หมวดหมู่: ศิลปวัฒนธรรม

11294 เยาวราช


นักวิจัยชี้เยาวราชเสี่ยง! สูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ด้าน สกสว. หนุนใช้งานวิจัยอนุรักษ์ก่อนเกิดวิกฤต

          สกสว.หนุนทีมวิจัย ม.ศิลปากร เดินหน้าใช้กระบวนการวิจัยงานศิลปะพลิกโฉมเมืองกรุง หลังประสบความสำเร็จจากการออกแบบประติมากรรมฝาท่อระบายน้ำริมคลองโอ่งอ่าง พร้อมเดินหน้าพัฒนาทุนทางศิลปวัฒนธรรมย่านเยาวราชโดยใช้งานวิจัยอย่างสร้างสรรค์และเหมาะสมกับชุมชน

          สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำทีมนักวิจัยและสื่อมวชนลงพื้นที่บริเวณริมคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพมหานคร ชมงานศิลปะบนฝาท่อระบายน้ำ 5 จุด ในโครงการวิจัย “การออกแบบประติมากรรมบนพื้นที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน” ซึ่งล่าสุดทาง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร เริ่มนำไปใช้ปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่าง 

          รศ.ดร.ณัฐมา พงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บอกว่า สกสว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้งานวิจัยพัฒนาสังคม โดยฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ สกสว. ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยโครงการ “การออกแบบประติมากรรมบนพื้นที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน” แก่ รศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมา วิถีชีวิต และการค้าของชุมชน รวมถึงลักษณะทางศิลปกรรมของสถานที่สำคัญในอดีตและโบราณสถานที่ยังหลงเหลืออยู่ในย่านชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง เพื่อค้นหาแนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยใช้งานศิลปะเป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราว

          ทางด้าน รศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ทำงานวิจัยทำให้พบข้อมูลว่า ปัจจุบันสภาพความเป็นเมืองเริ่มส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบริเวณเกาะรัตนโกรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะย่านเยาวราช พบว่านอกจากจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเที่ยวจำนวนมากแล้ว จากการสำรวจยังพบว่าเริ่มมีผู้ค้าชาวจีนในย่านเยาวราชมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งการเข้ามานั้น เริ่มส่งผลกับวิถีชีวิตและวัฒธรรมของคนพื้นถิ่น ทำให้ย่านเยาวราชเสี่ยงที่จะสูญเสียอัตลักษณ์วัฒนธรรม จากนั้นจึงริเริ่มงานวิจัยโดยพิจารณาสภาพแวดล้อม และเริ่มลงพื้นที่สำรวจโดยจุดแรกคือทางเดินริมคลองโอ่งอ่าง ศึกษาถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ทำให้เห็นว่าในแต่ละช่วงทางเดินริมคลองสามารถติดตั้งงานศิลปะได้หลากหลายลักษณะ จึงเสนอแนวทางการออกแบบงานศิลปะประเภทต่างๆ ทั้งงานประติมากรรมและงานออกแบบศิลปะ 3 มิติ โดยเสนอให้ใช้รูปแบบงานศิลปะหลากหลายร่วมกัน เพื่อช่วยให้ทางเดินนี้มีองค์ประกอบทางศิลปะที่เป็นเอกภาพและเกิดทัศนียภาพที่งดงาม และเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดทางเดินริมน้ำสายวัฒนธรรม จึงแบ่งรูปแบบการออกแบบงานศิลปะออกเป็น 6 รูปแบบ ประกอบด้วย ประติมากรรมลอยตัว ประติมากรรมนูนต่ำ ม้านั่ง ฝาท่อระบายน้ำและสาธารณูปโภค ศิลปะกราฟฟิตี้ และรั้วกันทางเดินริมน้ำ ส่วนฝาท่อนั้นได้ออกแบบไว้ 5 แบบ คือลายสวัสดี ลายพาหุรัด ลายพระนคร ลายคลองโอ่งอ่าง ลายสัมพันธวงศ์ โดยที่มาของลวลายนั้นล้วนมาจากกระบวนการวิจัยที่ให้ชุมชนเข้ามาสะท้อนอัตลักษณ์ ดึงจุดเด่นของแต่ละชุมชนถ่ายทอดผ่านงานศิลปะ

          นอกจากนี้ทางหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (ABC) สกสว. ยังต่อยอดให้การสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “พัฒนาทุนทางศิลปวัฒนธรรมย่านเยาวราช” โดย รศ.ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า การพัฒนาย่านเยาวราชในอนาคตจำเป็นต้องศึกษาเพื่อวางแผนและปรับปรุงทิศทางให้เกิดความยั่งยืน โดยปัจจุบันชุมชนเก่าแก่ที่ยังเกาะตัวอยู่รวมกัน และคงความเป็นตัวตนของชุมชนจึงมีไม่มากนัก โดยชุมชนที่มีศักยภาพและความต้องการในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในระดับสูง ได้แก่ ชุมชนเจริญไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกระดาษไหว้เจ้า ชุมชนนานา แหล่งขายยาสมุนไพรจีนที่ปัจจุบันเป็นแหล่งรวมนักกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม และชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและถูกไล่รื้อถอน แต่รวมตัวกันเป็นชุมชนเข้มแข็งที่อนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ 

          จากการทบทวนเรื่องการพัฒนาพื้นที่เมืองโดยการปกป้องและพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม พบว่ามีความจำเป็นด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับการดำเนินการศึกษาในโครงการวิจัยนี้มีเครื่องมือวิจัย 3 ด้าน คือ 
          1. การจัดการแผนที่ทางวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือค้นหาต้นทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ตัวตนของย่านร่วมกับชุมชนเจ้าของพื้นที่และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา สร้างกลไกแนวปฏิบัติในการจัดการมรดกวัฒนธรรม 
          2. การสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรม ได้แก่ การสร้างกิจกรรม การทดลองและการสื่อสาร เป็นเวทีแห่งการพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้และระดมสมองทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศิลปะและวัฒนธรรมในชุมชน 
          3. การสร้างวิสาหกิจวัฒนธรรม ได้แก่ การริเริ่มงานและกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมในรูปแบบและความหมายใหม่ เพื่อสร้างผลผลิตหรือกิจกรรมสร้างสรรค์ในงานหรือกิจกรรมที่พัฒนาจากฐานทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชน

          ที่ผ่านมาคณะวิจัยได้จัดกิจกรรมวันไหว้พระจันทร์ของชุมชนเจริญไชย การเสวนา “ไหว้เจ้า ไหว้พระจันทร์ วิถีชุมชนจีนเจริญกรุงเยาวราช” นำชมซุ้มไหว้พระจันทร์ นิทรรศการผลงานวิจัยและสร้างสรรค์ ส่วนกิจกรรมที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน คือ การออกแบบศิลปะบนฝาท่อเพื่อเผยแพร่แผนที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน การออกแบบศิลปะสาธารณะ โดยประสานความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน อาทิ การประปานครหลวง เพื่อร่วมพัฒนาฝาท่อประปาในย่านเยาวราช ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นภาคีเดิมและยังให้การสนับสนุนในโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ย่านเยาวราชนี้ ซึ่งนักวิจัยจะหาแนวทางพัฒนาศิลปะสาธารณะกับสาธารณูปโภคประเภทอื่นๆ ต่อไป ส่วนประเด็นเรื่องการพัฒนาต่อยอดศิลปะบนฝาท่อขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเตรียมทำคิวอาร์โค้ด (QR Code) บนฝาท่อ เพื่อให้นักท่องเที่ยวทราบถึงที่มาของศิลปะบนฝาท่อแต่ละฝา โดยเบื้องต้นวางแผนไว้ว่า เมื่อแสกนคิวอาร์โค้ดก็จะมีข้อความภาษาไทย อังกฤษและจีน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้ทราบ

 


AO11294

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

ais 790x90GC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!