หมวดหมู่: พาณิชย์

1aBTPSO MOC


ส่งออก ก.ย.ติดลบแค่ 3.86% ฟื้นตัว 3 เดือนติด คาดทั้งปีลบ 7% ไม่หนักถึง 2 หลัก

     พาณิชย์ เผยส่งออกเดือนก.ย.63 มีมูลค่า 19,621.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.86% ฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หลังสินค้าส่วนใหญ่ส่งออกได้ดีขึ้น โดย 3 กลุ่มหลักยังคงเป็นพระเอก ‘อาหาร-สินค้าทำงานที่บ้าน-สินค้าป้องกันเชื้อโรค’ คาดทั้งปีติดลบ 7% ไม่ลบหนักถึง 2 หลัก ชี้ปัจจัยเสี่ยง เพื่อนบ้านติดโควิด-19 ระบาด กระทบค้าชายแดน เลือกตั้งสหรัฐฯ มีผลต่อนโยบายการค้า ส่วนการเมืองในประเทศ ไม่กระทบส่งออก แต่มีผลต่อการลงทุน   

      น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนก.ย.2563 มีมูลค่า 19,621.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.86% ติดลบน้อยลง ถือเป็นการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยมิ.ย.ติดลบ 23.17% ก.ค.ติดลบ 11.37% และส.ค.ติดลบ 7.94% และยังเป็นสัญญาณดี เนื่องจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นมาจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า ไม่ใช่ได้ผลดีจากการส่งออกทองคำ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,391.20 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.08% เกินดุลการค้า 2,230.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

      สำหรับ การส่งออกในช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 172,996.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.33% การนำเข้ามีมูลค่า 152,372.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.64% เกินดุลการค้า มูลค่า 20,623.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

        ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น มาจากการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกหลายกลุ่ม ที่ส่งออกติดลบน้อยลง และหลายๆ ตัวเริ่มขยายตัวได้ดีขึ้น โดยมีสินค้า 3 กลุ่มหลัก ที่ส่งออกเติบโตได้ดี คือ สินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง

       อย่างไรก็ตาม สินค้าหลายตัวยังคงส่งออกได้ลดลง เช่น น้ำตาลทราย ข้าว ยางพารา ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และทองคำ

       ทางด้านตลาดส่งออก มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยตลาดหลัก เพิ่ม 6.3% ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่ม 19.7% ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป 15 ประเทศ อัตราติดลบดีขึ้นโดยลดลงเพียง 1.9% และ 4.4% ตลาดศักยภาพสูง ลด 8.1% โดยอาเซียน 5 ประเทศ ลด 15.6% CLMV ลด 4.8% และเอเชียใต้ ลด 6.3% แต่จีนกลับมาขยายตัว เพิ่ม 6.9% และตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 10.1% โดยตะวันออกกลาง ลด 26.1% ลาตินอเมริกา ลด 14.5% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลด 31.5% ทวีปแอฟริกา ลด 15.3% แต่การส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 2.1% เป็นบวกในรอบ 6 เดือน

       น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยถือว่าฟื้นตัวอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าติดลบน้อยลง โดยการส่งออกไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะส่งออกได้มูลค่า 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6% ทำให้ยอดรวมทั้งปี 2563 จะส่งออกได้มูลค่า 228,904 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบประมาณ 7% ไม่ติดลบถึง 2 หลัก อย่างที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 

โดยปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปีนี้

     คือ การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในเมียนมา ที่จะกระทบต่อการค้าชายแดนในระยะสั้น แต่ประเทศไกลๆ ไม่มีผลมากนัก เพราะสินค้าส่วนใหญ่ส่งออกไปแล้ว แต่จะไปมีผลในช่วงไตรมาสแรกปี 2564 และยังต้องจับตานโยบายการค้าของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้ง ที่จะต้องติดตามว่าสหรัฐฯ จะใช้วิธีไหนกับจีน เพราะไม่ว่าใครจะได้รับการเลือกตั้งระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับนายโจ ไบเดน ความขัดแย้งกับจีนก็จะยังคงมีอยู่ แต่วิธีการอาจจะไม่เหมือนกัน ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า ทรัมป์มีโจทย์ง่าย ทะเลาะโดยตรง แต่ไบเดน ต้องตีโจทย์ว่าจะทำอย่างไร ไม่เน้นทะเลาะตรงๆ เน้นการหาพวกมากดดัน

      นอกจากนี้ ต้องติดตามการมีวัคซีนโควิด-19 หากใครมีก่อน เศรษฐกิจของประเทศนั้นก็จะฟื้นตัวแบบหัวกระสุนซินคันเซน เศรษฐกิจจะเทไปทางนั้น ไม่รู้ว่าฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป หรือเอเชีย ที่จะเจอก่อน ส่วนปัญหาการเมืองในประเทศ ไม่มีผลกระทบต่อการส่งออก เพราะเป็นเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศ แต่จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน โดยนักลงทุนจะใช้เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณา ถ้านักลงทุนไม่มา การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยยังต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ ก็จะชะงัก และมีผลกระทบต่อการส่งออกในระยะยาว'''

 

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนกันยายน 2563

       ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกันยายน มีการฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ในหลายประเทศ ส่งผลให้เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และควบคุมการเดินทาง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทย พบว่ามีการหดตัวที่น้อยลงเป็นลำดับ แสดงถึงศักยภาพในการปรับตัวของธุรกิจทั้งฝั่งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

       สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1) สินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง

2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์

3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่มีการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในประเทศที่มีการแพร่ระบาดสูงอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ขณะที่ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ เป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงสำหรับประเทศที่มีการระบาดรุนแรงในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะเมียนมา

      ด้านตลาดส่งออก ตลาดสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่หลายตลาดกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะจีน ออสเตรเลีย เวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้ รวมทั้งตลาดอื่นๆ ที่มีสัดส่วนสำคัญกับการส่งออกไทย ล้วนมีอัตราการหดตัวที่ลดลงมากในเดือนนี้ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย สหราชอาณาจักร และเยอรมนี

       การส่งออกไทยเดือนกันยายน 2563 มีมูลค่า 19,621.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.86 สำหรับภาพรวมการส่งออก 9 เดือนแรก (มกราคม–กันยายน) มีมูลค่า 172,996.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.33

มูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ

     เดือนกันยายน 2563 การส่งออก มีมูลค่า 19,621.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.86 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้า มีมูลค่า 17,391.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 9.08 การค้าเกินดุล 2,230.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 172,996.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.33 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 152,372.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 14.64 ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 20,623.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท

      เดือนกันยายน 2563 การส่งออก มีมูลค่า 609,838.49 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.24 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 548,019.22 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.59 การค้าเกินดุล 61,819.27 ล้านบาท ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 5,387,040.22 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.69 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 4,805,888.12 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 15.14 ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 581,152.10 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

          มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.1 (YoY) หลังจากหดตัว 3 เดือนติดต่อกัน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวร้อยละ 435.3 ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา จีน และกัมพูชา) ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป กลับมาขยายตัวในเดือนนี้ ที่ร้อยละ 50.3 (ขยายตัวในจีน สหรัฐฯ เวียดนาม ฮ่องกง มาเลเซีย และเกาหลีใต้) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 29.5 ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และบังกลาเทศ) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 17.7 ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ กัมพูชา และเยอรมนี) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 16.7 ขยายตัว 13 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์)

              สินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 59.9 หดตัว 6 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในเกือบทุกตลาด อาทิ อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม) ข้าว หดตัวร้อยละ 22.7 หดตัว 5 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ แคเมอรูน ฮ่องกง และจีน แต่ยังขยายตัวได้ดีในเบนิน และอังโกลา) ยางพารา หดตัวที่ร้อยละ 12.2 หดตัว 7 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในเกือบทุกตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ตุรกี และบราซิล แต่ยังขยายตัวได้ดีในมาเลเซีย ไต้หวัน และเยอรมนี) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัวร้อยละ 3.8 หดตัว 3 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในหลายตลาด อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี แต่ยังขยายตัวได้ดีในจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และแคนาดา) ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.8

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

        มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 3.9 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน แต่มีทิศทางการหดตัวน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 34.1 ขยายตัว 16 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ เวียดนาม ฮ่องกง บราซิล ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และเม็กซิโก) ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 29.7 ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวทุกตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เวียดนาม และมาเลเซีย) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 27.2 ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์) เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 26.3 ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย แคนาดา) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 25.2 ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม มาเลเซีย อาร์เจนติน่า และเกาหลีใต้) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 21.2 ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหราชอาณาจักร)

      เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวในเดือนนี้ ที่ร้อยละ 14.6 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เยอรมนี ฮังการี ฯลฯ) ถุงมือยาง ขยายตัวร้อยละ 154.9 ขยายตัว 10 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวทุกตลาด อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 58.9 เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 23.7 หดตัว 12 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ จีน และมาเลเซีย แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดฮ่องกง เวียดนาม และแอฟริกาใต้)

      รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 15.3 หดตัว 12 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในหลายตลาด อาทิ เวียดนาม จีน แม็กซิโก ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย และแอฟริกาใต้ แต่ขยายตัวได้ดีในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 13.6 หดตัว 21 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวแทบทุกตลาด อาทิ จีน เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และลาว แต่ขยายตัวได้ดีในอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ทองคำ กลับมาหดตัวในเดือนนี้ที่ร้อยละ 9.2 (หดตัวในออสเตรเลีย ฮ่องกง และอิตาลี แต่ขยายตัวดีหลายตลาด อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน) ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 7.3

ตลาดส่งออกสำคัญ

      การส่งออกไปตลาดสำคัญมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ มูลค่าการส่งออกในหลายตลาดปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า รวมทั้งหดตัวในอัตราลดลงต่อเนื่อง สะท้อนถึงการทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวมากขึ้น

      ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 6.3 ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 19.7 ขณะที่ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาก โดยหดตัวร้อยละ 1.9 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ 2) ตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 8.1 การส่งออกไปอาเซียน (5) CLMV และเอเชียใต้ หดตัวร้อยละ 15.6 4.8 และ 6.3 ตามลำดับ ขณะที่ตลาดจีนกลับมาขยายตัวร้อยละ 6.9 และ 3) ตลาดศักยภาพระดับรอง หดตัวร้อยละ 10.1 ตะวันออกกลาง (15) หดตัวร้อยละ 26.1 ลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 14.5 รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 31.5 และทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 15.3 ขณะที่การส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 2.1

ตลาดสหรัฐอเมริกา

      ขยายตัวสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 19.7 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และรถยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 7.4

ตลาดจีน

      กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน ที่ร้อยละ 6.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และเม็ดพลาสติก ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 3.7

ตลาดทวีปออสเตรเลีย (25)

    กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ที่ร้อยละ 2.1 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศฯ ปูนซิเมนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบฯ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 13.6 

ตลาดญี่ปุ่น

       หดตัวร้อยละ 1.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก และโทรทัศน์และส่วนประกอบ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 10.3

ตลาดสหภาพยุโรป (15)

       หดตัวร้อยละ 4.4 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องนุ่งห่ม สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศฯ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 15.7

ตลาดอาเซียน (5)

      หดตัวร้อยละ 15.6 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องยนต์สันดาปฯ และน้ำตาลทราย สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า และยางพารา ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 11.1

ตลาด CLMV

        หดตัวร้อยละ 4.8 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศฯ และรถยนต์และส่วนประกอบ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ น้ำตาลทราย และผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 10.8

ตลาดตะวันออกกลาง (15)

       หดตัวร้อยละ 26.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว เครื่องปรับอากาศฯ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลแปรรูปฯ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 14.6

ตลาดเอเชียใต้

        หดตัวร้อยละ 6.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ผ้าผืน และปูนซิเมนต์ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ไขมันและน้ำมันฯ น้ำมันสำเร็จรูป และเม็ดพลาสติก ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 32.2

ตลาดอินเดีย

       หดตัวร้อยละ 5.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศฯ และเคมีภัณฑ์ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเครื่องยนต์สันดาปฯ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 34.3

ตลาดลาตินอเมริกา

        หดตัวร้อยละ 14.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และเครื่องจักรกลฯ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เม็ดพลาสติก และอาหารทะเลแปรรูปฯ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 25.6

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS

        หดตัวร้อยละ 31.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องฯ และอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ผลิตภัณฑ์ยาง แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 28.2

ตลาดทวีปแอฟริกา

         หดตัวร้อยละ 15.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบฯ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาปฯ เคมีภัณฑ์ และเหล็กและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 24.4

แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563 และ 2564

      การส่งออกไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง การส่งออกไปตลาดสำคัญหลายตลาดกลับมาขยายตัวอีกครั้ง รวมถึงตลาดอื่นๆ ที่แม้จะยังหดตัว แต่มีการหดตัวลดลงซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และเมื่อพิจารณารวมกับการกลับมาขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เห็นแนวโน้มที่ดีของการส่งออกไทยที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี

      ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในการประเมินสถานการณ์การส่งออกในปี 2563 ได้แก่ สถานการณ์การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน นโยบายของผู้นำอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นต่อการส่งออก การลงทุน และอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับปัจจัยลบที่อาจกระทบการส่งออก ได้แก่ การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ โดยเฉพาะยุโรปที่กลับมาล็อกดาวน์ในรายพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งอาจกระทบกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาที่การระบาดเข้าขั้นวิกฤติ อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการค้าชายแดนของไทยในระยะสั้น ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนการส่งออก ได้แก่ ห่วงโซ่อุปทานของสินค้ากลับมาดำเนินการได้ตามปกติ การที่ไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ไม่พบการติดเชื้อในประเทศ ทำให้ภาคการผลิตดำเนินการได้ตามปกติ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยและประเทศคู่ค้า

      การส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้เร่งผลักดันสินค้าไทยผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน และจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ โดยใช้การเจรจาออนไลน์เพื่อหาออเดอร์ส่งออก ปรับรูปแบบการอบรมสัมมนาโดยผ่าน Facebook Live Webinar และ Zoom เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงองค์ความรู้ได้เร็ว ลดการเดินทาง และสอดรับกับวิถีชีวิตยุคใหม่ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมอาหาร ตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID-19 Prevention Best Practice) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้นำเข้าสินค้าอาหาร และเป็นการรับรองว่าสินค้าไทยปราศจากเชื้อในกระบวนการผลิต ซึ่งจะทำให้สินค้าอาหารของไทยสามารถขยายการส่งออกและเจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ ได้ในอนาคตอีกด้วย

 โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!