หมวดหมู่: พลังงาน

OIL47ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 19-23 มิ.ย. 60 และสรุปสถานการณ์ฯ 12-16 มิ.ย. 60

           

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (19 มิ.ย. 23 มิ.ย. 60)

      ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดจะถูกกดดันต่อเนื่อง จากภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินที่ยังไม่คลี่คลายในเร็วนี้ หลังลิเบียและไนจีเรียเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับ ความกังวลต่ออุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปของสหรัฐฯ ที่เติบโตช้าลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังคาดจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงหลังโรงกลั่นคงกำลังการกลั่นในระดับสูงและปริมาณการนำเข้าจากซาอุดิอาระเบียที่คาดจะปรับลดลง

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

      ภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินยังคงส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบต่อเนื่อง แม้ว่าผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกจะสามารถตกลงยืดระยะเวลาข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีก 9 เดือน จนถึงสิ้นสุดไตรมาส 1 / 2560 โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 835,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Sharara เปิดดำเนินการ และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไนจีเรียที่ปรับเพิ่มขึ้น หลังน้ำมันดิบจากแหล่ง Forcados กำลังการผลิตราว 200,000-250,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินการส่งออกในเดือนนี้

     ตลาดยังคงกังวลกับความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในสหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ โดยอุปสงค์น้ำมันเบนซินในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงกว่าร้อยละ 3.8 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 9 มิ.ย. 2560 เพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 242.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ระดับ 19.4 ล้านบาร์เรล

     ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด 16 มิ.ย. 2560 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 22 สัปดาห์ติดต่อกันมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ 747 แท่น ส่งผลให้สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดในปี 2560 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้น 430,000 บาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า และปริมาณการผลิตจะสูงขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 780,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2561

      ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง หลังโรงกลั่นในประเทศคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง และ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบคาดจะปรับลดลง โดยเฉพาะ ซาอุดิอาระเบีย ที่คาดจะปรับลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ ลดลงจากโดยเฉลี่ยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนนี้ และลดลงในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมาอยู่ที่ 850,000 และ 750,000 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 511.5 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล

      ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและบริการยูโรโซน ดัชนีภาคการผลิตและบริการสหรัฐฯ ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย. 16 มิ.ย. 60)

      ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ รายงานโดย EIA สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นราว 2.1 ล้านบาร์เรล สร้างความกังวลให้กับตลาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ในช่วงฤดูกาลขับขี่อาจอ่อนตัวกว่าที่คาดไว้

      นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบีย ไนจีเรีย และสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการที่ซาอุดิอาระเบียเตรียมลดปริมาณการส่งมอบน้ำมันดิบเดือนก.ค. กับผู้ซื้อบางรายในประเทศจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ราว 300,000 บาร์เรลต่อวัน และปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ และยุโรปกว่าร้อยละ 35 และ 11 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปริมาณที่ส่งออกในเดือน มิ.ย.

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!