หมวดหมู่: คดีปกครอง

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 15:06 น. ข่าวสดออนไลน์

รายงานพิเศษ : ข้อดี-เสียศาลปค.เกษียณ 65 ปี 

      จากกรณีที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ที่จะกำหนดให้ตุลาการศาลปกครอง (ศาลปค.) พ้นจากราชการเมื่ออายุครบ 65 ปี เพราะจะส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจของบุคคลที่จะสมัครสอบคัดเลือกเป็นตุลาการศาล ปกครอง 

      เนื่องจากจะเหลือเวลาเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งตุลาการ ศาลปกครองสูงสุดเพียง 5-6 ปีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ขาดตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะ มาพิจารณาพิพากษาคดี 

มีความเห็นต่างมุมมอง ดังนี้ 

เสรี สุวรรณภานนท์ 

สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

กมธ.ยก ร่างฯ กำหนดให้ตำแหน่งบริหารในศาลปกครองพ้นราชการอายุ 65 ปี แต่สามารถทำหน้าที่ไปจนถึงอายุ 70 ปี ในตำแหน่ง ผู้พิพากษาหรือตุลาการอาวุโส ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร เพราะขึ้นอยู่กับการกำหนดในข้อกฎหมาย แต่กมธ.ยกร่างฯ ต้องดูข้อมูลให้ถี่ถ้วน ดูผลดีผลเสีย ทั้งหมดที่แต่ละฝ่ายเสนอความเห็นมาให้สมประโยชน์ที่สุด และต้องมีการนำข้อมูลมาเทียบเคียงกันด้วย

ส่วนตัวเห็นว่า ถ้าให้การทำงานของตุลาการศาลปกครองมีประสิทธิภาพก็น่าจะอยู่ที่อายุ 65 ปี พอหลังอายุ 65 ปี ก็ให้เป็นฝ่ายอาวุโส แต่ให้กลับไปอยู่ศาลชั้นต้น ซึ่งจะเป็นการช่วยงานในศาลชั้นต้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิด ซึ่งจะทำให้ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นที่เข้ามาใหม่ๆ มีคนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ที่สำคัญ ต้องดูว่าประโยชน์ของประชาชนอยู่ตรงไหน ตุลาการอายุ 65 ปี หรือ 70 ปี ประชาชนได้ประโยชน์อะไร 

ส่วนการอ้างเรื่องแรงจูงใจนั้น เห็นว่าเป็นเหตุผลที่น้อยมาก หากมองเฉพาะอายุ 65 ปี กับ 70 ปี คิดว่าแรงจูงใจน่าจะอยู่ตั้งแต่แรกแล้ว เพราะการเติบโตจะเป็นขั้นบันได กว่าจะเกษียณอายุ 70 ปี ความเจริญก้าวหน้ายิ่งช้าหนักเข้าไปใหญ่ กว่าจะเจริญเติบโตต้องใช้เวลานาน ถ้าหากเกษียณอายุ 65 ปี แต่สามารถเป็นตุลาการอาวุโสได้ถึงอายุ 70 ปี อย่างนี้ประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ ก็ต้องดูข้อดีข้อเสียให้ดี

เรื่อง นี้อยู่ที่การรับฟังความคิดเห็น ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ ต้องเป็นผู้หาข้อมูลในการยกร่าง และดูเหตุดูผลว่าตรงไหนดีกว่ากัน โดยนำข้อมูลของแต่ละคน แต่ละฝ่ายทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกทีว่าอะไรดีที่สุด ซึ่งยังมีเวลาดำเนินการอยู่ เพราะการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ยุติ

จิตติพจน์ วิริยะโรจน์

อดีตส.ว.ศรีสะเกษ

แนว คิดของกมธ.ยกร่างฯ ที่จะปรับเปลี่ยนอายุในการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลปกครองจากเดิมที่ให้หมด วาระ 70 เป็น 65 ปี นั้น โจทย์หลักน่าจะเป็นเรื่อง มุมมองของสุขภาพเป็นหลักว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่งบริหารในส่วนของตุลาการนั้น อายุเท่าไหร่จึงจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด แต่ประเด็นที่อาจเป็นปัญหาคือเรื่องการเปลี่ยนผ่าน หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ให้ตุลาการศาลปกครองหมดวาระเมื่ออายุ 65 ปี แล้วผู้พิพากษาที่อายุประมาณ 66-69 ปีนั้น จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายหรือไม่ หรือว่าให้ดำรงตำแหน่งต่อจนกว่าผู้พิพากษากลุ่มอายุนี้จะหมดวาระ หรือกรณีที่อายุ 64 จะต้องพ้นไปด้วยหรือไม่ 

แนวคิดนี้มี ทั้งข้อดีและข้อเสีย สังคมต้องช่วยกันมองว่าสุดท้ายแล้วเราต้องการให้คนอายุเท่าไหร่มาทำหน้าที่ เป็นฝ่ายตุลาการ ส่วนข้อโต้แย้งว่าหากให้หมดวาระเมื่ออายุ 65 ปีแล้วจะได้ ผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์น้อยนั้นไม่ค่อยเป็นประเด็นปัญหาเท่าไหร่ เพราะการได้มาเป็น ผู้พิพากษาย่อมต้องผ่านขั้นตอน ถือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ดังนั้น ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านของการบังคับใช้กฎหมายใหม่จึงน่าจะเป็นประเด็น ปัญหามากที่สุด เพราะจะทำให้คนได้ประโยชน์และมีคนเสียประโยชน์ จึงต้องมีการวางแผนรองรับปัญหาให้ดี ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการต่อต้านแนวคิดดังกล่าว 

ส่วน เรื่องอายุไม่ใช่ว่าจะมองข้ามไม่ได้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นย่อมมีปัญหาเรื่องสุขภาพตามมา สมมติว่าผู้พิพากษาคนหนึ่งอายุถึงขั้นที่จะได้รับตำแหน่งบริหารที่สูงขึ้น หรือต้องรับผิดชอบมากขึ้น แล้วเกิดสุขภาพไม่ดีขึ้นมาจะมีวิธีรองรับอย่างไร เพราะตำแหน่งผู้พิพากษานั้นต้องอ่านหนังสือจำนวนมากและต้องมีความละเอียด รอบคอบสูง ถือว่าเป็นตำแหน่งที่ต้องใช้บุคคลที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความพร้อมใน การ ทำหน้าที่ เพราะในกระบวนการยุติธรรมจะให้มีจุดอ่อนเกิดขึ้นไม่ได้ 

พล.ร.ท.กฤษฎา เจริญพานิช 

รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ 

มอง ว่าอายุ 65 ปี ก็น่าที่จะมากพอแล้วในส่วนของตุลาการศาลปกครอง ได้ยินมาว่าทางศาลยุติธรรมก็กำลังลดลงมาให้เหลือเท่ากันคืออายุ 65 ปีเช่นกัน หากกลัวว่าตุลาการศาลปกครองจะขาดประสบการณ์นั้น ตนมองว่าหลักนิยมของแต่ละศาลไม่เหมือนกัน ซึ่งต้องไปดูข้อมูลหลักในการพิจารณาต่างๆ ก่อน 

องค์ความรู้ ของศาลปกครองในตอนนี้จะเห็นได้ว่ามีกระจายไป ทั่วแล้ว และมาตรฐานของศาลปกครองก็อยู่ในระดับที่ดีอยู่แล้วในเรื่องกระบวนการพิจารณา ของศาล แต่ถ้าเป็นข้อกฎหมายเฉพาะที่ใช้บังคับในส่วนของแต่ละศาล เราไม่ค่อยที่จะก้าวล่วงกัน ก็ต้องมาดูเหตุผลในหลายๆ เรื่องประกอบกัน

ถ้า ข้อเสนอนี้เข้าสู่การพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตน เป็นสมาชิกอยู่ด้วย ก็ต้องมีข้อพิจารณามา และมีเอกสารประกอบการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบอีกที ถ้าเป็นในลักษณะนี้มองว่าน่าที่จะต้องแต่งตั้งกมธ. เพื่อให้เข้าไปศึกษาจนกระทั่งสรุปเป็นรายงานให้ได้ข้อมูลมาประกอบการพิจารณา เพื่อความรัดกุม หลังจากนั้นสนช.จึงจะนำมาพิจารณากันอีกครั้ง

หาก มีการยืนยันว่าตุลาการศาลปกครองจะต้องพ้นจากราชการอายุ 65 ปี ต้องมีข้อมูลในเรื่องขององค์บุคคล และสถิติของการงานต่างๆ ซึ่งต้องมีข้อมูลการพิจารณาอย่างละเอียด และต้องมีเหตุผลของแต่ละเรื่องไป

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!