หมวดหมู่: ธปท.

1.AAA A AAboa


ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปใหม่ เริ่มใช้ปี 2563 ที่ 1-3%

     คณะกรรมการนโยบายการเงินและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคา สำหรับระยะปานกลาง และสำหรับปี 2563

        อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/34TuwRD

 dropdown

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3%

 

ธปท.แจงเป้าเงินเฟ้อปี 63 ที่ 1-3% สอดคล้องภาวะศก. ยันไม่มีแผนออก QE

  ธปท.แจงปรับลดเป้าเงินเฟ้อทั่วไปปี 63 เหลือ 1-3% เพื่อให้สอดคล้องภาวะศก.-ยันนโยบายการเงินไม่เปลี่ยนจากเดิม ยันไม่ต้องใช้ QE ย้ำศก.ไทยยังไม่วิกฤต 

 นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงเป้าหมายนโยบายการเงินประจำปี 2563 ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อตกลงร่วมกัน โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 ในช่วง 1-3% โดยไม่มีค่ากลาง เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง 3-5 ปี โดยเป้าหมายปี 2563 ลดลงจากปัจจุบันที่คาดจะอยู่ที่ 2.5% บวกลบ 1.5% หรือ 1-4%

 สำหรับ สาเหตุที่ปรับลดเป้าหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนไป และอัตราเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง หรือปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมัน สินเกษตร และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce ที่ทำให้การแข่งขันสูงขึ้นจนผู้ขายปรับราคาสินค้ายาก

 นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุมีรายได้หลังเกษียณลดลง จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้การบริโภคสินค้าและบริการในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงในระยะต่อไป

 ส่วนการเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อมาใช้แบบช่วงกรอบ โดยไม่มีค่ากลางนั้น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้นโยบายการเงินสามารถดูแลเสถียรภาพด้านราคา ควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกและไทยผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง

  ทั้งนี้ กนง.จะออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการ 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย เพื่อให้ กนง.สามารถแสดงความรับผิดชอบและสื่อสารกับสาธารณชนได้ทันการณ์ ไม่ต้องรอถึงสิ้นปีปฏิทิน รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องมองไปข้างหน้า

  นายเมธี กล่าวว่า ยืนยันว่า การปรับลดเป้าหมายนโยบายการเงินครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณว่าแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินจะเปลี่ยนจากเดิม โดยภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน นโยบายการเงินมีแนวโน้มผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายต่อไป

  “ ที่กังวลว่านโยบายการเงินเริ่มมีจำกัด เรามีโอกาสที่จะทำ QE หรือไม่ ยืนยันว่า เราไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้วิกฤติ และปัจจุบันสภาพคล่องเรายังมีค่อนข้างมาก”นายเมธี กล่าว

  โดยการตัดสินนโยบายการเงินภายหลังการปรับเป้าหมายใหม่ยังคงยึดหลัก คือ data dependent โดยพิจารณาข้อมูลรอบด้าน และพร้อมปรับนโยบายเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประเมินไว้ และรักษาสมดุลของการดูแลเป้าหมายนโยบายการเงิน 3 ด้าน ให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา คือ การรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง การดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

  “ยอมรับว่าในประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2563 ของธปท.ยังต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย แต่ทั้งนี้มีโอกาสที่เงินเฟ้อทั่วไปจะเข้ากรอบเป้าหมายได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านน้ำมัน และอาหารสด”นายเมธี กล่าว

  นายเมธี ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ระบุถึงการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทนั้น เป็นเรื่องที่ธปท.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยืนยันว่า ในระยะต่อไปค่าเงินบาทเคลื่อนไหว 2 ทิศทางมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน

ครม.อนุมัติกรอบเงินเฟ้อปี 63 ที่ 1-3% ชี้ยังผันผวนตามพลังงาน-อาหารสด

      ครม.เห็นชอบ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปปี 63 ของคลังและธปท. ที่ 1-3% มองในระยะต่อไปยังผันผวนจากราคาอารหารสดและพลังงาน

       นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบกรอบ เป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2563 โดยกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

     ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง รายงานว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2563 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1.        หลักการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น โดยระบบเศรษฐกิจการเงินโลกและไทยในช่วงที่ผ่านมาเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุส่งผลให้พลวัตเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มต่ำลงจากในอดีต อีกทั้งโครงสร้างตะกร้าเงินเฟ้อไทยที่มีสัดส่วนของอาหารและพลังงานสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากราคาอาหารสดในประเทศและราคาพลังงานโลกที่มีแนวโน้มลดลง

      นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น ทำให้ปัจจัยภายนอกประเทศต่าง ๆ เช่น สงครามทางการค้า ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้นในระยะต่อไป

    สำหรับ ​​การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นจะเอื้อให้ กนง. สามารถพิจารณานโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางเป็นเป้าหมายหลัก ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

     “ในการตัดสินนโยบายการเงินแต่ละครั้ง กนง. จะพิจารณาความสำคัญของเป้าหมายด้านต่าง ๆ อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของการดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละทางเลือก (policy trade-off) ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินต่าง ๆ ที่มีอยู่ในลักษณะผสมผสาน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”นางนฤมล กล่าว

  1.       เป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2563รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. จึงมีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2563 โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมกับพลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป และเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย

       นอกจากนี้ การเปลี่ยนรูปแบบเป้าหมายเป็นช่วงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับสามารถดูแลเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายระยะปานกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับประสิทธิผลการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องใช้เวลาในการส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริง

  1.       การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน กระทรวงการคลัง และ ธปท. จะจัดให้หารือร่วมกันเป็นประจำและเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้ง 2 หน่วยงานจะเห็นสมควรเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ให้กับกระทรวงการคลังรับทราบด้วย
  2.       การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปจะผันผวนจากความไม่แน่นอนของราคาพลังงานและอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศโดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกา และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อชี้แจงในรายละเอียดต่อไป
  3.        การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!