หมวดหมู่: พลังงาน

OIL35


ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 21-25 ส.ค.60 และสรุปสถานการณ์ฯ 14-18 ส.ค.60

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (21 – 25 ส.ค. 60)

  ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดจะเผชิญกับแรงกดดันจากการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังปริมาณการขุดเจาะเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ประกอบกับ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียและไนจีเรียคาดจะเพิ่มขึ้นหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดจะปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ยังคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกที่มีแนวโน้มปรับลดลง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิรัก

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

   จับตาการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ว่ามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องหรือไม่ หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดการผลิตอย่างต่อเนื่องหลังราคาน้ำมันดิบปรับลดลง โดยแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ ปรับลดลง 5 แท่นมาอยู่ที่ 763 แท่น สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 สค. 60 อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดปริมาณการผลิตน้ำดิบจากชั้นหินดินดาน (shale oil) จะปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.15 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ย. 60 ซึ่งคิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นกว่า 9 เดือนติดต่อกัน โดยการคาดการณ์นี้ได้รวมแหล่งผลิต Anadarko ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนแท่นขุดเจาะที่ดำเนินการอยู่มากเป็นอันดับสองของสหรัฐฯ

  จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียและไนจีเรียที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มกลับมาส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ โดยล่าสุดลิเบียเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้น หลังแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Sharara สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตของแหล่งดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับเดิมที่ประมาณ 280,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ไนจีเรียคาดปริมาณการผลิตและส่งออกจะเพิ่มขึ้น หลังมีการประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) สำหรับการส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light กำลังการผลิต 200,000 บาร์เรลต่อวัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

   ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ คงกำลังการกลั่นอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศและภูมิภาค รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดจะปรับลดลง โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ส.ค. ปรับลดลง 8.95 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับต่ำสุด นับตั้งแต่เดือน มค. 59 ที่ระดับ 466.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.1 ล้านบาร์เรล

   ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่พยายามเพิ่มความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.ย.60 ลง ในขณะที่ปริมาณการส่งออกของอิรักในเดือน ส.ค. มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยจากข้อมูลของ Reuters พบว่าปริมาณการส่งออก 14 วันของเดือน ส.ค. ปรับลดลง 80,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 3.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน แสดงให้เห็นว่าอิรักมีแนวโน้มทำได้ตามข้อตกลงมากขึ้น

   ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและบริการยูโรโซน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 – 18 ส.ค. 60)

  ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 49.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยการเพิ่มขึ้นของผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน ประกอบกับความกังวลที่เพิ่มขึ้นหลังความต้องการใช้น้ำมันของจีนชะลอตัวลงในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง 8.95 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.1 ล้านบาร์เรล

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!