หมวดหมู่: การศึกษา

10502 KMUTT


นศ. มจธ. เจ๋ง คว้าแชมป์ ‘Hackathon BUILD ON THAILAND 2020

EMBRACING YOUR FUTURE’ และได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันระดับอาเซียน

          นักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ภายใต้ชื่อทีม “Hello World” คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขัน Hackathon BUILD ON, THAILAND 2020 EMBRACING YOUR FUTURE จัดโดย AWS, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สำนักงานเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), KMITL Research and Innovation Services (KRiS) ซึ่งเป็นการจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย และได้เป็นตัวแทน 1 ใน 3 ของไทยที่ได้เข้าแข่งขันเพื่อชิงอันดับหนึ่งในระดับอาเซียนร่วมกับทีมผู้ชนะเลิศจากอีก 4 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ภายในปลายปี 2563

          ทีม “Hello World” มีสมาชิกด้วยกัน 5 คน ประกอบด้วย นางสาวจิรัฐติกาล วิไลรัตน์ (ปอย), นางสาวภัทราภร เพิ่มพูล (ข้าวตู), นางสาวทัศนีย์วรรณ น้อยตา (มาย) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ, นางสาวกมลวรรณ ครองสกุล (ปลา) และนายชลันธร หนิ้ววิยะวงค์ (น็อต) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

          สำหรับการแข่งขัน Hackathon BUILD ON, THAILAND 2020 EMBRACING YOUR FUTURE ที่จัดขึ้นครั้งแรกในไทยนี้ มีการแบ่งโจทย์การแข่งขันออกเป็น 7 หัวข้อหลักตามองค์กรที่ต้องการพัฒนาหรือแก้ปัญหาธุรกิจโดยนำ AWS หรือ Amazon Web Services มาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ โดยทีม “Hello World” จาก มจธ.เลือกโจทย์ของ “OpenDurian” แพลตฟอร์มที่พัฒนาด้านการศึกษารูปแบบคอร์สเรียนออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีนักเรียนที่สมัครเรียนออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทำให้มีปัญหาด้านระบบการตรวจสอบสลิปการจ่ายเงิน เนื่องจากนักเรียนจะต้องส่งสลิปเข้าไปในระบบก็จะใช้พนักงานในการตรวจสอบ แต่เมื่อมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้าน ทำให้พนักงานต้องใช้เวลามากในการตรวจสลิป โจทย์ของ OpenDurian คือ ต้องการระบบที่ทำให้สามารถตรวจสลิปได้รวดเร็วขึ้น โดยจะต้องไม่ไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้งาน หรือ User

 

 

10502 KMUTT3

 

          “ปัญหาของ OpenDurian คือยังใช้คนในการตรวจสอบสลิปที่มีจำนวนมาก จึงใช้เวลานานและมีกระบวนการหลายอย่าง จึงอยากได้ระบบที่มาแก้ปัญหาตรงนี้ เราเลยคิดระบบที่ช่วยตรวจสอบสลิปได้อัตโนมัติ เพื่อตอบโจทย์กับธุรกิจ ตรวจสอบสลิปที่มีการโอนเข้ามาได้มีประสิทธิภาพและประหยัดเวลามากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือต้องไม่ไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้งานของ user” นายชลันธร หนิ้ววิยะวงค์ หรือ น็อต กล่าว

          เมื่อได้รับการตีโจทย์ธุรกิจจาก “น็อต” ว่าจะแก้ปัญหาแนวทางไหน จึงนำมาสู่การแบ่งงานกันตามความสามารถของสมาชิกในทีม โดยนางสาวจิรัฐติกาล วิไลรัตน์ หรือ ปอย จะเป็นผู้ที่จะออกแบบระบบอัตโนมัติ (Automation Systems) ที่มีชื่อว่า “อะธีนา (Athena)” ออกแบบให้ทุกคนเห็นภาพตรงกัน รวมทั้งส่วนของ Front-End หรือส่วนของการแสดงผลหน้าบ้าน โดยใช้ Programming พัฒนาให้สามารถแสดงผ่านทาง Web Browser จากนั้น นางสาวทัศนีย์วรรณ น้อยตา หรือ มาย ในฐานะ Developer ของทีม จะรับหน้าที่ในพัฒนาระบบด้วย Programming Languages ออกแบบระบบประมวลผล โดยใช้ Service ของ AWS (Amazon Web Services) ในการประมวลผลเพื่อให้ไปตอบโจทย์กับ User Interface (UI) ที่ประมวลผลอยู่ใน Browser

          ในขณะที่ นางสาวภัทราภร เพิ่มพูล หรือ ข้าวตู ในฐานะที่มีความรู้ด้าน AWS มากที่สุดของทีม จะนำสิ่งที่เพื่อนๆ ออกแบบหรือ Source Code ขึ้นไปอยู่บน AWS ให้คนทั่วไปสามารถที่จะเข้าถึงได้ เป็นการทำให้งานที่เพื่อน Develop ทำงานได้ง่ายขึ้น โดยใช้ระบบอัตโนมัติ สำหรับสร้าง Source Code และทำการนำขึ้นสู่ระบบ Cloud ส่วน นางสาวกมลวรรณ ครองสกุล หรือ ปลา มีความรู้ด้าน Data Science ได้รับมอบหมายให้ทำ Data Analytics โดยเมื่อผู้ใช้ส่งสลิปเข้ามาจะได้รับข้อมูล เช่น จำนวนเงิน ชื่อผู้ใช้ หรือคอร์สที่ซื้อ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เมื่อนำมาวิเคราะห์ในระบบจะทำให้ OpenDurian สามารถรู้ว่า คอร์สไหนที่คนซื้อมาก หรือเทรนด์ต่อไปจะเป็นอะไร เป็นการทำให้บริษัทสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์การวางแผนธุรกิจในอนาคตได้

 

10502 KMUTT4

 

          “สิ่งที่ทำให้ผลงานออกแบบระบบของเราได้รับการคัดเลือก เพราะเขาไม่ต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานในระบบ ซึ่งวิธีการของเราตอบโจทย์เขามากที่สุด เขาอยากให้นักเรียนส่งสลิปผ่านระบบ ตรวจสอบ ยืนยัน และนักเรียนก็เข้าไปเรียนได้ ไม่อยากให้วิธีการใช้งานเปลี่ยนไป ในขณะที่ทีมอื่นๆ ที่เลือกโจทย์ในหัวข้อเดียวกันนี้ พยายามเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ซึ่งเจ้าของโจทย์รู้สึกว่าเขาไม่ได้อยากจะเปลี่ยนพฤติกรรมนี้” ปอย กล่าวเสริม

          ด้วยการทำงานที่เป็นทีมเวิร์กและออกแบบระบบที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจอย่างแท้จริง ทำให้ทีม “Hello World” สามารถคว้าแชมป์มาครองได้ ถือเป็นทีมแรกจากการแข่งขัน Hackathon BUILD ON, THAILAND 2020 EMBRACING YOUR FUTURE ที่มีการจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล Viewer Choice Award อีก 1 รางวัล

          สำหรับการแข่งขันเริ่มรับสมัครประมาณเดือนพฤษภาคม 2563 แบ่งการแข่งขันเป็น 3 รอบ รอบแรกเป็นการเขียนโครงร่างและนำเสนอไอเดีย จากจำนวนทีมที่สมัคร 60 ทีม คัดเลือกเหลือ 50 ทีม จากนั้นเข้าคลินิกเพื่อรับคำแนะนำจากตัวแทนองค์กร/บริษัทเจ้าของโจทย์ เพื่อนำมาจัดทำต้นแบบในรูปแบบของวิดีโอ จากทั้งหมด 7 หัวข้อ รอบนี้ถูกคัดเหลือ 43 ทีม ซึ่งจะแข่งขันกันในแต่ละโจทย์ และคัดเลือกเหลือ 7 ทีมเข้าแข่งขันรอบออฟไลน์ (เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา) ซึ่ง “Hello World” ทีมจาก มจธ. เป็น 1 ใน 7 ทีมสุดท้ายของประเทศไทย และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการตอบโจทย์ OpenDurian ได้มากที่สุด พร้อมกับรางวัล Viewer Choice Award อีก 1 รางวัล

 

10502 KMUTT2

 

          แม้ว่าการแข่งขันครั้งนี้จะเป็นการลงสนามครั้งแรกของสมาชิกในทีมหลายคน แต่ประสบการณ์ที่ได้จากโครงการทั้งด้านการทำงานเป็นทีม ด้านบริการ Cloud Computing หรือ AWS ก็สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดการทำงานในอนาคตได้

          ปลา กล่าวแสดงความเห็นว่า “จากการที่เรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ การแข่งขันครั้งนี้ทำให้เราเพิ่มทักษะในด้านอื่นเพิ่มด้วย เช่น ความรู้เรื่อง Data Analytics มีบางวิชาที่สอนเรื่องนี้มาด้วย การแข่งขันครั้งนี้จึงช่วยเพิ่มความรู้ในหลายด้านมากกว่าที่เรียนอยู่”

          ขณะที่ ปอย บอกว่า “การได้ทำงานกับเพื่อนต่างคณะ ทำให้มีแลกเปลี่ยนมุมมองมากขึ้น นอกจากนี้การที่เราได้เริ่มทำโครงการด้วยตัวเองโดยที่ไม่ได้มีรายวิชาหรืออะไรมาบังคับช่วยทำให้เราเป็นคนที่มีวินัยและอยากที่จะหาความรู้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังได้ประสบการณ์นอกรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้ได้เจอทีมจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถได้จากในห้องเรียน และนอกจากทักษะที่จะเพิ่มแล้วเรายังได้ทัศนคติ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ จากเพื่อนต่างสถาบันอีกด้วย”

          ส่วน มาย มองว่า “การเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ ได้เปลี่ยนความคิดของตัวเองจากเดิมคิดแค่อยากได้เสื้อ AWS พอทำงานมาสักพักเริ่มเข้าสู่รอบลึกๆ เริ่มรู้สึกว่ามันท้าทายและอยากทำออกมาให้ดี เพื่อเป็นใบเบิกทางสู่การทำงาน และที่ประทับใจคือ การทำงานที่เป็นทีมเวิร์กของเพื่อนๆ ที่มีความรู้ในแต่ละด้านและมีความสนใจที่จะมาทำในสิ่งเดียวกัน และเรามีเป้าหมายเดียวกันก็คือเราอยากจะไปอาเซียน ถึงแม้ว่าในการแข่งขันบางที่เราไม่ต้องไปหวังผลถึงเป้าหมายใหญ่ แค่คิดว่าอยากได้ประสบการณ์แค่นั้นแล้วเดี๋ยวมันจะพาเราไปสู่เป้าหมายสูงสุดได้”

          ด้านข้าวตู ยอมรับว่า “การแข่งขันครั้งนี้ ถือเป็นการพิสูจน์ว่าเราสามารถนำ AWS มาใช้ได้จริง จากที่ไม่ได้หวังว่าจะต้องได้รางวัลแต่ก็ได้มา ทำให้อยากไปต่อ อยากหาความรู้ในส่วนนี้มากขึ้นอีก ที่สำคัญการแข่งขันครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ทีมเราเท่านั้น แต่ยังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากอาจารย์ที่ปรึกษาและพี่ๆ ที่พร้อมช่วยเหลือทำให้เราได้ประสบการณ์ตรงนี้”

          “การแข่งขันนั้นเหมือนการที่เราได้ออกมาสู่โลกจริงที่จะต้องใช้ทักษะมากมายนอกเหนือจากการเรียน สำหรับสิ่งที่ตัวเองได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้ คือ มุมมอง ได้เห็นถึงระบบการทำงาน ได้เรียนรู้อะไรต่างๆ จากเพื่อนต่างคณะที่มีกระบวนการทำงานค่อนละเอียดเป็นแบบแผน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับงานอื่นๆ ได้” น็อต กล่าว

          การแข่งขัน Hackathon BUILD ON, THAILAND 2020 EMBRACING YOUR FUTURE จัดโดย AWS, depa, สำนักงานเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), KMITL Research and Innovation Services (KRiS) จัดขึ้นที่ประเทศไทยปีนี้เป็นแรก โดยในปี 2019 มีการจัดการแข่งขันขึ้นที่ สิงคโปร์และมาเลเซีย และในปี 2020 ได้มีการขยายการแข่งขันออกไป 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย, ไทย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งการแข่งขัน Hackathon Build On, ASEAN 2020 ซึ่งน้องๆ ทีม Hello World จะเป็นตัวแทน 1 ใน 3 ของประเทศไทยเพื่อเข้าแข่งขันชิงอันดับหนึ่งในระดับอาเซียนร่วมกับทีมผู้ชนะเลิศจาก 4 ประเทศ ราวปลายปี 2563 นี้ อีกด้วย


A10502

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!