หมวดหมู่: ธปท.

BOAวรไท สนตประภพ


ผู้ว่า ธปท.คาดเฟดขึ้นดบ.รอบนี้ไม่มีผลต่อตลาดเงินโลก ชี้มีเงินไหลกลับจากกาตาร์ทำเงินบาทแข็งค่าอีกแรง

    ผู้ว่า ธปท.คาด หากเฟดจะขึ้นดบ.ในรอบนี้ไม่มีผลต่อตลาดเงินโลก เหตุนลท.รับรู้ไปแล้ว ชี้เงินบาทแข็งค่าช่วงนี้ เหตุกังวลการเมืองสหรัฐฯ ส่วนในปท.มีศก.ฟื้นช่วยหนุน แถมได้เงินจากกาตาร์ไหลกลับมาสมทบ ยัน EARTH เบี้ยวหนี้ ไม่กระทบกับเสถียรภาพธนาคารพาณิชย์ ชี้เป็นเรื่องปกติ ที่ผู้กู้จะผิดนัดชำระหนี้ระยะสั้น

     นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่จะเสร็จสิ้นในวันนี้ จะไม่ทำให้ตลาดการเงินโลก รวมถึงไทย เกิดความผันผวนรุนแรง เนื่องจากนักลงทุนรับรู้ปัจจัยดังกล่าวไว้แล้ว

     ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากมีเงินที่ไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น หลังนักลงทุนกังวลเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนลง

     ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ เศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้น จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งออกที่ปรับตัวดี การท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาในไทยจำนวนมาก ขณะเดียวกันกรณีที่ธปท. ปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น 3 และ 6 เดือน ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีเงินทุนระยะยาวมากขึ้น จากเดิมที่เข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างประเทศยังให้ความสนใจลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย

     นอกจากนี้ ยังมีเงินไหลกลับมาจากกรณีของกาตาร์ถูกหลายประเทศบอยคอต ที่มีเงินจากไทยไปลงทุนในประเทศดังกล่าวราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ส่งผลให้กองทุนที่ไปลงทุนมีความระมัดระวัง ทำให้เงินลงทุนดังกล่าวทยอยไหลกลับเข้ามา

      "ตลาดมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว ถ้าเป็นไปตามคาด ก็ไม่น่าจะผันผวนรุนแรง และในช่วง 2-3 ครั้งหลัง ทางเฟดจะเน้นส่งสัญญาณและสื่อสารกับตลาด ไม่ต้องการที่จะทำอะไรให้เกิดการเซอร์ไพรส์ ตอนนี้ตลาดก็ยังนิ่งๆ ยังรอดูผลที่จะออกมา" นายวิรไท กล่าว

     นอกจากนี้ นายวิรไท ยังเปิดเผยถึงกรณีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ EARTH ว่าจะไม่กระทบกับเสถียรภาพธนาคารพาณิชย์ในภาพรวม ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ที่ผู้กู้จะผิดนัดชำระหนี้ระยะสั้น ซึ่งการขายตั๋วบีอีดังกล่าวไม่ได้เปิดขายให้กับประชาชนทั่วไป

      ขณะที่การพัฒนาธุรกรรมฟินเทค (Fintech) ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อภาคการเงินและการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการลดต้นทุนการบริหารงาน ซึ่งปัจจุบันไทยมีต้นทุนทางการเงินสุงกว่าประเทศอื่นในอาเซียนมาก โดยต้นทุนการทำธุรกรรม 1 ครั้ง อยู่ที่ 60-80 บาท /ต้นทุนการบริหารเงินสดรวม 20,000 ล้านบาท / รวมถึงต้นทุนทรัพย์สินหลัก จากการตั้งสาขา มีสูงมาก

      อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลมีการพัฒนาระบบการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะพร้อมเพย์ มีผู้มาลงทะเบียนรวม 28 ล้านบัญชี มีการทำธุรกรรวม 7 ล้านครั้ง มูลค่าการทำธุรกรรม 50,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะมีปริมาณการทำธุรกรรมเพิ่มมากขึ้นแน่นอน เพราะพร้อมเพย์ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ จะทำให้ต้นทุนของสถาบันการเงินดีขึ้นได้

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!