หมวดหมู่: ธปท.

1aaa Kพรเพ็ญ สดศรีชัย


ธปท.เผยเศรษฐกิจพ.ย.62 ยังทรุดตามส่งออก แต่หวังปี 63 จีดีพีโต 2.8%

  ธปท. เผยศก.พ.ย. 62 ชะลอตัว หลังส่งออกติดลบ 7.7%-ใช้จ่ายภาครัฐ  ฟากนำเข้าติดลบ 13.9% ประเมินส่งออกปีนี้ติดลบ 3.3% หลัง 11 เดือนติดลบ 3.4% ส่วนเป้าจีดีพีปีนี้คาดโต 2.5% ปีหน้าหวัง 2.8%

 นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ สำนักวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ย. 62 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม และ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสอดคล้องกัน

 สำหรับ การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว โดยมาตรการภาครัฐมีส่วนช่วยพยุงกำลังซื้อบางส่วน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

  ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และ อัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่หดตัวน้อยลง สำหรับอัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำทรงตัว ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์

  ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 7.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า จากภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว , วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน และ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ประกอบกับ มีปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมหดตัวทั้งด้านราคาและปริมาณ

  นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างการผลิต และ การค้าโลกจากสภาวะกีดกันทางการค้าที่ผ่านมายังทำให้สินค้าไทยบางส่วนถูกทดแทนด้วยสินค้าจากจีนในตลาดอาเซียน โดยการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งการส่งออกสินค้าในภาพรวมที่หดตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสอดคล้องกัน

  “ส่งออกปีนี้น่าจะตามคาดที่หดตัว 3.3% หลัง 11 เดือนหดตัวไป 3.4% โดยเดือนธ.ค. ส่งออกจะติดลบน้อยกว่าเดือนพ.ย. เพราะมาจากฐานที่ต่ำ โดยส่งออกปีหน้ามองไว้ที่ 0.5%”นางสาวพรเพ็ญ กล่าว

 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 13.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำหดตัว 15.4% โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้าสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางหดตัวต่อเนื่อง ตามการนำเข้าน้ำมันดิบเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันบางแห่ง , การนำเข้าสินค้าทุนหดตัวตามการนำเข้าเครื่องกังหันไอพ่นและอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมเป็นสำคัญ และ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงหดตัว ตามการนำเข้าอาหารทะเลเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน

 ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับ อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ภาคธุรกิจยังคงชะลอการลงทุน โดยเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่องทั้งการนำเข้าสินค้าทุน ยอดขายเครื่องจักรในประเทศ และ ยอดจดทะเบียนรถยนต์

 ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญสอดคล้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่ออุตสาหกรรมขยายตัวดีขึ้น รวมทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และอื่นๆ กลับมาขยายตัวได้ในเดือนนี้

   การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำกลับมาหดตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของหน่วยงานด้านความมั่นคงบางหน่วยงาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่ประกาศใช้ สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านพลังงานเป็นสำคัญ

  เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ยังคงอยู่ในทิศทางชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี ตามปัจจัยด้านรายได้ของลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังแผ่วอยู่ รวมทั้งสถาบันการเงินที่ยังระมัดระวังในการให้สินเชื่อรถยนต์ตามคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง

 อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐยังคงมีส่วนช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน ในเดือนนี้เครื่องชี้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการชะลอลง หลังจากเร่งขึ้นในเดือนก่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนและหมวดสินค้าคงทนหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์

  จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเป็นไปตามคาดที่ 39.9 ล้านคน จากเดือนพ.ย. 62 อยู่ที่ 35.9 ล้านคน โดยเป็นผลจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival ที่มีส่วนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย และ ไต้หวันขยายตัว , ภาวะเศรษฐกิจของรัสเซียที่เริ่มฟื้นตัว และ การเพิ่มเส้นทางการบินจากรัสเซียมาไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียขยายตัวดีขึ้น

  ทางด้านนักท่องเที่ยวสัญชาติเอเชียอื่นยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง อาทิ นักท่องเที่ยวลาว และ ญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากฐานจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำในปีก่อนจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ตทยอยหมดลง

  ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.21% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่หดตัวน้อยลงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อน และ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.47% สำหรับอัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน

  ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำทรงตัว ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์ ตามการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตราสารทุน และ การออกไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศของนักลงทุนไทย

   “จีดีพีไตรมาส 4/62 คาดเติบโตใกล้เคียงที่ 2.5% ส่งผลให้ปีนี้จีดีพีจะเป็นไปตามคาดที่ 2.5% ส่วนปีหน้าอยู่ที่ 2.8% หลักๆ มาจากการส่งออก และ การลงทุน โดยส่งออกขึ้นกับการค้าโลก และ เบื้องต้นหลายฝ่ายมองว่าปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ แต่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่ ส่วนการลงทุนปีหน้าภาครัฐจะลงทุนต่อเนื่อง แม้ว่าการเบิกจ่ายงบประมาณจะล่าช้าไปกว่าคาด ซึ่งอยากเห็นเอกชนลงทุนเพิ่มเติม เพราะที่ผ่านมาลงทุนน้อยเกินไป ตอนนี้ภาวะทุกอย่างเอื้อต่อภาคเอกชนให้ลงทุน ควรใช้เวลานี้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยการลงทุนเอกชนปี 63 เรามองไว้ที่ 3.4% และ การลงทุนภาครัฐ 6.3%”นางสาวพรเพ็ญ กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!