หมวดหมู่: ธปท.

1abABOA


เงินบาทแข็งค่าสอดคล้องกับภูมิภาค พร้อมดูแลบาทแข็ง หลังเห็นสัญญาณเงินไหลเข้าหลังโควิดเริ่มคลี่คลาย

        นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลในภูมิภาค โดยนับตั้งแต่สิ้นเดือน พ.ค. ถึงปัจจุบัน (11 มิ.ย. 63) เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น 2.71% รองจากเงินรูเปียของอินโดนีเซีย และเงินวอนของเกาหลีใต้ สาเหตุหลักมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เงินทุกสกุลในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. สำหรับเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเงินไหลกลับของนักลงทุนที่เป็นทั้งนักลงทุนไทยและกองทุนต่างๆ ที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศในช่วงก่อนหน้า ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรในเดือนมิถุนายน แต่ยังไม่มาก

       อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนในสภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกและของไทย อาจส่งผลให้ค่าเงินมีความผันผวน จึงขอแนะนำให้ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ และควรกระจายสกุลเงินในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ หลีกเลี่ยงการอิงกับสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. เพียงสกุลเดียว โดยเฉพาะหากเป็นการซื้อขายระหว่างกันเองในภูมิภาค การพิจารณาเลือกเงินสกุลเพื่อกำหนดราคาสินค้า (invoicing currency) ในสกุลที่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันจะมีโอกาสช่วยลดความผันผวนของรายรับในสกุลบาท นอกจากการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่สถาบันการเงินให้บริการอยู่แล้ว

 

ธปท.พร้อมดูแลบาทแข็ง หลังเห็นสัญญาณเงินไหลเข้าหลังโควิดเริ่มคลี่คลาย

 ธปท. เผยโควิด-19 ไทยดีขึ้น จูงใจนักลงทุนแห่พักเงินระยะสั้น พร้อมใช้มาตรการดูแลบาทแข็งค่าหากจำเป็น แนะผู้ประกอบการทำประกันความเสี่ยงเพิ่ม

  นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของไทยและภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินสกุลเอเชียและเงินบาทเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนบางกลุ่มที่ใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท. ไม่พึงประสงค์ และ ธปท. พร้อมพิจารณาใช้มาตรการที่จำเป็น เพื่อไม่ให้การแข็งค่าของเงินบาทซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจในปัจจุบัน

  “ในช่วงต่อไป สถานการณ์โควิด-19 และสภาวะตลาดการเงินโลกจะสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับจะมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทางตรงของทั้งภาครัฐและเอกชนที่อาจทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวกลับทิศได้ในบางช่วง ธปท. จึงขอแนะนำให้ผู้ที่มีธุรกรรมเงินตราต่างประเทศป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรับมือกับความผันผวนจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาททั้ง 2 ทิศทางในระยะข้างหน้า”นายเมธี กล่าว

   นายเมธี กล่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์โควิด 19 ของไทยดีกว่าอีกหลายประเทศและตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ ซึ่ง ธปท. กังวลว่าการแข็งค่าเร็วของเงินบาทอาจไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ยังเปราะบาง หลายภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรง ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาส 2 ในระยะต่อไป

   ด้านราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีส่วนสร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่ง ธปท. จะตรวจสอบการทำธุรกรรมของกลุ่มผู้ค้าทองคำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!