดาห์นี้
*หุ้นเด่นวันนี้
- BJC (เมย์แบงก์ กิมเอ็ง) แนะนำ"ซื้อ"ราคาเป้าหมาย 59 บาท คาดผลประกอบการปีหน้าเติบโตดีขึ้นจากการที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วมีการขยายกำลังการผลิตรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจกระป๋องมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะที่กำไรของ BIGC จะถูกผลักดันจากการขยายสาขามากขึ้น
- CK (ทรีนีตี้) แนะนำ"ซื้อ"ราคาเป้าหมาย 32 บาท รายได้รวม Q3/60 ที่ 8,759 (-28%QoQ, +3%YoY) โดยอัตราการทำกำไรสุทธิดีขึ้นอย่างมากจากรายรับดอกเบี้ยรับเงินกู้และส่วนแบ่งกำไร BEM ส่งผลกำไรสุทธิ 625 ล้านบาท (-6%QoQ, +91%YoY) คาดมี Backlog ราว 7.8 หมื่นล้านบาท มีแรงหนุนจากรายรับดอกเบี้ยเงินกู้ของ"ไซยะบุรี พาวเวอร์"ปีละราว 800-1,000 ล้านบาท ลุ้นเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และทางด่วนพระรามสาม-ดาวคะนองที่ผ่านครม.แล้ว
- MINT,CENTEL,ERW (เคทีบี) แนะนำ"มากกว่าตลาด"ประธานคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เผยความคืบหน้าพิจารณามาตรการภาษีเพื่อการท่องเที่ยวล่าสุดจะเสนอให้คลังพิจารณาลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวใน 2 แนวทาง คือนำค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเมืองรองตลอดปี 61 มาลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท และให้นำค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวนอกฤดูกาลท่องเที่ยว(โลว์ซีซั่น)มาหักลดหย่อนภาษีได้คนละ 50,000 บาท คาดว่าจะสรุปได้ภายใน 1-2 เดือนนี้เพื่อให้ใช้ในไตรมาสแรกปี 61

ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงเช้านี้ ตามทิศทางตลาดหุ้นนิวยอร์ก
      ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากที่ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในแดนลบเมื่อคืน เนื่องจากหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง หลังจากราคาน้ำมันดิบดิ่งลงเกือบ 2% นอกจากนี้ ตลาดยังวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการบังคับใช้มาตรการปฏิรูปภาษีของคณะทำงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 22,250.98 จุด ลดลง 129.03 จุด, -0.58% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,416.21 จุด ลดลง 13.34 จุด, -0.39% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 29,026.11 จุด ลดลง 126.01 จุด, -0.43% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,662.08 จุด ลดลง 25.10 จุด, -0.23% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,525.60 จุด ลดลง 1.04 จุด, -0.04% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,390.96 จุด ลดลง 8.13 จุด, -0.24% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,733.90 จุด เพิ่มขึ้น 0.29 จุด, +0.02%
ราคาน้ำมันดิบ WTI ตลาดนิวยอร์กดิ่งลงเกือบ 2% เมื่อคืนนี้ ภายหลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันราว 100,000 บาร์เรล/วันในปีนี้ และปีหน้า สู่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน และ 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ตามลำดับ
นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้รับปัจจัยกดดันจากความวิตกกังวลที่ว่า การบังคับกฎหมายปฏิรูปภาษีของคณะทำงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเป็นไปอย่างล่าช้า หลังจากสมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาเสนอให้มีการชะลอการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% สู่ระดับ 20% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงปี 2562 นอกจากนี้ ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับของวุฒิสภายังมีเนื้อหาแตกต่างจากฉบับของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดลงมติต่อร่างกฎหมายดังกล่าวในสัปดาห์นี้

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: หุ้นเหมืองแร่ร่วง ฉุดฟุตซี่ปิดขยับลง 0.76 จุด
      ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบติดต่อกัน 4 วันทำการเมื่อคืนนี้ (14 พ.ย.) จากแรงกดดันของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ที่ร่วงลงภายหลังจากจีนได้เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัว
ดัชนี FTSE 100 ลดลง 0.76 จุด หรือ -0.01% ปิดที่ 7,414.42 จุด
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อคืนนี้ ได้รับปัจจัยลบจากข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดขายที่อยู่อาศัยของจีนต่างก็ชะลอตัวลงในเดือนต.ค. ทั้งนี้ จีนถือเป็นผู้บริโภคทรัพยากรธรรมชาติรายใหญ่ของโลก รวมถึงแร่โลหะด้วย ดังนั้นข้อมูลที่บ่งชี้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนจึงส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ในอังกฤษเป็นอย่างมาก
หุ้นริโอ ทินโต ร่วงลง 2.9% หุ้นแองโกล อเมริกัน ดิ่งลง 2.8% และหุ้นเกลนคอร์ ลดลง 2.5%
หุ้นจดทะเบียนรายใหญ่ที่น่าจับตา หุ้นเทสโก ทะยานขึ้น 6.2% หลังมีรายงานว่า หน่วยงานกำกับดูแลตลาดและการแข่งขันของสหราชอาณาจักรได้ให้ไฟเขียวกับเทสโกชั่วคราว ในการเดินหน้าควบรวมกิจการกับบุคเกอร์ กรุ๊ป โดยหุ้นบุคเกอร์ ก็พุ่งขึ้น 6.8% จากรายงานดังกล่าว
นักลงทุนในตลาดยังจับตาสถานการณ์การเมืองในอังกฤษอย่างใกล้ชิด หลังสื่อท้องถิ่นรายงานว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรจำนวน 40 คนได้ลงชื่อในหนังสือขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ส่งผลให้ในขณะนี้ต้องการอีกเพียงอีก 8 รายชื่อก็จะสามารถเริ่มกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวผู้นำหญิงอังกฤษได้อย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ตลาดยังจับตาความคืบหน้าในการเจรจา Brexit ระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดรัฐบาลอังกฤษยืนยันว่า รัฐสภาสหราชอาณาจักรจะมีสิทธิ์ในการพิจารณาลงมติว่ายอมรับข้อตกลง Brexit ฉบับสุดท้ายหรือไม่

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ เหตุหุ้นเหมืองร่วงหลังจีนเผยข้อมูลศก.อ่อนแอ
      ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (14 พ.ย.) โดยหุ้นกลุ่มเหมืองร่วงลง หลังจากทางการจีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งรวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลงในเดือนต.ค. นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินยูโร
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวลง 0.6% ปิดที่ 383.86 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,033.48 จุด ลดลง 40.94 จุด หรือ -0.31% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,315.58 จุด ลดลง 26.05 จุด หรือ -0.49% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,414.42 จุด ลดลง 0.76 จุด หรือ -0.01%
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ร่วงลง หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ขยายตัว 6.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนก.ย.ที่มีการขยายตัว 6.6% และหากเทียบเป็นรายเดือน การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ขยับขึ้นเพียง 0.5% จากระดับเดือนก.ย.
ขณะที่ยอดค้าปลีกเดือนต.ค.ของจีน ขยายตัวเพียง 10% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนก.ย.ที่มีการขยายตัว 10.3%
ทั้งนี้ หุ้นริโอ ทินโต ร่วงลง 2.9% หุ้นแองโกล อเมริกัน ดิ่งลง 2.8% และหุ้นเกลนคอร์ ลดลง 2.5%
หุ้นเฮงเคล ดิ่งลง 4.3% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรสุทธิลดลงในไตรมาส 3
หุ้นเทสโก ทะยานขึ้น 6.2% หลังมีรายงานว่า หน่วยงานกำกับดูแลตลาดและการแข่งขันของสหราชอาณาจักรได้ให้ไฟเขียวกับเทสโกชั่วคราว ในการเดินหน้าควบรวมกิจการกับบุคเกอร์ กรุ๊ป โดยหุ้นบุคเกอร์ ก็พุ่งขึ้น 6.8% จากรายงานดังกล่าว
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัว 0.6% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งต่ำกว่าระดับ 0.7% ในไตรมาส 2
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบรายปี เศรษฐกิจยูโรโซนมีการขยายตัว 2.5% ในไตรมาส 3 ซึ่งสูงกว่าระดับ 2.3% ในไตรมาส 2
นักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการเจรจา Brexit ระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดรัฐบาลอังกฤษยืนยันว่า รัฐสภาสหราชอาณาจักรจะมีสิทธิ์ในการพิจารณาลงมติว่ายอมรับข้อตกลง Brexit ฉบับสุดท้ายหรือไม่

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดลบ 30.23 จุด หลังหุ้นพลังงานร่วง,วิตกมาตรการภาษีล่าช้า
      ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (14 พ.ย.) เนื่องจากหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง หลังจากราคาน้ำมันดิบดิ่งลงเกือบ 2% นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยกดดันจากการร่วงลงอย่างหนักของหุ้นเจเนอรัล อิเลคทริค (GE) รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการบังคับใช้มาตรการปฏิรูปภาษีของคณะทำงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,409.47 จุด ลดลง 30.23 จุด หรือ -0.13% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,578.87 จุด ลดลง 5.97 จุด หรือ -0.23% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,737.87 จุด ลดลง 19.72 จุด หรือ -0.29%
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง หลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ตลาดนิวยอร์กดิ่งลงเกือบ 2% เมื่อคืนนี้ ภายหลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันราว 100,000 บาร์เรล/วันในปีนี้ และปีหน้า สู่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน และ 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ตามลำดับ
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง 1.5% ขณะที่หุ้นเอ็กซอน โมบิล ปรับตัวลง 0.8% และหุ้นโคโนโคฟิลิปส์ ร่วงลง 2.5%
หุ้น GE ร่วงลง 5.9% และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในแดนลบ จากการที่นักลงทุนผิดหวังต่อแผนการปรับโครงสร้างบริษัทและการปรับลดการจ่ายเงินปันผล โดย GE แถลงว่า ทางบริษัทจะปรับลดการจ่ายเงินปันผลรายไตรมาสลง 50% สู่ระดับ 12 เซนต์/หุ้น จากเดิมที่ 24 เซนต์/หุ้น โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนธ.ค.
หุ้นโฮม ดีโปท์ ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายสินค้าตกแต่งบ้านที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ดีดตัวขึ้น 1.6% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 3 ที่ระดับ 1.84 ดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.82 ดอลลาร์ โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่เจ้าของบ้านที่ได้รับความเสียหายจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ และเออร์มา มีความต้องการซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการตกแต่ง และซ่อมแซมบ้าน
บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงได้รับปัจจัยกดดันจากความวิตกกังวลที่ว่า การบังคับกฎหมายปฏิรูปภาษีของคณะทำงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเป็นไปอย่างล่าช้า หลังจากสมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาเสนอให้มีการชะลอการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% สู่ระดับ 20% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงปี 2562 นอกจากนี้ ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับของวุฒิสภายังมีเนื้อหาแตกต่างจากฉบับของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดลงมติต่อร่างกฎหมายดังกล่าวในสัปดาห์นี้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยล่าสุดและส่งผลต่อภาวะการซื้อขายเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายเดือน โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาในภาคบริการ ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหาร,พลังงาน และภาคบริการ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน โดยได้เพิ่มขึ้น 0.2% เป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน
นักลงทุนจับตาการประชุมเดือนธ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างใกล้ชิด หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้ออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ โดยล่าสุดหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์สรายงานว่า นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานเฟด สาขาดัลลัส กำลังพิจารณาสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเฟดเดือนหน้า ขณะที่นายแพทริค ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย ส่งสัญญาณว่า เขาอาจจะสนับสนุนให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า แม้เขายังคงกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐก็ตาม
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนพ.ย.จากเฟดนิวยอร์ก, ยอดค้าปลีกเดือนต.ค., ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนต.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.ย., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนต.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาก่อสร้างเดือนต.ค.
OO2372

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!