หมวดหมู่: ธปท.

BOAจาตรงค จนทรงษ copy


ธปท.สกัดหนี้ครัวเรือนเพิ่ม แจงเหตุคุม'สินเชื่อบุคคล'กนง.จับตาเงินทุนผันผวน

     ไทยโพสต์ * ธปท.สกัดหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่ม แจงสาเหตุที่ต้องคุมเพดานสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ยันไม่กระทบการบริโภค มองเศรษฐกิจปีนี้โต 3.5% ย้ำฐานะแบงก์แกร่ง รับมือหนี้เสียเอสเอ็มอีได้ กนง.สั่งจับตาเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นผันผวน "สมคิด" ชี้ไทยปรับโครงสร้างเพิ่มการแข่งขัน เผยนักท่องเที่ยวเข้าไทยครึ่งปีโกยรายได้ 8.8 แสนล้านบาท

     นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการคุมเพดานสินเชื่อบัตรเครดิตที่เตรียมจะออกมา เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบภาพรวมการบริโภคมากนัก แม้ว่าช่วงก่อนหน้านี้สินเชื่อส่วนบุคคลจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ช่วยสนับสนุนได้แค่บางช่วงเท่านั้น

      ในทางกลับกัน ปัญหาหนี้ครัวเรือนกลับเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาพรวมการบริโภคในอนาคตปรับตัวลดลง เรียกว่าเป็นการดึงเงินในอนาคตมาใช้ก่อน ดังนั้น แนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยสินเชื่อดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในอนาคตอย่างแน่นอน

       นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ภาพ รวมเศรษฐกิจไทยปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.5% และปี 2561 ที่ระดับ 3.7% เนื่องจากการส่งออกปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 5% และภาคบริการดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวดีเป็นสำคัญ และแรงกระตุ้นภาคการคลังยังมีอยู่ต่อเนื่อง ขณะที่ การใช้จ่ายของภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี

      "ในระยะข้างหน้า เงินทุนเคลื่อนย้ายอาจมีความผันผวนสูงได้ เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ความไม่แน่นอนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ปัญหาภาคการเงินในยุโรปและจีน รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ  กนง. จึงเห็นควรให้ติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นต่อไป" นายจาตุรงค์กล่าว

      สำหรับ ระบบการเงินของไทยยังมีเสถียรภาพในเกณฑ์ที่ดี สะท้อนจากสถานะของสถาบันการเงินที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง จากระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ที่ยังอยู่ในระดับแข็ง แกร่ง สามารถรองรับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยไตร มาส 1 ปี 2560 สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของเอสเอ็ม อีอยู่ที่ระดับ 4.35% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

      นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนา "The Nikkei Asia 300 Global Business Forum" จัดโดย "นิกเคอิ เอเชียน รีวิว" ว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาประ เทศไทยมีปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ โดยเน้นการสร้างนวัตกรรมที่มีความสร้างสรรค์ มีผล ผลิตให้มีมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาอุตสาห กรรมใหม่เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ และเพื่อเป็นการรองรับอุตสาห กรรมต่างๆ เหล่านี้ ไทยจึงได้พัฒนาระเบียงเศรษฐ กิจตะวันออก หรืออีอีซีขึ้น ในส่วนของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นนโยบายเพื่อการยกระดับผู้ประ กอบการให้สามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น

      นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สถานการณ์ด้านท่องเที่ยวครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทย 17,323,640 คน เฉลี่ยเดือนละ 2.8 ล้านคน สร้างรายได้รวม 876,682 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.41% และ 6.05% ตามลำดับเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน.

ธปท.มองส่งออก-ท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนศก.ครึ่งปีหลัง,ไม่ห่วงหนี้เสีย SME เพิ่ม

    นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่ง ธปท.คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.5% และปี 61 เติบโตได้ 3.7%

      อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยด้านต่างประเทศ เช่น เศรษฐกิจประเทคู่ค้าที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาด และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า, ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน

      ในขณะที่ความเสี่ยงในประเทศนั้น กำลังซื้อในประเทศยังไม่กระจายตัวไปอย่างทั่วถึง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคมากกว่าที่คาด, ความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs ที่ยังคงเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงขึ้น, ผลกระทบจากนโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว รวมทั้งพฤติกรรม search for yield ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดต่ำกว่าที่ควร

     นายจาตุรนต๋ กล่าวว่า สำหรับมาตรการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ ธปท.เตรียมปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้นนั้น นายจาตุรงค์ เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคประชาชน เนื่องจากเป็นหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้กับลูกค้ารายใหม่ไม่ใช่ลูกค้ารายเดิมที่ได้รับสินเชื่ออยู่แล้ว

      “มาตรการคุมสินเชื่อบัตรเครดิตคงไม่มีผลต่อการบริโภคเท่าใดนัก เพราะการก่อหนี้นั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงพักเดียว แต่พอหนี้ครัวเรือนเริ่มสูงขึ้น อำนาจการบริโภคในอนาคตก็จะลดลง เพราะเป็นการเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน...มาตรการนี้ไม่ได้ใช้กับลูกค้ารายเดิมที่ได้รับสินเชื่ออยู่แล้ว แต่จะใช้กับลูกค้ารายใหม่ๆ" นายจาตุรงค์ กล่าว

      ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งภายในปีนี้ รวมถึงทยอยปรับลดขนาดงบดุลตามขั้นตอนและวิธีการที่ประกาศไว้ รวมทั้งในปี 61 ที่ยังคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้งนั้น นายจาตุรงค์ ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่าขณะนี้ยังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป และยังไม่ถึงเวลาที่จะลดการผ่อนคลายลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ยังไม่ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ +/- 2.5% หรือในกรอบ 1-4% แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

       สาเหตุที่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มเป็นขาขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ supply side ที่เคยเป็นตัวกดดันเงินเฟ้อจะหายไป รวมทั้งปัจจัยจากฐานเงินเฟ้อที่ต่ำในช่วงครึ่งปีแรก

      “ตอนนี้เงินเฟ้อยังไม่ปรับตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมาย กนง.คิดว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน...คาดว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงปลายปี 60 หรืออย่างช้าต้นปี 61" นายจาตุรงค์ กล่าว

      พร้อมยืนยันว่า แม้อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ไม่ได้เห็นสัญญาณของเงินฝืดแต่อย่างใด เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยยังมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

      สำหรับ ปัญหา NPL ที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ SMEs ที่จะส่งผลกระทบต่อธนาคาพาณิชย์นั้น ถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากระดับหนี้ของ SMEs มีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มแข็งทั้งในส่วนของเงินกองทุน และเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ยังสามารถรองรับการเป็น NPL ของ SMEs ได้

     พร้อมกันนี้ มองว่าภาคธุรกิจ SMEs ในปัจจุบันยังมีปัญหาในเรื่องความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและปัจจัยด้านการบริหารจัดการของ SMEs เอง กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่มีการแข่งขันสูง ทำให้ภาคธุรกิจ SMEs จำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ซึ่งหากไม่มีการปรับตัว ธุรกิจก็จะไม่สามารถอยู่รอดไ

กนง.ระบุ ศก.ไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง, จับตากม.แรงงานต่างด้าวต่อความเสี่ยงประมาณการเงินเฟ้อ

    ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือน มิ.ย.60 ว่า เศรษฐกิจไทยล่าสุดมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง  และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องที่ 3.5% และ 3.7% ในปี 60 และปี 61 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าประมาณการครั้งก่อน

      ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มาจากการส่งออกสินค้าและบริการ ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ส่วนแรงกระตุ้นภาคการคลังยังมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้การลงทุนบางส่วนล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้จากปัจจัยด้านอุปทาน และมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ

       ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจโน้มไปทางด้านต่ำจากทั้งปัจจัยด้านต่างประเทศและในประเทศ แต่ความไม่แน่นอนปรับลดลง สำหรับความเสี่ยงต่อประมาณการเงินเฟ้อโน้มไปด้านสูงจากนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

       โดยนโยบายการเงินยังอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขายตัวต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

       นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการ กนง.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/60 ขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้การส่งออกสินค้าขยายตัวดีและกระจายในหลายหมวดสินค้ามากขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัว

       อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 2/60 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ เพราะผลของฐานราคาอาหารสดปีก่อนที่อยู่ในระดับสูงจากภาวะภัยแล้ง อีกทั้งในปีนี้ที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตมีมากรวมถึงราคาพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

      ภาวะการเงินยังผ่อนคลายในไตรมาส 2/60 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่า ณ สิ้นปี 59 ทุกช่วงอายุโดยเฉพาะระยะยาว ขณะที่ต้นทุนการระดมทุนจากธนาคารพาณิชย์(ธพ.) ลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงที่ให้แก่รายย่อย ด้านปริมาณการระดมทุนของธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากทั้งช่องทางสินเชื่อและตราสารหนี้โดยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 สินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากธุรกิจขนาดใหญ่เป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิต

        สำหรับ เงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยมากขึ้น

      ทั้งนี้ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงบางจุดที่ต้องติดตาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) มีแนวโน้มลดลง แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึงและปัญหาเชิงโครงสร้างในบางภาคธุรกิจ ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ด้อยลง อย่างไรก็ดีสถาบันการเงินมีเงินกองทุนและการกันสำรองในระดับสูงสามารถรองรับความเสี่ยงจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงได้

      สำหรับ ภาคอสังหาริมทรัพย์คาดว่าโอกาสที่ราคาอาคารชุดจะเร่งตัวสูงเช่นในช่วงก่อนหน้ามีน้อยลงเนื่องจากผู้ประกอบการและสถาบันการเงินมีความระมัดระวังภายใต้ภาวะที่อุปสงค์ยังขยายตัวอย่างช้าๆ และมีอุปทานคงค้างระดับสูงในบางทำเลแต่ยังอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการได้ ขณะที่พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานยังมีอยู่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ต้องการลงทุนประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้

      นายจาตุรงค์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องที่ 3.5% และ 3.7% ในปี 60 และปี 61 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวดีเป็นสำคัญ และแรงกระตุ้นภาคการคลังยังมีอยู่ต่อเนื่อง

      ขณะที่การใช้จ่ายของภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การส่งออกสินค้าขยายตัวทั่วถึงมากขึ้นทั้งในมิติของหมวดสินค้าและตลาดส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 60 คาดว่าจะขยายตัว 5.0% สูงกว่าปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 0.1% โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับประโยชน์จากความนิยมใช้สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) อย่างไรก็ดี

        การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อาจขยายตัวชะลอลงบ้างในระยะต่อไป จากการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีนที่เริ่มชะลอลงหลังจากเร่งเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในปีก่อน

      การส่งออกบริการฟื้นตัวได้เร็วและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ จึงปรับเพิ่มประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 60 มาอยู่ที่ 34.9 ล้านคน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนประเภทกรุ๊ปทัวร์ที่ฟื้นตัวได้เร็ว หลังได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายในช่วงปลายปีก่อน รวมถึงไทยได้รับผลดีจากการเปิดเส้นทางการบินใหม่จากจีนมายังจังหวัดท่องเที่ยวของไทยโดยตรง และจากมาตรการจ กัดการขายแพคเกจท่องเที่ยวไปเกาหลีใต้ของทางการจีนทำให้นักท่องเที่ยวจีนบางส่วนเปลี่ยนมาเที่ยวไทยมากขึ้น

      การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ตามการใช้จ่ายอุปโภคและการลงทุนภาครัฐที่เบิกจ่ายได้ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง แม้ในบางโครงการอาจจะล่าช้ากว่าที่คาดไปบ้าง เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ 2 สายที่ติดปัญหาการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม, การเลื่อนการเบิกจ่ายของโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ในขณะที่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ที่มีความชัดเจนขึ้นนั้นได้มีส่วนช่วยเพิ่มการลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้ส่วนหนึ่ง

      การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากรายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้น รวมถึงการจ้างงาน ในภาคบริการและอุตสาหกรรมในภาคส่งออกที่คาดว่าจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็งมากนัก เพราะการจ้างงานและรายได้โดยรวมของครัวเรือนในภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลดีอย่างชัดเจนจากการส่งออกที่ปรับดีขึ้น รวมถึงแนวโน้มการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน automation) ที่มากขึ้น

        นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีความเปราะบางของภาระหนี้สินต่อรายได้มากกว่ากลุ่มอื่น การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในระยะสั้น เริ่มเห็นความต้องการลงทุนขยายกำลังการผลิตในภาคการผลิตเพื่อส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

     สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างมีแนวโน้มลดลงตามภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว ในระยะต่อไป การบริโภคและการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวรวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง จะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวในระดับต่าจากปัจจัยด้านอุปทาน และมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ประเมินว่าจะค่อยๆ ปรับสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

     อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังคงได้รับแรงถ่วงจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และจากราคาอาหารสดที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงโดยเป็นผลจาก (1) ปัจจัยเชิงวัฏจักร เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกในหมวดอาหารทรงตัวในระดับต่ำ (2) ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและระบบชลประทาน คณะกรรมการฯ จึงปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 และ 2561 มาอยู่ที่ 0.8% และ 1.6% ตามลำดับ

      ทั้งนี้ ประมาณการเศรษฐกิจมีความเสี่ยงโน้มไปด้านต่ำใกล้เคียงเดิม แม้เศรษฐกิจคู่ค้าโดยรวมและภาวะการค้าโลกจะขยายตัวดีขึ้นชัดเจน แต่ความเสี่ยงด้านต่ำจากปัจจัยต่างประเทศยังคงมีอยู่ จากความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้า รวมถึงความเสี่ยงจากปัจจัยในประเทศจากกำลังซื้อที่ยังไม่กระจายตัวเข้มแข็งนัก

      สำหรับ โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานยังมีอยู่บ้างจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจขยายตัวดีกว่าคาดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ประมาณการอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงโน้มไปด้านสูง แม้ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจะโน้มไปด้านต่ำ เนื่องจากนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อาจส่งผลให้ตลาดแรงงานตึงตัวขึ้นและทำให้ต้นทุนค่าจ้างของธุรกิจปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของภาครัฐในเรื่องดังกล่าวด้วย

       ดังนั้น นโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไปเพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเข้าสู่เป้าหมาย เศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนมากขึ้น แต่การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศอาจยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควรและยังคงมีความเสี่ยงจากด้านต่างประเทศ อีกทั้งแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 60 อาจต่ำกว่าระดับเป้าหมายแม้ยังมีทิศทางปรับสูงขึ้น ขณะที่ภาวะการเงินผ่อนคลายมากขึ้นและเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี

      คณะกรรมการฯ จึงเห็นพ้องว่าควรรักษาระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินไปได้อีกระยะหนึ่ง เพื่อสนับสนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องและกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเข้าสู่ระดับเป้าหมายอย่างยั่งยืน โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมาย ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

        อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!