หมวดหมู่: ธปท.

BOAวรไท สนตประภพ


ผู้ว่า ธปท.ปฏิรูปเกณฑ์ควบคุมแลกเปลี่ยนเงินตรา 4 แนวทาง ยันไม่เกี่ยวกับมาตรการป้องปรามอัตราแลกเปลี่ยน

      ผู้ว่า ธปท.ประกาศปฏิรูปเกณฑ์ควบคุมแลกเปลี่ยนเงินตรา 4 แนวทาง ทยอยใช้ตั้งแต่ มิ.ย.-ปี 61 ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องปรามอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งการลดขั้นตอนและเอกสารสนับสนุนการใช้อิเล็กทรอนิกส์ ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงได้คล่องตัว เพิ่มทางเลือกให้รายย่อยทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินและโอนเงินระหว่างประเทศ  รวมถึงการเพิ่มผู้ให้บริการเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ทั้งให้ให้ลงทุนหลักทรัพย์ตปท.โดยไม่ผ่านตัวแทน -บล.ทำธุรกิจเงินตราตปท.ได้ 

  นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า  ธปท.ได้เริ่มปฏิรูปกฎเกณฑ์ด้านต่างๆ ซึ่งได้เริ่มปฏิรูปเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นลำดับแรก เนื่องจากเห็นว่าเป็นกฎหมายเก่า ที่ออกใช้มาตั้งแต่ปี 2485  หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  โดยคาดว่าการดำเนินการในครั้งนี้ จะทำให้ลดต้นทุนของเอกชนได้มากกว่าพันล้านบาทต่อปี ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 และจะแล้วเสร็จในปี 2561 

  "ในปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยมีกฎหมายและกฎเกณฑ์รวมกันกว่า 100,000 ฉบับ และมีใบอนุญาตมากกว่า 3,000 ประเภท ที่บางเรื่องล้าสมัย โดยเฉพาะธปท.มีกฎเกณฑ์จำนวนมากที่ออกไปและไม่ได้ถูกทบทวนหรือปรับปรุงอย่างจริงจัง และเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจและไม่เท่าทันกับการบริหารจัดการความเสี่ยงสมัยใหม่ " นายวิรไท กล่าว

   สำหรับ การปรับโครงการปฏิรูปกฎเกณฑ์กับการแลกเปลี่ยนเงินครั้งนี้มีการทบทวนกฎหมายทั้งสิ้นประมาณ 80 ฉบับ เช่น กฎเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ การค้าการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของรายย่อย นอกจากนี้ การผ่อนคลายเกณฑ์ยังครอบคลุถึงการลดขั้นตอนการยื่นเอกสารที่ไม่จำเป็น ให้เอกชนทำธุรกรรมโดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตต่อธปท. รวมทั้งเพิ่มผู้เล่นในตลาดเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น  

  ในการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนนั้น ยืนยันว่า ไม่ได้มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือ อัตราแลกเปลี่ยน แต่ดำเนินการเรื่องความยากง่ายในการทำธุรกิจเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นนั้น เนื่องจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจ และการเมืองในสหรัฐ ซึ่งธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หาก ธปท.จะออกมาตรการป้องปรามค่าเงินจะประกาศให้ทราบอย่างแน่นอน 

   “มาตรการวันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการป้องปราม แต่ในเรื่องของค่าเงิน เราก็ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งตอนนี้เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก และเรื่องนี้มันเป็นการอำนวยความสะดวก แต่คนกลับเข้าใจว่าธปท.จะออกมาตรการ เพราะว่า มีคนสื่อสารผิดว่าเราจะออกมาตรการดูแลค่าเงินนายวิรไท กล่าว 

     ขณะที่นางสาววชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า มาตรการดูแลค่าเงินบาท หรือ มาตรการป้องปรามอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งธปท. ยังติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งยอมรับว่า หากพบการเก็งกำไรเกิดขึ้นที่รุนแรง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะออกมาตรการดูแลตามความเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้หารือกับธปท.ในเรื่องดังกล่าว เช่น สภาหอการค้าไทย ได้มาหารือกับธปท. ซึ่งเอกชนเข้าใจว่า เกิดจากเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน และเป็นปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่อยากให้กังวลมากในเรื่องดังกล่าว 

   “คนเข้าใจผิดว่าเป็นมาตรการป้องปราม แต่การแถลงวันนี้ มันเป็นเรื่องของความยากง่ายในการทำธุรกิจ ขณะที่เราเองก็เข้าใจนักลงทุนว่า พฤติกรรมนักลงทุนมีเข้าๆออกๆ ตามเหตุการณ์ หรือข่าวสาร ซึ่งสิ่งที่เราเห็นคือ เรายังเห็นเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่องได้อีก ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทได้ ซึ่งเรายังติดตามอย่างใกล้ชิด ต่อไปนางสาววชิรา กล่าว

 โดยธปท.ได้เริ่มดำเนินการในกระบวนการปฏิรูปตั้งแต่ธันวาคม 2559 ซึ่งแนวทางในการดำเนินการประกอบด้วย  4 เรื่องหลักดังนี้ 

   การปฏิรูปที่ 1 คือ การลดเอกสารที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ประกอบด้วย

   1.ผ่อนคลายให้ชำระค่าสินค้าที่ไม่ได้นำเข้าหรือที่รับมอบในประเทศแก่บุคคลในต่างประเทศ

   2.ลดเอกสารประกอบการโอนเงินออกนอกประเทศ เช่น ยกเลิกการแสดงงบการเงินและหนังสือชี้แจงรายละเอียด กรณีส่งเงินลงทุนหรือให้กู้ยืมแก่กิจการที่ต่างประเทศ

   3.เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้ายื่นเอกสารประกอบการขอโอนเงินออกนอกประเทศเป็นอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมลได้ ยกเลิกการกรอกแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ยกเลิกข้อกำหนดในการประทับตราของธนาคารพาณิชย์ ลงบนเอกสารประกอบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ

  การปฏิรูปที่ 2 ธปท.ยังได้ประกาศยกเลิกและผ่อนคลายเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของภาคเอกชน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของภาคธุรกิจในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะประกอบด้วย 

   1.ยกเลิกสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ทุกกรณี จากเดิมยกเลิกได้กรณีค่าสินค้าบริการเงินลงทุนโดยตรง เงินกู้ เงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ให้ยกเลิกได้ในกรณีที่มีเงินต่ำกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ 

   2.ให้บริษัทในเครือเดียวกันสามารถทำธุรกรรมเพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแทนกันได้ โดยไม่ต้องยื่นของธปท.เป็นรายกรณี 

   3.อนุญาตให้บริษัทและบริษัทในเครือที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศและโอนเงินออกนอกประเทศได้ โดยไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบการทำธุรกรรมต่อธนาคารพาณิชย์ เว้นในวัน trad date และ settlement date โดยคุณสมบัติประกอบด้วย ไม่ใช่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสถาบันการเงิน และมีปริมาณธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศตามที่กำหนด มีนโยบายบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของบริษัทที่ชัดเจน และมีกรรมการของบริษัทหรือผู้ตรวจสอบภายนอก ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/2560 

     การปฏิรูปด้านที่ 3 คือ การเพิ่มทางเลือกซื้อขายโอนเงินรายย่อย เพื่อเป็นการสนับสนุนความเชื่อมโยงในภูมิภาคโดยการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อชำระค่าสินค้ารายย่อย และการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มทางเลือกการซื้อขายโอนเงินรายย่อย ประกอบด้วย 

   1.ให้ลูกค้าสามารถโอนเงินออกนอกประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าในต่างประเทศผ่าน Money Transfer Agent หรือ MT ได้ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป

   2.เพิ่มวงเงินโอนออก จากเดิมให้โอนเงินออกนอกประเทศได้ไม่เกินวงเงิน 200,000 บาทต่อรายลูกค้า ต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในสิ้นปี 2560 

   3.ผ่อนคลายคุณสมบัติผู้ยื่นของอนุญาต MTเช่น ทุนจดทะเบียน จากปัจจุบัน ผู้ยื่นขอประกอบุรกิจดังกล่าวต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2561 

   4.ให้ Money Changer หรือMC ให้ซื้อขายธนบัตรเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ หรือ MC ในต่างประเทศได้ จากเดิมได้เฉพาะในประเทศเท่านั้น ซึ่งจะเริ่มได้ในเดือนมิถุนายน 2560 

   5.ให้ MC สามารถซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับลูกค้าในรูปอิเล็กทรอนิกส์ สกุลเงินตราต่างประเทศเช่น e-Money ได้ 

   6.ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อสกุลเงินบาท แก่ non-ressident ที่เป็นผู้ประกอบการในต่างประเทศ เพื่อการลงทุนในประเทศไทย และที่เป็นผู้ประกอบการที่จัดตั้งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน 

   การปฏิรูปด้านที่ 4 คือ การปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ประชาชน บริษัทมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง เปิดโอกาสให้มีผู้เล่นรายใหม่ ประกอบด้วย 

  1.ผ่อนคลายให้บุคคลรายย่อยที่มีสินทรัพย์ทางการเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยไม่ผ่านตัวแทนการลงทุนในประเทศ ภายใต้วงเงินลงทุนไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ ต่อรายต่อปี จากเดิม บุคคลรายย่อยที่มีสินทรัพย์ทางการเงินต่ำกว่า 100 ล้านบาท ต้องลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยผ่านตัวแทนการลงทุนในประเทศเท่านั้น 

 2.ให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ แก่บริษัทหลักทรัพย์ โดยให้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ กับลูกค้าที่เป็นผู้ลงทุนไทยและต่างประเทศได้ ภายใต้ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ 

     3.เพิ่มประเภทตัวกลางอื่นๆที่ไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท ก หรือ เทียบเท่า เช่น ผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจตราสารหนี้ (ประเภท ข.) จัดการกองทุน (ประเภท ค.) หน่วยลงทุน (ประเภท ง.) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเภท ส.1)

  4.ให้ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายสัญญาล่วงหน้าในตลาด TFEX รายใหม่ๆสามารถยื่นขอใบอนุญาตเป็น broker currency futures ได้ จากเดิมไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งคาดว่าในกระบวนการทั้ง 4 ข้อนี้จะเริ่มดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560 เป็นต้นไป

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!