หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

1aaaaCKP16


CKP เขื่อนไซยะบุรี คืบหน้า 89% เดินหน้าเจรจาเขื่อนโปรเจคใหม่

     CKP เผยโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี คืบหน้า 89% คาดรายได้-กำไรปี 2563 โตก้าวกระโดด เหตุรับรู้โรงไฟฟ้าไซยะบุรี 1,285 MW เต็มปี โฟกัสพลังงานน้ำที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง แย้มเจรจาลงทุนเพิ่มกว่า 1,000 MW สรุปกลางปีนี้ มั่นใจแหล่งเงินทุน-กระแสเงินสดในมือ D/E 0.7 ขยายการลงทุนได้เต็มพอร์ต

     นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP)เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการพลังน้ำไซยะบุรี (XPCL)ประเทศลาว สัญญาขายไฟฟ้า 31 ปี ซึ่งปัจจุบัน CKP ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 30% งานก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว 89% โดยในเดือนมี.ค.2561 กำหนดวันเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้า ซึ่งบริษัทจะก่อสร้างเสาไฟฟ้าขนาด 500 KV และเชื่อมโยงกับเสาไฟฟ้าของกฟผ.ฝั่งไทยที่อ.ท่าลี่ จ.เลย ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ และเดือน พ.ค.2561 กำหนดวันรับไฟฟ้าจาก กฟผ.

     

     ทั้งนี้ วันที่ 3 ต.ค.2561 ปล่อยน้ำเข้า และกังหันชุดแรกหมุน โดย วันที่ 24 พ.ย.2561ทดสอบเดินเครื่องชุด 1 (Commissioning unit 1) แล้วเสร็จ พร้อมจ่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.รับซื้อตามสัญญา และเดือน พ.ย.2561-ก.ย.2562 ทดสอบเดินเครื่องชุด 1-8 โดยรายได้จาก กฟผ.ช่วงทดสอบจะได้ 75% ของรายได้โดยเครื่องชุด 1-7 มีกำลังการผลิตชุดละ 175 เมกะวัตต์  ส่วนชุดที่ 8 มีกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ และ บริษัทได้กำหนดวันที่ 29 ต.ค.2562 จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)

      สำหรับ โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี มีทุนจดทะเบียน 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย CKP ถือหุ้นอยู่ 30%, บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (NSC) ถือหุ้นอยู่ 25%, รัฐวิสาหกิจลาว ถือหุ้นอยู่ 20%, บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ถือหุ้นอยู่ 12.50%, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)ถือหุ้นอยู่ 7.5% และบริษัท พีที จำกัด (ผู้เดียว) ถือหุ้นอยู่ 5%

      นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาการลงทุนโครงการพลังงานน้ำบริเวณลุ่มน้ำโขงในเขต สปป.ลาว ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตและเงินลงทุนใกล้เคียงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีที่มีขนาดกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ (MW)และมูลค่าลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยการเจรจาการลงทุนกับรัฐบาล สปป.ลาว คาดว่า จะมีความชัดเจนในกลางปี 2561 หากการเจรจาเสร็จสิ้นจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ใช้เวลาประมาณ 1-1 ปีครึ่ง ใช้เงินประมาณ 100-200 ล้านบาท และคาดว่า จะใช้เวลาก่อสร้าง 7-8 ปี ส่วนอายุสัมปทานต้องขึ้นอยู่กับการเจรจา

      อย่างไรก็ตาม โครงการพลังงานน้ำที่เจรจาอยู่นี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ จนกว่ารัฐบาล สปป.ลาว จะให้ MOU ตอนนี้ต้องเก็บข้อมูล ซึ่งจะอยู่บนลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีลักษณะเดียวกับโครงการพลังงานน้ำไซยะบุรี บริษัทจึงมองว่า การลงทุนโครงการใหม่นี้จะดำเนินโครงการได้ดีกว่าโครงการพลังงานน้ำไซยะบุรี

     "เราเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาวในโครงการพลังน้ำ คาดได้ความแน่ชัดภายในกลางปี 2561 ขนาดกำลังการผลิตใกล้เคียงโครงการไซยะบุรี มูลค่าลงทุนใกล้เคียงกันไม่น้อยกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่ง CKP ยังคงโฟกัสธุรกิจพลังงานน้ำที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง"

     สำหรับ การลงทุนบริษัทได้ตั้งงบปี 2561-62 ประมาณ 1,700-1,800 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนสำหรับโครงการไซยะบุรี ส่วนที่เหลือ 1,000 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 500 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในประเทศ ปี 2561 นี้ บริษัทจะลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (SOLAR) ขนาดกำลังการผลิต 10-20 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุนราว 400 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็น Solar Rooftop ที่จะซื้อขายไฟฟ้าเองในกลุ่ม บมจ.ช.การช่าง (CK)และขายให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี และจะรับรู้รายได้ในปี 2562 และตั้งงบลงทุนศึกษาโครงการพลังน้ำใหม่ลุ่มแม่น้ำโขง ไว้อีก 200 ล้านบาท

      สำหรับ ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของบริษัท ปี 2560  มีรายได้  5,056.23 ล้านบาท กำไร 131.87 ล้านบาท ซึ่งในช่วงไตรมาส 4/2560 จะมีรายได้ดีกว่าครึ่งแรก เพราะโครงการไฟฟ้าระบบความร้อนร่วม (Cogeneration) แห่งที่ 2 (BIC2) ที่มีกำลังผลิต 120 เมกะวัตต์ เริ่ม COD ในเดือน มิ.ย. 2560 คาดจะรับรู้รายได้ใกล้เคียงกับ BIC1 ที่รับรู้รายได้ราว 2 พันล้านบาท

      ส่วนรายได้ในปี 2561 คาดว่า จะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นอีกราว 1 พันล้านบาทจากปีก่อน เนื่องจากในปี 2560 บริษัทรับรู้รายได้โครงการไฟฟ้าระบบความร้อนร่วมบางปะอิน (Congeneration) แห่งที่ 2 (BIC2)ที่มีกำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ รับรู้รายได้ 2 พันล้านบาท/ปี ซึ่งเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD)เมื่อเดือน มิ.ย.2560 ส่วนในปี 2560 คาดรายได้เติบโต 10% จากปีก่อน ที่มีรายได้รวม 6.4 พันล้านบาท ปี 2561 คาดรายได้เติบโต 15%

     ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าอีก 5 ปี จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 5,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่บริษัทมีแผนผลิตไฟฟ้าในมืออยู่ที่ 2,160 เมกะวัตต์ ส่วนความคืบหน้าการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในต่างประเทศ บริษัทมีแผนจะขยายการลงทุน ตามแผนการเปิดให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในลาว โดยให้ความสนใจในหลายโครงการ ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการขนาดใหญ่ 2 โครงการ คาดจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 1,000 เมกะวัตต์

      ส่วนในประเทศเมียนมา อยู่ระหว่างการประกาศแผนพลังงาน บริษัทสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในหลายโครงการ เนื่องจากเห็นศักยภาพของพลังงานน้ำในเมียนมา มีศักยภาพสูงกว่าลาว แต่อาจจะต้องรอ 5-10 ปี เพื่อให้ได้ความชัดเจนนโยบายของรัฐบาลเมียนมา และกฎหมายการลงทุนในเมียนมา

      ทั้งนี้ ด้านแหล่งเงินทุนของบริษัทไม่มีปัญหา เนื่องจากปัจจุบันบริษัท และบริษัทย่อย มีหนี้สินต่อทุนรวมกันอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.7 เท่า จากการออกหุ้นกู้ และกระแสเงินสดในมือ ทำให้บริษัทมีศักยภาพในการกู้เงินกับสถาบันการเงินอีกจำนวนมาก

       นอกจากนี้ บริษัทได้ขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อออกหุ้นกู้ทั้งในรูปของเงินบาท และเงินตราต่างประเทศในวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ไม่มีเรตติ้ง ซึ่งเงินส่วนหนึ่ง จะนำไปชำระค่าหุ้นในการเข้าถือหุ้นในโครงการไซยะบุรี รวมถึงการขยายโครงการในอนาคต ซึ่งปี 2560 ได้ออกหุ้นกู้ไปแล้ว 4,000 ล้านบาท

     บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลัก คือ การเป็นโฮลดิ้ง คอมปานี (Holding Company)ลงทุนในบริษัท ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ 3 ประเภท ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเชียงรายรวมถึง และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมโคเจนเนอเรชั่น ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

     ปัจจุบัน CKP มีกำลังการผลิตไฟฟ้า จาก 6 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำงึม 2 615 เมกะวัตต์ 2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (BIC1)117.50 เมกะวัตต์ 3.โครงการ BIC2 120 เมกะวัตต์ 4.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบฟิล์มบางใน จ.นครราชสีมา จำนวน 8 เมกะวัตต์ 5.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Multi-Crystalline cells ใน จ.เชียงราย 8 เมกะวัตต์ และ 6.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบฟิล์มบางใน จ.นครราชสีมา 6 เมกะวัตต์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!