หมวดหมู่: เศรษฐกิจทั่วไป

Gเอกนต นตทณฑประภาศ


คนร. สั่ง THAI-ขสมก. -รฟท.เสนอแผนแก้ปัญหาหนี้ต่อก.คมนาคม พร้อมอนุมัติ SME Bank ออกแผนฟื้นฟู

     คนร.สั่ง THAI-ขสมก. -รฟท.เสนอรูปแบบธุรกิจแก้ไขปัญหาหนี้สินต่อกระทรวงคมนาคม  อนุมัติเอสเอ็มอีแบงก์ออกแผนฟื้นฟูหลังผลประกอบการดีขึ้น สั่งไอแบงก์เร่งหาพันธมิตรให้แล้วเสร็จภายในมีนาคมนี้  พร้อมตั้ง ‘รพี สุจริตกุล’ นั่งประธานอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีฯของรัฐวิสาหกิจ หวังเพิ่มประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส

 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. ได้เปิดเผยผลการประชุม คนร. ครั้งที่ 1/2561 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ได้สั่งการให้การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำเสนอรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ที่จะทำให้ ผลประกอบการไม่ขาดทุนและสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่งได้อย่างยั่งยืน โดยเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

 การแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้สั่งการให้การบินไทย เร่งนำระบบ Revenue Management System (RMS) และระบบ Network Management System (NMS) มาใช้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายฝ่ายช่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้และสร้างความสามารถในการแข่งขันของ โดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการด้วย นอกจากนี้ คนร. ยังได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับการบินไทย พิจารณารูปแบบในการธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และพิจารณาเส้นทางการบิน และแบบฝูงบินให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ 

 ขณะที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดซื้อรถโดยสาร NGV แล้ว 489 คัน และจัดทำ แผนขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาวแล้ว โดย คนร. ได้ขอให้ ขสมก. พิจารณากำหนดทิศทางการให้บริการของ ขสมก.  ที่ชัดเจนสอดคล้องกับแผนปฏิรูปเส้นทางที่กรมการขนส่งทางบกได้เริ่มดำเนินการแล้ว และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นด้วย เช่น รถไฟฟ้า รถไฟ และทางเรือ เป็นต้น และขอให้ ขสมก. พิจารณาเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับ จากระบบตรวจสอบและติดตามการเดินรถ (GPS) และ/หรือระบบขนส่งมวลชนอื่นเพื่อให้เป็นข้อมูลที่บุคคลทั่วไปสามารถใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อประโยชน์ในการรับบริการของประชาชนได้ (Open Data) นอกจากนี้  คนร. ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลผู้ประกอบการเดินรถเส้นทางใหม่  และกำหนดประเภทรถที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร

 ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามสัญญาการก่อสร้างทางคู่จำนวน 5 เส้นทางแล้ว  โดยคาดว่าจะก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จในปี 2563 และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถและซ่อมบำรุง (Operation & Maintenance)ในโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนการขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว คนร. ได้สั่งการให้ รฟท. พิจารณากำหนดทิศทางการดำเนินการ ให้สอดคล้องกับภารกิจขององค์กรและภารกิจของกรมการขนส่งทางราง รวมทั้งโครงสร้างของธุรกิจการขนส่งระบบรางในอนาคต นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน จัดทำฐานข้อมูลทรัพย์สิน และปรับปรุงระบบบัญชีและงบการเงินให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของ รฟท. ได้อย่างยั่งยืน 

 ฟากสถาบันการเงิน ได้ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Bank ) ออกจากแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร หรือ แผนฟื้นฟู เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับธนาคารได้บริหารจัดการระบบการทำงานที่ดี มีมาตรฐาน และช่วยแก้ไขปัญหาในอดีต รวมถึงสร้างความยั่งยืนในการประกอบกิจการด้วย ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัด กำกับติดตามการดำเนินงานของธนาคารต่อไป 

  ขณะที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ล่าสุดธนาคารได้แยกหนี้ดีและหนี้เสีย และสามารถดำเนินการโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPF ในส่วนที่ไม่ใช่มุสลิมไปยังบริษัท บริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ ไอแอมแล้ว ด้านการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถปรับโครงสร้างทางการเงิน หรือ การเพิ่มทุนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ขณะเดียวกัน คนร.ยังได้กำหนดกรอบเป้าหมายการดำเนินงานของธนาคาร โดยให้มีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิในปี 2561 และให้หาพันธมิตรให้ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ 

  ด้านการแก้ไขปัญหาของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT โดยได้จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรระยะ 10 ปีแล้ว ซึ่ง คนร. ได้สั่งการให้ ทั้งสองบริษัท สร้างความชัดเจนในการนำดิจิทัลมาใช้เพื่อกำหนดทิศทางการให้บริการ รวมทั้งพิจารณาภารกิจการให้บริการโทรคมนาคมของทีโอที และ กสท บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำกับให้ทั้งสองบริษัทดำเนินการถ่ายโอนทรัพย์สินที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบกิจการไปยังบริษัท NBN และบริษัท NGDC ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดภายในเดือนมีนาคม 2561 

  นายเอกนิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม คนร. ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ ซึ่งองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการจะมีผู้แทนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) โดยมีนายรพี สุจริตกุล กรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นประธานอนุกรรมการ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการดังกล่าวจะมีหน้าที่ในการวิเคราะห์ระบบการกำกับดูแลและระบบธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสภาพปัญหาและอุปสรรคการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการกำกับดูแลและธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสม เพื่อให้การบริหารงานของรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาลที่ดี และมีประสิทธิผลสูงสุด

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

รฟท.ทำแผนฟื้นฟูระยะ 10 ปี ตั้งเป้าปี 70 มีกำไร 2 หมื่นลบ.หวังขาดทุนสะสมเหลือ 8 พันลบ.

    การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมเสนอแผนฟื้นฟูกิจการระยะ 10 ปี เข้า คนร.พิจารณาในวันที่ 19 ม.ค.นี้ ตั้งเป้า มีกำไรมากกว่า 20,000 ล้านบาท ช่วยลดขาดทุนสะสม จาก 17,000 ล้านบาท เหลือ 8,000 ล้านบาทในปี 2570 พร้อมทุ่มลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท จัดซื้อหัวรถจักร-ขบวนรถ รองรับการก่อสร้างรถไฟทางคู่หลายเส้นทาง รายได้ขนส่งสินค้าเติบโต 300% เตรียมเปิดรับพนักงานคนอีก 6,000 คน รองรับเส้นทางรถไฟใหม่

    รายงานข่าวการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. เตรียมเสนอแผนฟื้นฟูระยะ 10 ปี (61-70) ให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาในวันที่ 19 ม.ค. นี้โดยตั้งเป้าหมายในปี 2570 จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม เป็นบวกมากกว่า 20,000 ล้านบาท ส่งผลให้ รฟท. มีผลขาดทุนสุทธิลดลงเหลือ 8,800 ล้านบาท ฟื้นตัวจากปี 2560 ที่ขาดทุนสุทธิ 17,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดาการณ์ว่ารายได้จากการบริหารทรัพย์สินจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น

      ขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างจัดตั้งบริษัทลูกด้านบริหารทรัพย์สินเข้ามาบริหารจัดการให้มีความคล่องตัวเหมือนเอกชน และว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล คาดว่าจะทำให้ รฟท.มีรายได้เชิงพาณิชย์ เพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วจาก 2,500 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 14,000-15,000 ล้านบาทในปี 2570 โดย รฟท.เตรียมที่จะนำที่ดินแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพออกมาเปิดประมูลต่อยอดเชิงพาณิชย์ เช่น บางซื่อ, กิโลเมตร11, สถานีแม่น้ำ และมักกะสัน รวมทั้งเร่งปรับปรุงอัตราค่าเช่าที่ดินในสัญญาเช่าที่ดินรถไฟกว่า 6,000 สัญญาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ

     “ปี 2560 อีบิทด้าติดลบ 5,700 ล้านบาท คาดว่าอีบิทด้าจะเป็นบวกในปี 2563 จากนั้นเป็นบวกขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะหลังจากจัดตั้งบริษัทลูกบริหารทรัพย์สิน นำที่ดินแปลงทองต่างๆ ออกประมูล รายได้เราจะเพิ่มแบบก้าวกระโดดจากปัจจุบันอยู่ที่ปีละ 2,500 ล้านบาท คาดว่าปี 63 จะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านบาท, ปี 64 เป็น 15,000 ล้านบาท, ปี 65 เป็น 13,000 ล้านบาท และปี70จะแตะที่15000ล้านบาท”

     นอกจากนี้ รฟท. ได้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มรายได้ธุรกิจขนส่งจาก 5,800 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 24,000 ล้านบาทในปี 2570 หรือเติบโต 300% โดยสัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนแปลง จากเดิมในปี 2560 มีสัดส่วนรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร 3,700 ล้านบาท คิดเป็น 64% และรายได้จากการขนส่งสินค้าอยู่ที่ 2,100 ล้านบาท คิดเป็น 36% แต่ในปี 2570 สัดส่วนรายได้ทั้ง 2 ประเภทจะเริ่มใกล้เคียงกันมากขึ้น คือ รายได้จากผู้โดยสารจะอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท คิดเป็น 58% และรายได้จากการขนส่งสินค้าอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท คิดเป็น 41%

     “รายได้จากการขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากเราลงทุนรถไฟทางคู่ไปหลายโครงการมาก เฟสที่ 1 จำนวน 7 โครงการ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง, รถไฟทางคู่เฟสที่ 2 จำนวน 7 เส้นทางและรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนขออนุมัติโครงการโดยหากทุกโครงการเปิดให้บริการได้รายรับจะเข้ามามหาศาล”

 และผลจากการก่อสร้างทางคู่หลายเส้นทาง ทำให้ รฟท.ต้องเร่งรัดจัดหา ล้อเลื่อน หัวรถจักร ขบวนรถโดยสาร รถดีเซลรางจำนวนมาก เพื่อนำมาให้บริการให้สอดคล้องกับการเปิดเส้นทาง โดยมีแผนที่จะใช้เงินลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท มาใช้ในการจัดซื้อรถจักร 78 คันและเช่ารถจักร 50 คัน, การจัดหารถดีเซลราง 900 คัน และการจัดหารถโดยสาร 500 คัน โดยอาจจะต้องจัดหาแหล่งเงินทุน โดยใช้วิธีกู้ยืมบางส่วน

 ทั้งนี้ ตั้งเป้าที่จะทอยอยรับมอบ ล้อเลื่อนใหม่ภายใน 2-3 ปี ส่วนหัวมอบรถจักรตั้งเป้ารับมอบให้ครบทั้งหมดในปี 2564 ส่วนรถดีเซลรางและรถโดยสารใหม่จะเริ่มทยอยรับมอบในปี 2565-2567

 ส่วนแผนรายจ่ายตามแผนฟื้นฟูนั้นคาดว่า ในปี 2570 รฟท.จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ในอัตราที่น้อยกว่ารายได้ โดย ค่าใช้จ่ายในการบำรุงทางและระบบอาณัติสัญญาณ จะเพิ่มจากปี2560 อยู่ที่ 2,300 บาท เป็น 3,900 ล้านบาทในปี 2560 และเติบโต 70% ,ค่าซ่อมบำรุงรกจักรรถพ่วง ซึ่งอยู่ที่ 3,800 ล้านบาท ในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4,400 ล้านบาทในปี 2570,ค่าใช้จ่ายด้านปฏิบัติการเดินรถ ซึ่งรวมการจ้างเหมาต่าง ๆ , ค่าน้ำมัน , ค่าจ้างพนักงาน โดยในปี 2560 อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านบาท ในปี 2570 เนื่องจากการรถไฟฯ จะมีค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนและค่าล่วงเวลาพนักงานลดลง รวมถึงล้อเลื่อนใหม่จะมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงลดลงไม่ต่ำกว่า 10%

 ตามแผนฟื้นฟูยังคาดการณ์ต้นทุนที่ไม่รวมอยู่ในอีบิทด้า โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเพิ่มจาก 3,000 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 15,000 ล้านบาทในปี 2570 เป็นการเพิ่มตามหนี้สินสะสม จากยปัจจุบัน รฟท.มีหนี้สะสมอยู่ที่ 120,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากการลงทุน, ค่าเสื่อมราคาจะเพิ่มขึ้นจาก 5,500 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาท และค่าจ่ายบำนาญจะเพิ่มขึ้นจาก 3,600-3,700 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท เพราะพนักงานที่เกษียณอายุ มีอายุยืนยาวขึ้นจาก 75 ปี เป็น 85 ปี

 นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังอยู่ระหว่างแก้ไขกฎระเบียบและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอเพิ่มจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับประมาณงานที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน รฟท.มีพนักงานทั้งหมด 10,000 คน แต่ต้องการเพิ่มเป็น 16,000 คน โดยจะต้องรับคนเพิ่มอีก 6,000 คน ทยอยรับเพิ่มตั้งแต่ปี 2563-2564 โดยเฉพาะฝ่ายช่างและวิศวกร เข้าฝึกอบรมการเพื่อให้บริการรถไฟทางคู่ต่อไป

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ซูเปอร์บอร์ด'จี้รฟท.พัฒนาที่ล้างขาดทุน

      แนวหน้า : คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด นัดประชุม ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

     นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ในการรประชุมครั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้รายงานที่ประชุมเกี่ยวกับการลงนามสัญญาการก่อสร้างทางคู่ 5 เส้นทาง คาดว่า จะก่อสร้างเสร็จปี 2563 นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่าง ดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถ และซ่อมบำรุง (Operation & Maintenance)ในโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ของ ร.ฟ.ท.

     ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนการขับเคลื่อนองค์กรระยะยาว คนร.ได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท. กำหนดทิศทางการดำเนินการให้สอดคล้องกับภารกิจขององค์กรและภารกิจของกรมการขนส่งทางราง และนำที่ดินจำนวนมากกำหนดแผนบริหารจัดการเพื่อสร้าง รายได้นำมาชดเชยภาระขาดทุนของ ร.ฟ.ท. รวมทั้ง โครงสร้างของธุรกิจการขนส่งระบบรางในอนาคต นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน จัดทำฐานข้อมูลทรัพย์สิน และปรับปรุงระบบบัญชีและงบการเงินให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของ ร.ฟ.ท.ได้อย่างยั่งยืน

     นายเอกนิติ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบ ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) ออกจากแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร หรือแผนฟื้นฟู เนื่องจากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แก้ปัญหาองค์กรดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้น จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 16.8 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ถึง 98,000 ล้านบาท

      ส่วนแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง ที่เหลือ นับว่าผลประเมินอยู่ในระดับพอใจ แต่ต้องติดตามเพิ่ม คนร.จึงสั่งการให้กระทรวงการคลังเสนอแก้ไขกฎหมาย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) ต่อสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพียงวาระเดียวในเดือน กุมภาพันธ์นี้ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดการถือหุ้นของกระทรวงการคลังไม่เกินร้อยละ 49 จากนั้นกระทรวงการคลังจะเพิ่มทุนใช้เงินไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านบาท เพื่อให้ลดความเสี่ยงจากขาดทุนสะสม 18,000 ล้านบาท หวังสร้างความเชื่อมั่นให้พันธมิตรใหม่ ซึ่งต้องเจรจาหาข้อสรุปให้ได้เร็วๆ นี้

คนร. สั่ง THAI-ขสมก.-รฟท.เสนอรูปแบบธุรกิจต่อคมนาคมเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน/ให้ SME Bank พ้นจากแผนฟื้นฟู

      นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยผลการประชุม คนร. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุม คนร.ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ประจำปี 2560 รวมทั้งรับทราบแผนขับเคลื่อนองค์กรระยะยาวและแผนปฏิบัติการปี 2561 ตามที่รัฐวิสาหกิจเสนอ ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจแล้ว

       โดย คนร.ได้สั่งการให้ บมจ.การบินไทย (THAI), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) นำเสนอรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ที่จะทำให้ผลประกอบการไม่ขาดทุน และสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่งได้อย่างยั่งยืน โดยเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

       ทั้งนี้ บมจ.การบินไทย (บกท.) หรือ THAI มีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) และการใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน (Aircraft Utilization) ดีกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่ง แต่เนื่องจากธุรกิจด้านการบินมีสภาพการแข่งขันที่รุนแรงยังอาจส่งผลกระทบกับ บกท. ดังนั้น คนร. จึงได้สั่งการให้ บกท.เร่งนำระบบ Revenue Management System (RMS) และระบบ Network Management System (NMS) มาใช้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายฝ่ายช่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้และสร้างความสามารถในการแข่งขันของ บกท. โดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการด้วย นอกจากนี้ คนร.ยังได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับ บกท. พิจารณารูปแบบในการธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และพิจารณาเส้นทางการบินและแบบฝูงบินให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งพิจารณาแผนการนำสายการบินไทยสมายล์เพื่อมาสนับสนุนการดำเนินการของ บกท.ด้วย

      ด้านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดซื้อรถโดยสาร NGV จำนวน 489 คัน และจัดทำแผนขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาวแล้ว โดย คนร. ได้ขอให้ ขสมก. พิจารณากำหนดทิศทางการให้บริการของ ขสมก. ที่ชัดเจนสอดคล้องกับแผนปฏิรูปเส้นทางที่กรมการขนส่งทางบกได้เริ่มดำเนินการแล้ว และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นด้วย เช่น รถไฟฟ้า รถไฟ และทางเรือ เป็นต้น และขอให้ ขสมก. พิจารณาเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากระบบตรวจสอบและติดตามการเดินรถ (GPS) และ/หรือระบบขนส่งมวลชนอื่นเพื่อให้เป็นข้อมูลที่บุคคลทั่วไปสามารถใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อประโยชน์ในการรับบริการของประชาชนได้ (Open Data) นอกจากนี้ คนร. ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลผู้ประกอบการเดินรถเส้นทางใหม่ และกำหนดประเภทรถที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการต่อรถในประเทศให้มีส่วนร่วมด้วย

       "ส่วนแผนปรับฐานค่ารถ ขสมก. และบริษัท การบินไทย มีการปรับแผนธุรกิจให้ใกล้เคียงกับสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ โลว์คอสต์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น ที่ประชุม คนร.มอบให้กระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลไปพิจารณา เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไร ให้มารายงาน คนร. ต่อไป" นายเอกนิติกล่าว

       การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามสัญญาการก่อสร้างทางคู่จำนวน 5 เส้นทางแล้ว โดยคาดว่าจะก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จในปี 2563 และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถและซ่อมบำรุง (Operation & Maintenance) ในโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนการขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว คนร.ได้สั่งการให้ รฟท.พิจารณากำหนดทิศทางการดำเนินการให้สอดคล้องกับภารกิจขององค์กรและภารกิจของกรมการขนส่งทางราง รวมทั้งโครงสร้างของธุรกิจการขนส่งระบบรางในอนาคต นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน จัดทำฐานข้อมูลทรัพย์สิน และปรับปรุงระบบบัญชีและงบการเงินให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของ รฟท. ได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. เร่งศึกษาต้นทุนมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพเพื่อประกอบการพิจารณาราคาค่าโดยสารยุติธรรม โดยให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการด้วย

      นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม คนร.ได้มีมติให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank ออกจากแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดกำกับติดตามการดำเนินงานของ ธพว.ต่อไป หลังจากมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับ ธพว.มีการจัดทำระบบการทำงานและการกำกับดูแลที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในอดีตและสร้างความยั่งยืนในการประกอบกิจการในอนาคต รวมทั้งได้สั่งการให้ ธพว.ให้ความสำคัญกับการยกระดับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สามารถดำเนินการตามภารกิจของ ธพว.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แข็งแกร่ง และยั่งยืน

      ซึ่งการที่ คนร.ให้ ธพว.ออกจากแผนฟื้นฟู เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนเข้าแผนฟื้นฟูมี NPL อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันลดเหลือ 1.6 หมื่นล้านบาท และสามารถดำเนินการพันธกิจของ ธพว. สนับสนุนนโยบายของรัฐ สามารถปล่อยสินเชื่อตามแนวทางประชารัฐได้ 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าทำได้ดีมาก ประกอบกับธนาคารได้บริหารจัดการระบบการทำงานที่ดี มีมาตรฐาน และช่วยแก้ไขปัญหาในอดีต รวมถึงสร้างความยั่งยืนในการประกอบกิจการด้วย

      สำหรับ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) มีความคืบหน้าจากการที่สามารถแยกหนี้ดีหนี้เสีย และดำเนินการโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ในส่วนของลูกค้าที่ไม่ใช่มุสลิมไปยังบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด แล้ว สำหรับความคืบหน้าในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถปรับโครงสร้างทางการเงินให้ ธอท. และรองรับการสรรหาพันธมิตร อยู่ระหว่างเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา นอกจากนี้ คนร. ยังได้กำหนดกรอบเป้าหมายการดำเนินงานให้ ธอท. มีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิในปี 2561 และสามารถหาพันธมิตรให้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2561 และขอให้สร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาองค์กรให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และตั้งใจจะให้ ธอท.ออกจากแผนฟื้นฟูให้ได้ภายในปีนี้

      โดยล่าสุด ธอท.ได้แยกหนี้ดีและหนี้เสีย และสามารถดำเนินการโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPF ในส่วนที่ไม่ใช่มุสลิมไปยังบริษัท บริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัดแล้ว ด้านการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถปรับโครงสร้างทางการเงิน หรือการเพิ่มทุนเพื่อแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยจะมีการเสนอแก้ไขกฏหมาย 1 มาตราให้แล้วเสร็จก่อนเดือนมี.ค.

       ด้าน บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรระยะ 10 ปีแล้ว ซึ่ง คนร. ได้สั่งการให้ บมจ. ทีโอที บมจ. กสท สร้างความชัดเจนในการนำดิจิทัลมาใช้เพื่อกำหนดทิศทางการให้บริการ รวมทั้งพิจารณาภารกิจการให้บริการโทรคมนาคมของ บมจ. ทีโอที บมจ. กสท บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และมีรายละเอียดของแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้เทียบเท่าเอกชนด้วย

       นอกจากนี้ คนร. ได้สั่งการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำกับให้ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ดำเนินการถ่ายโอนทรัพย์สินที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบกิจการไปยังบริษัท NBN และบริษัท NGDC ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดภายในเดือนมีนาคม 2561 และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพิจารณาการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วทั้งของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำซ้อนในการลงทุน

      นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า คนร. มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ เพื่อยกระดับให้การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีระบบธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการจะมีผู้แทนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) ได้แก่ 1) นายรพี สุจริตกุล กรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นประธานอนุกรรมการ 2) ผู้อำนวยการ สคร. 3) นายประสัณห์ เชื้อพานิช ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย 4) นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 5) นายยุทธ วรฉัตรธาร กรรมการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ 6) นางสาวรัชฎา อนันตวราศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ภาคสถาบันการเงิน ธนาคารโลก 7) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 8) ผู้แทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นอนุกรรมการ และ 9) ที่ปรึกษาหรือรองผู้อำนวยการ สคร. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

       โดยมีอำนาจหน้าที่ในการวิเคราะห์ระบบการกำกับดูแลและระบบธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสภาพปัญหาและอุปสรรคการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการกำกับดูแลและธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสม เพื่อให้การบริหารงานของรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาลที่ดี และมีประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับระบบการกำกับดูแลและระบบธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสม

      "การประชุม คนร.ในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาว ให้รัฐวิสาหกิจด้วยระบบธรรมาภิบาลและความโปร่งใส การแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบในเชิงโครงสร้าง การกำหนดสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนในกิจการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยภาครัฐยังคงลงทุนหรืออุดหนุนในส่วนที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดผ่านบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง" นายเอกนิติระบุ

                อินโฟเควสท์

รมว.คมนาคม แนะ THAI ทบทวนแผนฟื้นฟูใหม่-ลดภาระต้นทุนเช่าเครื่องบินใช้ดีกว่าซื้อ-การตั้งด้อยค่า

     นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย ให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ว่า การบินไทยสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้เป็นไปตามเป้าหมายแต่อาจจะต้องมีการปรับปรุงเรื่องการดำรงสินทรัพย์โดยเสนอให้ปรับลดจำนวนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลง เนื่องจากเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

     รวมทั้ง เสนอให้มีความเข้มงวดในการทำบัญชีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องบินที่รอการขายนั้นเสนอให้การบินไทยทำการด้อยค่าบัญชีเครื่องบินทั้งหมดไปก่อนเพื่อไม่ให้เป็นภาระในงบดุลบัญชี ซึ่งการบินไทยจะต้องมีการหารือและตกลงกับผู้สอบบัญชีต่อไป โดยหากมีลงบัญชีด้อยค่าบัญชีไปแล้วจะทำให้ผู้ถือหุ้นได้เห็นทิศทางแนวโน้มอนาคตของบริษัทชัดเจนขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือด้านการลงทุนให้กับนักลงทุนได้

      การบินไทยจะต้องปรับการบริหารต้นทุนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยให้ศึกษาโมเดลของธุรกิจจากสายการบินต้นทุนต่ำรวมทั้งจัดทำมาตรฐานการแข่งขันโดยเปรียบเทียบกับสายการบินคู่แข่งที่มีความแข็งแกร่งที่สุดในตลาดเพื่อให้รับรู้ถึงสถานะการแข่งขันของบริษัทการบินไทย ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัจจุบันการบินไทยยังมีปัญหาเรื่องการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นปัญหาที่ควบคุมไม่ได้เนื่องจากปัญหาค่าเงินบาทแข็งและผันผวน

      ประเด็นในเรื่องของการเพิ่มรายได้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ที่การบินไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหาคือการปรับลดค่าใช้จ่ายโดยในส่วนของทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จะต้องส่วนทรัพย์สินที่สามารถใช้ประโยชน์ต่อ เช่น เครื่องบินที่อยู่ในแผนการจัดซื้อใหม่นั้นต้องทบทวน แบบและชนิดเครื่องบินที่จะต้องมีการจัดซื้อในอนาคตมีเหมาะสมกับสถานการณ์รวมไปถึงรูปแบบของการจัดหาว่าจะพิจารณาเป็นในรูปแบบเช่าหรือซื้อดี ซึ่งได้มอบให้ฝ่ายจัดการไปดูเรื่องนี้แล้ว รวมทั้งให้ห้พิจารณาเปรียบเทียบจากคู่แข่งว่ามีการจัดซื้อหลายรูปแบบหรือเพียงไม่กี่รูปแบบเท่านั้น

    “หลังจากนี้ การบินไทยจะต้องกลับไปจัดทำแผนฟื้นฟูมาใหม่ทั้งหมดตามข้อเสนอแนะ และนำมาเสนอผมด้วย เพราะแผนปัจจุบันที่ทำอยู่รายละเอียดเพียงการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายเท่านั้น ซึ่งเราก็จะปรับปรุงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ เชื่อว่าหากการบินไทยมีการปรับปรุงแฟนฟื้นฟูตามข้อเสนอแนะเชื่อว่าบริษัทจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ในระยะเวลาไม่นานนี้”นายไพรินทร์กล่าว

      นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทการบินไทยได้รับผลกระทบจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 1,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้ต่อปีที่สูงถึงกว่า 200,000 ล้านบาท ถือเป็นผลกระทบเพียงเล็กน้อยคิดเป็น 0.5% เท่านั้น นอกจากนี้ ผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวยังเกิดจาก การตีมูลค่าหนี้ที่มีอยู่ เงินจริงไม่ได้หายไปไหน รวมทั้ง ปัจจุบันบริษัทการบินไทยมีรายรับเป็นยูโรประมาณ 20,000 ล้าน และกู้เงินเป็นเงินยูโรอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาความเสี่ยงและความเสียหายจากการจ่ายเงินกู้

       ส่วนกรณีที่นายไพรินทร์เสนอแนะให้มีการลงบัญชีด้อยค่านั้น ปัจจุบันการบินไทยก็ดำเนินการลงบัญชีด้อยค่าเครื่องบินที่รอการขายอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวน 23 ลำ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,800-2,000 ล้านบาท ซึ่งตนจะต้องหารือรายละเอียดกับนายไพรินทร์อีกครั้งว่าจะให้พิจารณาในส่วนใดเพิ่มเติม

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!