หมวดหมู่: คดีปกครอง

ตุลาการศาลปกครอง ฮือค้านรธน. ให้ศาลยธ.บังคับคดี

    แนวหน้า : ตุลาการศาลปกครอง ฮือค้านรธน. ให้ศาลยธ.บังคับคดี ซัดไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ‘บวรศักดิ์’ผวาตายหมู่ ปลุกสปช.สู้‘ปชป.-พท.’

     เมื่อวันที่ 29 มีนาคม สำนักงานศาลปกครอง เผยแพร่ผลการประชุมสัมมนาตุลาการศาลปกครองสูงสุดและ ตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศ ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27-29 มีนาคมที่ผ่านมา โดยที่ประชุมหารือถึงกรณี ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีกลไกในการบังคับคดีทางแพ่งและคดีปกครองในสังกัดศาลยุติธรรม โดยที่ประชุมร่วมกันพิจารณาข้อมูลดังกล่าวแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่เห็นพ้องกับการที่กมธ.ยกร่างฯ

   ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี40และ50 บัญญัติให้มีการจัดตั้งศาลปกครองเป็นศาลคู่แยกต่างหากจากศาลยุติธรรม เพื่อให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีข้อพิพาททางปกครอง เพราะหน่วยงานทางปกครองและประชาชนไม่มีความเท่าเทียมกันในการค้นหาพยานหลักฐาน เพื่อประกอบการฟ้องหรือต่อสู้คดีดังนั้นศาลปกครองจึงกำหนดวิธีพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน

ชี้ศาลปค.ไม่สังกัดศาลยุติธรรม

     โดยศาลหรือตุลาการศาลปกครองจะมีบทบาทสำคัญในการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างสูงสุด และการบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลปกครองทั้งในการบังคับคดีปกครองทั่วไปและการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของคู่กรณีฝ่ายที่แพ้คดีก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาคดีปกครอง ทั้งนี้จึงสมควรที่จะต้องดำเนินการโดยหน่วยงานบังคับคดีที่อยู่ในศาลปกครองไม่ใช่สังกัดศาลยุติธรรม

ซัดเละทำไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

   นอกจากนี้ ในการบังคับคดีปกครองเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลปกครองจำเป็นต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างตุลาการศาลปกครองและบุคลากรของศาลปกครอง ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็วและประโยชน์ของคู่กรณีในการบังคับคดี สำหรับในส่วนของบุคลากรของศาลปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการบังคับคดีปกครองตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลปกครองก็จำเป็นต้องผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหลักกฎหมายมหาชนและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งศาลปกครอง และสำนักงานศาลปกครองได้มีการพัฒนาบุคลากรในเรื่องดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว และในการดำเนินงานที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาข้อขัดข้องที่จะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาในการบังคับคดีได้แต่อย่างใด ดังนั้นการกำหนดให้ใช้กลไกการบังคับคดีของศาลที่มีวิธีพิจารณาที่แตกต่างกันย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

‘บวรศักดิ์’ย้ำร่างรธน.ยังไม่เสร็จ

    วันเดียวกันที่ห้องประชุมออดิทอเรียม โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอนุกรรมาธิการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จัดสัมมนา”สานพลังเครือข่าย ภาคประชาสังคมในการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ”

    โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า เบื้องต้นร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้พิจารณาเสร็จแล้ว มีจำนวน 315 มาตรา แต่ยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะจะต้องมีการปรับแก้ไขอีกดังนั้นใครที่บอกว่ามีร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในมือขณะนี้แล้วต้องระวัง เพราะอาจเป็นร่างเทียมได้ เพราะร่างที่มีอยู่ในมือตนยังไม่นิ่งเลย

ย้ำจะทำให้ดีกลัวพากันตายหมู่

   ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกจะสมบูรณ์และนิ่งจริงๆคือวันที่ 17 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่กมธ.ยกร่างฯต้องเสนอให้สปช.ได้พิจารณา ถ้าเสนอไม่ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้กมธ.ยกร่างฯจะต้องถูกยุบไป ขอยืนยันว่าถ้ารัฐธรรมนูญเสร็จเราพร้อมที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะแน่นอน ไม่ได้หวง เพราะกมธ.ยกร่างฯ และสปช.จะทำอะไรตามใจไม่ได้ มีคนจับตามองดูอยู่เราก็ต้องทำให้ดี เพราะถ้าพลาดอาจตายหมู่ได้ ดังนั้นจึงต้องระวัง

เตรียมส่งให้สปช.ลงมติ6สิงหาฯ

     นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากนั้นช่วงระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม- 23 กรกฏาคม รวม 60 วัน กมธ.ยกร่างฯ ก็จะเข้าสู่กระบวนการทบทวนเนื้อหาตั้งแต่มาตรา 1 จนถึงมาตรา 315 โดยนำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากทุกฝ่ายมาประกอบการพิจารณา ซึ่งกระบวนการนี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 23 กรกฏาคมก่อนที่จะส่งให้สปช.ลงมติภายในวันที่ 6 สิงหาคม

ย้ำ 4 กันยายน-ประกาศใช้รธน.

     “ถ้าสปช.ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแฝดอินจัน คือ กมธ.ยกร่างฯและสปช.ก็ต้องตายไปด้วยกัน ถูกจับใส่หม้อถ่วงน้ำ เสียชื่อวงศ์ตระกูล แต่ถ้าสปช.เห็นชอบทางประธานสปช.ก็มีเวลาระหว่างวันที่ 7 สิงหาคมถึงวันที่ 4 กันยายนสามารถส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ครม.ดำเนินการตามขั้นตอนและประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ในวันที่ 4 กันยายน” นายบวรศักดิ์ กล่าว

ถ้าทำประชามติเลือกตั้งมิย.59

    จากนั้นขั้นตอนไปภายใน 60 วัน ต้องดำเนินการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับคือพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย การพรรคการเมืองและพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จ และอีก 90 วัน ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้ง หากกระบวนการเป็นไปตามนี้โดยไม่มีประชามติ การเลือกตั้งก็น่าจะเกิดขึ้นประมาณปลายเดือนก.พ.หรือต้นเดือนมี.ค. 2559 แต่ถ้าคสช.และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ตัดสินใจทำประชามติก็บวกเวลาเพิ่มอีก 3 เดือนดังนั้นการเลือกตั้งก็คงเป็นช่วงเดือนมิ.ย.2559

ปลุกสปช.ผ่านรธน.สู้ปชป.-พท.

    “กมธ.ยกร่างฯเปรียบเสมือนเป็นคนพายเรือ สปช.เป็นลูกเรือ เรือลำนี้กำลังแข่งกับนักการเมือง ซึ่งเตรียมทีมแจวไว้อย่างดี เป็นการปรองดองครั้งแรกระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในการถล่มร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นความร่วมมือของสปช.และทุกหน่วยงานมีความสำคัญมากในการช่วยกันจัดทำรัฐธรรมนูญ การทำกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นจึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายเพื่อทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเกิดความสำเร็จ “นายบวรศักดิ์ กล่าว

กมธ.เมินสปช.ขู่แซงชั่นรธน.

    ขณะที่พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สปช.ด้านสังคม เตือนว่าอาจเกิดการแซงชั่น หากกมธ.ยกร่างฯไม่ฟังเสียงท้วงติงว่า เข้าใจดีว่ากมธ.ของสปช.แต่ละคณะ มีความชำนาญเรื่องที่ตนเองศึกษา แต่ว่ากมธ.ยกร่างฯคลุกคลีกับรัฐธรรมนูญมาตลอด จึงเห็นภาพรวมชัดกว่า ว่าประเด็นไหนเชื่อมโยงถึงกันบ้าง ซึ่งตนไม่กังวลที่มีสมาชิก สปช. ออกมาเตือน เพราะคนหมู่มากย่อมเห็นต่างกันได้

     “การออกมาพูดของนายสังศิต อาจเกิดจากประเด็นที่ศึกษา และต้องการผลักดัน ไม่ได้รับความสนใจจาก กมธ.ยกร่างฯ แต่การสร้างบ้านถ้ามัวไปเอาใจใครคนเดียวคงไม่ไหว บ้านจะสร้างกันไม่ได้พอดี ต้องฟังเสียงส่วนรวมคือพลเมือง ครม.หรือ คสช.ด้วย ขอย้ำว่าเรื่องนี้ จะได้ชัยชนะทุกคนคงไม่ได้ และต้องมีคนหนึ่งที่ผิดหวัง”พล.ท.นาวิน กล่าว

'ไพบูลย์'ชี้ความเห็นสปช.บางราย

     ทางด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เป็นเพียงความคิดเห็นของ สปช.บางรายเท่านั้น สมาชิกทุกคนก็อยากจะให้ กมธ.ยกร่างฯเขียนรัฐธรรมนูญออกมาโดยตามใจแต่ละคน แต่เนื่องจากการเขียนรัฐธรรมนูญเราจะต้องเขียนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้นหากสิ่งที่ สปช.จะเสนอมาแล้วเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเราก็เห็นด้วย แต่ถ้าสิ่งที่เสนอมาไม่ตอบโจทย์สิทธิของประชาชนเราก็คงไม่เห็นด้วย

ไม่หวั่นไหวโดนขู่ถึงขั้นแซงก์ชั่น

     เมื่อถามว่า เกรงว่าจะเป็นการขู่แซงก์ชั่นรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้ กมธ.ยกร่างฯหวั่นไหวหรือเป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่หวั่นไวแน่นอน เพราะการเสนอความเห็นดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นของสมาชิกบางคนเท่านั้น ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯเชื่อว่า สปช.ทุกคนมีความรับผิดชอบและมีความเข้าใจเจตนารมณ์ รวมถึงภาพรวมของการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน และทุกคนคงจะใช้วิจารณญาณเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

     อย่างไรก็ตามการแสดงความคิดเห็นในการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนเชื่อว่าสมาชิก สปช.จะดูภาพรวมเป็นส่วนใหญ่ คงไม่ดูเฉพาะมาตราใดมาตราหนึ่ง

วิปสปช.ย้ำกมธ.ต้องฟังเสียงท้วงติง

    ส่วนนายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ(วิป สปช.) กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า เชื่อว่าถ้าเสียงส่วนใหญ่ของสปช.เห็นร่วมกันว่าต้องแก้ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง กมธ.ยกร่างฯคงต้องรับฟัง ถ้าไม่ฟัง รัฐธรรมนูญอาจมีปัญหา หรือไม่ผ่านก็ได้ แต่หากกลับกัน ความเห็นแย้งมาจากบุคคลเดียว หรือคณะใดคณะหนึ่ง ก็ไม่น่ามีผลอะไร ซึ่งตนไม่กังวล ไม่วิตกกับที่สปช.ออกมาขู่แซงชั่น จะทำให้เกิดภาพไม่ดีในวันอภิปราย เพราะเป็นเรื่องปกติของการอภิปรายที่ต้องมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!