หมวดหมู่: พลังงาน

Wattanapong 03188


สนพ. สรุปสถานการณ์พลังงาน ปี 2563 และแนวโน้มปี 2564

     สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยสถานการณ์พลังงานปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 พบว่า ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้นลดลง ร้อยละ 5.8 จากการใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ ที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง และเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว

       นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานปี 2563 พบว่า ความต้องการใช้พลังงานเกือบทุกชนิดเชื้อเพลิงลดลง ในขณะที่พลังงานทดแทนมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ไฟฟ้านำเข้ามีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เนื่องจากปลายปี 2562 มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศลาวเริ่มจ่ายเข้าระบบจำนวน 3 โรง

    สำหรับสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในปี 2563 สรุปได้ดังนี้

    - การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 11.5 โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลงร้อยละ 2.6 ส่วนหนึ่งมาจากการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งช่วงต้นปี ประกอบกับปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ในช่วงปลายปี รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้การใช้รถเพื่อเดินทางลดลง การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล ลดลงร้อยละ 1.2 จากมาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) และลดการเดินทางข้ามจังหวัด การใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลงร้อยละ 61.8 เนื่องจากมาตรการระงับการบินจากต่างประเทศและลดการบินในประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีทำให้การบินในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ การใช้ LPG ลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่ง ลดลงร้อยละ 26.3 จากการปรับลดลงของราคาขายปลีกน้ำมัน ส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์ LPG บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน การใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลดลงร้อยละ 17.7 การใช้ในภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 7.9 และภาคครัวเรือนมีการใช้ลดลงร้อยละ 4.5

      - การใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลงร้อยละ 8.2 โดยลดลงทุกสาขาเศรษฐกิจ ซึ่งลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ด้านการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลงร้อยละ 28.5 จากผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเนื่องจากราคาไม่สูงมากนัก

     - การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม

     - ด้านการใช้ไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 2.9 โดยลดลงเกือบทุกสาขา โดยกลุ่มธุรกิจหลักที่มีการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคารและไนต์คลับ ซึ่งมีผลมาจากมาตรการ Lock Down

      - การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานของประเทศไทย ปี 2563 ลดลงในทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งการผลิตไฟฟ้า ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยคาดว่าการปล่อย CO2 จากการใช้พลังงานอยู่ที่ระดับ 222.8 ล้านตัน CO2  ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 11.1

       ทั้งนี้ ผอ.สนพ. กล่าวถึงแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2564 ซึ่ง สนพ. ได้มีการพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานด้านเศรษฐกิจ และนโยบายที่เกี่ยวข้องมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้พลังงาน โดย สศช. คาดว่าในปี 2564 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 ด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สศช. คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 41.0 – 51.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะอยู่ในช่วง 30.3 – 31.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2564 จะขยายตัวลดลงร้อยละ 4.9 ทั้งนี้ สนพ. ได้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น โดย สนพ. ได้ประมาณการความต้องการใช้พลังงานในปี 2564 ออกเป็น 2 กรณี คือกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ 1 ครั้ง และกรณีที่เกิดการระบาดมากกว่า 1 ครั้ง ในรอบปี 2564 ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

      การใช้พลังงานขั้นต้น ปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.2 ถึง 1.9 จากการเพิ่มขึ้นของพลังงานเกือบทุกประเภท ยกเว้นการใช้น้ำมันที่ลดลงร้อยละ -1.9 ถึง -2.9 โดยคาดการณ์ว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติจะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ถึง 4.1 การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์คาดว่าจะมีการใช้ค่อนข้างทรงตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.1  ถึง 0.4 ส่วนการใช้พลังงานทดแทน คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ และไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1

        การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ปี 2564 คาดว่ามีการใช้ลดลงร้อยละ -1.9 ถึง -2.9 โดยคาดว่าการใช้น้ำมันเครื่องบิน จะลดลงร้อยละ -45.8 ถึง -51.5 ตามการหดตัวของการท่องเที่ยว และ การใช้ LPG ในส่วนที่ไม่รวมการใช้เป็น Feed stocks ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะลดลงร้อยละ -0.7 ถึง -2.7 ส่วนการใช้น้ำมันดีเซล คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ถึง 1.3 ส่วนการใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ถึง 0.8

      การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน ปี 2564 คาดว่าจะมีการใช้ลดลงร้อยละ -1.0 ถึง -5.5 โดยการใช้ในภาคครัวเรือน คาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ถึง 2.5 และภาคอุตสาหกรรม คาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ถึง 3.6 ในขณะที่การใช้ในรถยนต์คาดว่าจะลดลงร้อยละ -12.2 ถึง -15.8

      ก๊าซธรรมชาติ ปี 2564 คาดว่าการใช้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ถึง 4.1 โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการใช้ในภาคขนส่งคาดว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่องจากการที่ผู้ใช้ NGV เปลี่ยนกลับมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันยังคงไม่สูงมากนัก

      การใช้ไฟฟ้า ปี 2564 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 191,029 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและตามการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ

      นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท กล่าวปิดท้ายว่า อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการในการป้องกันโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศต่อไป

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!