หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

BCPชยวฒน โควาวสารช


BCP จ่ายค่าหุ้นใน Lithium Americas Corp. เพิ่มสัดส่วนถือหุ้นเป็น 16.1% พร้อมให้เงินกู้เร่งพัฒนาเหมืองลิเทียม

     บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) แจ้งว่าตามที่ BCP Innovation Pte.Ltd. (BCPI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้ลงนามใน Investment  Agreement กับ Lithium Americas Corp. (LAC) เพื่อลงทุนเพิ่มเติมใน LAC นั้น ขณะนี้ BCPI ได้ชำระเงินค่าหุ้นและเข้าลงนามทำสัญญาต่างๆ ตามเงื่อนไขที่ระบุใน Investment Agreement

    โดยเมื่อวันที่ 14 ก.ค. BCPI ได้ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนของ LAC จำนวน 50 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.85 ดอลลาร์แคนาดา รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 42.50 ล้านดอลลาร์แคนาดา ส่งผลให้เข้าถือหุ้นใน LAC เพิ่มเป็น 16.1% จากเดิม 5.2% และลงนามในสัญญารวม 3 ฉบับ ได้แก่ สัญญา Investor Rights Agreement ระหว่าง BCPI กับ LAC

     สัญญา Amended and Restated Credit and Guarantee Agreement ระหว่าง BCPI และ GFL International Co.,Ltd.(GFL) ในฐานะผู้ให้กู้ร่วมกับ LAC ในฐานะผู้กู้ วงเงินกู้รวม 205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  โดยในส่วนของ BCPI จะให้สินเชื่อจำนวนไม่เกิน 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่ LAC เพื่อใช้ในการลงทุนในเฟส 1 ของโครงการ Cauchari-Olaroz โดยเฉพาะเจาะจง เพื่อให้โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จสามารถผลิตแร่ลิเทียมเพื่อการพาณิชย์ การให้สินเชื่อดังกล่าวเป็นการให้สินเชื่อร่วม (Syndication Credit Facilities) ร่วมกับ GFL ซึ่งตกลงให้สินเชื่อเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันจำนวนไม่เกิน 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

      สัญญา BCPI Lithium Purchase Agreement เพื่อสิทธิในการซื้อแร่ลิเทียม ระหว่าง BCPI, บริษัท และ LAC โดยกลุ่มบริษัทจะได้รับสิทธิซื้อแร่ลิเทียม จำนวนไม่เกิน 20% ของปริมาณแร่ที่ LAC มีสิทธิได้รับตามสัดส่วนการลงทุน 50% ของ LAC ใน เฟส 1 ของโครงการ Cauchari-Olaroz ซึ่งดำเนินการโดย Minera Exar S.A. ประเทศสาธารณรัฐอาร์เจนตินา เป็นเวลา 20 ปี นับแต่วันเริ่มต้นการจำหน่ายเชิงพาณิชย์

    ทั้งนี้ BCPI ,บริษัท เสนอชื่อตัวแทนเพื่อให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการของ LAC จำนวน 1 คน และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการของ LAC ในวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา

       สำหรับ LAC เป็นผู้ลงทุนในเหมืองแร่ลิเทียม กำลังการผลิตประมาณ 5 หมื่นตัน/ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยโครงการตั้งอยู่ในจังหวัด Jujuy ประเทศสาธารณรัฐอาร์เจนตินา และรัฐ Nevada ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการลงทุนเพิ่มของกลุ่มบริษัทครั้งนี้จะใช้เงินสดจากการดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน เพื่อเพิ่มมูลค่าของกิจการและกระจายความเสี่ยงของรายได้

BCP คาดการลงทุนผลิตแร่ลิเทียมในเหมืองอาร์เจนตินาสร้างผลตอบแทนราว 28% ชี้ราคามีโอกาสปรับขึ้นตามความต้องการใช้

       นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กล่าวว่า การลงทุนผลิตแร่ลิเทียมในเหมืองที่อาร์เจนตินา ปริมาณ 25,000 ตัน/ปี ที่จะเริ่มในราวไตรมาส 3/62 ของบริษัท Lithium Americas Corp (LAC) ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 16% นั้น คาดว่าจะสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ได้ราว 28% เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำราว 2,500 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ราคาขายลิเทียมในปัจจุบันอยู่ที่ปัจจุบัน 10,000-12,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน และยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตตามความต้องการใช้ที่มีอยู่มาก

       ขณะนี้ราคาของลิเทียมในการทำสัญญาซื้อขายระยะยาวได้ขยับขึ้นมากกว่า 4 เท่าตัว และคาดว่าจะมีความต้องการใช้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกือบ 5 เท่า ในปี 2568 เพื่อรองรับการเติบโตของการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) คาดว่าจะผลิตได้ถึง 20 ล้านคันในปี 2583 ในขณะที่ปริมาณลิเทียมยังคงผลิตได้ไม่เพียงพอ

     ทั้งนี้ บริษัทโดย BCP Innovation Pte. Ltd. (BCPI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เข้าถือหุ้น 16% ใน LAC ซึ่งดำเนินโครงการเหมืองแร่ลิเทียมที่ประเทศอาร์เจนตินาและประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างโอกาสและสร้างรายได้ในธุรกิจสีเขียวทั้งในสัดส่วนของการถือหุ้นในเหมืองและได้ผลิตภัณฑ์ไปต่อยอดทำแบตเตอรี่คุณภาพสูง ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสนใจลงทุน

         ขณะที่ LAC เป็นผู้ถือหุ้น 50% ใน Minera Exar ร่วมกับ Sociedad Quimica y Minera de Chile (SQM) จากประเทศชิลี โดย SQM เป็นผู้ประกอบธุรกิจเคมีภัณฑ์ขนาดใหญ่ และยังเป็นผู้ผลิตแร่ลิเทียมจากน้ำเกลือ (brine) รายใหญ่ที่สุดในโลกที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดด้วย โดย Minera Exar อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ Cauchari Olaroz ซึ่งเป็นเหมืองแร่ลิเทียมในจังหวัด Jujuy ประเทศอาร์เจนตินา มีกำลังการผลิต 25,000 ตัน/ปี ในระยะแรกที่คาดว่าจะเริ่มผลิตในไตรมาส 3/62 หลังจากนั้นอีก 2-3 ปีคาดว่าจะเริ่มพัฒนาระยะที่ 2 มีกำลังผลิตเพิ่มเป็น 50,000 ตัน/ปี

       นอกจากนี้ LAC ยังถือหุ้น 100% สำหรับการพัฒนาเหมืองแร่ลิเทียมอีกแห่งหนึ่งในรัฐ Nevada ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีคาดว่าใช้เวลาประมาณ 12 เดือน หลังจากนั้นจะทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 ปีจึงจะสามารถมีผลผลิตออกมาได้

      นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า แร่ลิเทียมนับว่าเป็นธาตุหลักที่สำคัญต่อการพัฒนาแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage system) ด้วยเป็นโลหะที่เบาที่สุดในตารางธาตุ และมีความสามารถเก็บประจุได้เป็นเวลานานกว่าแบตเตอรี่จากธาตุอื่น

       สำหรับการลงทุนแร่ลิเทียมในเหมืองที่อาร์เจนตินาของบริษัทในครั้งนี้ บริษัทจะได้สิทธิการซื้อผลผลิตแร่ลิเทียมจาก Minera Exar ราว 10% ของปริมาณการผลิต เป็นเวลา 20 ปี นับตั้งแต่วันจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ซึ่งปริมาณดังกล่าวสามารถนำไปผลิตแบตเตอรี่สำหรับโทรศัพท์มือถือได้กว่า 800 ล้านเครื่อง/ปี หรือผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้ในรถไฟฟ้า (Plug in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) กว่า 150,000 คัน

       อนึ่ง LAC ยังมีบริษัท Ganfeng Lithium ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของประเทศจีนที่มีเทคโนโลยีที่หลากหลาย และเป็นเจ้าของเหมืองลิเทียมในแหล่งต่างๆ ในโลก เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 17% ด้วย

BCP ยังคงเป้า EBITDA ปีนี้โต 20%จากปีก่อน หลัง H1/60 ทำได้ตามแผน

       นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กล่าวว่า บริษัทยังคงเป้าหมายกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปีนี้เติบโต 20% จากระดับ 1.1 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว หลังจากครึ่งปีแรกทำ EBITDA ได้แล้ว 6.59 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

      ขณะที่ช่วงครึ่งหลังปีนี้คาดว่าการใช้กำลังการกลั่นจะทำได้ระดับใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่ 1.12 แสนบาร์เรล/วัน แต่มาร์จิ้นน่าจะดีกว่าเพราะสามารถเดินหน่วยผลิตไฮโดรเจน (Hydrogen Production Unit) และหน่วยแตกโมเลกุลด้วยไฮโดรเจน (Hydrocracking Unit) ได้เต็มที่หลังจากที่ได้หยุดซ่อมบำรุงทั้ง 2 หน่วยในไตรมาส 2/60

        ทั้งนี้ คาดว่าค่าการกลั่นที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันในครึ่งหลังปีนี้น่าจะทำได้ราว 7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าระดับ 6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในครึ่งปีแรก หลังใช้น้ำมันดิบที่มีราคาถูกมากลั่น และน้ำมันเตาที่มีราคาสูงจากการผลิตในตลาดโลกที่ลดลง

       สำหรับการควบรวมธุรกิจชีวภาพของบริษัทกับธุรกิจเอทานอลของ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) เป็นบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (BBGI)  ซึ่ง BCP จะถือหุ้น 60% และ KSL ถือหุ้น 40% คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนต.ค.60 น่าจะยังไม่ได้ช่วยหนุน EBITDA ในปีนี้มากนัก แต่น่าจะมีผลมากขึ้นในปีหน้า

                อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!